– ผู้เชี่ยวชาญชี้เหตุโศกนาฏกรรมอิแทวอนสามารถป้องกันได้ แต่ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดและจำกัดจำนวนคนในพื้นที่ที่จำกัด
– แรงบีบอัดจากฝูงชนจำนวนมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ง่าย เพราะแรงบีบอัดดังกล่าวมีพลังมหาศาลมากพอที่จะทำให้แท่งเหล็กหักหรืองอได้ด้วย
– ล่าสุดผบ.ตร.เกาหลีใต้ยอมรับ ตำรวจบกพร่องในการดูแลและป้องกันเหตุจนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมฮาโลวีนอิแทวอน พร้อมสั่งให้เร่งสืบสวนสาเหตุอย่างเร่งด่วน
เหตุโศกนาฏกรรมอิแทวอนในเกาหลีใต้ สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก จนทำให้หลายประเทศต่างเร่งถอดบทเรียน เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ในโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าเหตุการณ์ในลักษณะนี้สามารถป้องกันได้ แต่ต้องมีการดูแลฝูงชนอย่างใกล้ชิดและต้องจำกัดจำนวนคนในการเข้าไปร่วมงานในพื้นที่ที่จำกัด นอกจากนี้การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นด้วยเช่นกัน
ศาสตราจารย์ คีธ สติล แห่งมหาวิทยาลัยซัฟฟอร์กของประเทศอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยฝูงชน และเป็นนักวิเคราะห์ความเสี่ยงฝูงชนมานานกว่า 30 ปี ระบุว่าการเคลื่อนที่เพียงแค่เล็กน้อยของฝูงชนที่อัดกันแน่นไปตามตรอกแคบๆ เพียงแค่ 4 เมตร เป็นสาเหตุที่ทำให้ฝูงชนจำนวนมากล้มตามๆ กันเหมือนโดมิโนได้ โดยภายใต้สถานการณ์เช่นนั้นเมื่อมีคนล้มลง ผู้คนต่างก็พยายามที่จะลุกขึ้น ทำให้แขนขาพันกันไปมาและยิ่งเกิดความยากลำบากที่จะลุกขึ้นได้ และเมื่อผ่านไปราว 30 วินาที เลือดจะหยุดไหลไปเลี้ยงสมอง ทำให้หมดสติและตามมาด้วยอาการขาดออกซิเจนภายใน 4 ถึง 6 นาที ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ทำให้เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ในวันที่เกิดเหตุที่อิแทวอน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 156 ศพ มีฝูงชนจำนวนมากที่หลั่งไหลไปร่วมงานปาร์ตี้ฮาโลวีนในย่านดังกล่าว โดยบางรายงานระบุว่าน่าจะมีฝูงชนไปร่วมงานมากกว่า 100,000 คน ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยตรอกแคบๆ และทางลาดชัน แต่ตำรวจไม่ได้มีการดำเนินการจัดระเบียบใดๆ
ดร. มิลาด ฮากานี ศาสตราจารย์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า ผลจากการที่มีประชาชนนับแสนคนไปรวมตัวกันในพื้นที่จำกัด ทำให้ฝูงชนกลายสภาพเป็นเหมือนของเหลว ที่ไหลรวมกันไปมาได้ โดยเมื่อจำนวนของคนเพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับวิกฤติ จะไม่มีใครสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเองได้อีกต่อไป ไม่มีใครสามารถกำหนดหรือตัดสินใจได้ว่าจะไปในทิศทางใด หรือจะทำอะไรได้ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อฝูงชนไหลไปทางไหนก็จะไม่มีใครสามารถหยุดมันได้ โดยแรงบีบอัดจากฝูงชนจำนวนมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ง่าย เพราะแรงบีบอัดดังกล่าวมีพลังมหาศาลมากพอที่จะทำให้แท่งเหล็กหักหรืองอได้
ตามปกติแล้วในพื้นที่ 1 ตารางเมตร ควรมีคนอยู่ในนั้นราว 5-6 คน เพื่อให้ยังพอเหลือพื้นที่ว่าง แต่หากเพิ่มไปถึง 8-9 คนต่อตารางเมตรหรือมากกว่านั้นจะเริ่มอยู่ในภาวะอันตรายแล้ว และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิแทวอนก็ไม่ใช่การเหยียบกันตาย เพราะถ้ามีการเหยียบกันตายหมายถึงยังมีพื้นที่เหลือให้บางคนเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้อยู่ แต่เป็นการล้มต่อๆ กันเหมือนโดมิโนและเกิดความตื่นตระหนกตามมา
การป้องกันเหตุในลักษณะนี้
ดร.ฮากานีระบุว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในโลก โดยยกตัวอย่างเหตุโศกนาฏกรรม เลิฟ พาเหรด ในประเทศเยอรมนีเมื่อปี 2010 จากการเบียดกันของฝูงชนจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะแบบเดียวกันกับที่อิแทวอน โดยมีสาเหตุมาจากการไม่จำกัดจำนวนคนที่เข้าไปร่วมงาน และพื้นที่จัดงานที่ไม่มีทางออกหรือทางหลบหนีที่เพียงพอ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เยอรมนี มีผู้คนที่ถูกเบียดเสียดจนตาย 21 ศพ หลังจากเกิดความตื่นตระหนกภายในอุโมงค์ที่มีคนหนาแน่น ขณะที่เข้าไปชมเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งดร.ฮากานีเชื่อว่าเหตุการณ์ที่อิแทวอนจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน หากผู้ที่เกี่ยวข้องมีการเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ สติล ที่ระบุว่า การจัดงานในพื้นที่สาธารณะต่างๆ จำเป็นที่จะต้องจับตาจำนวนคนและมีกฎระเบียบบังคับที่เคร่งครัด เพราะหากมีจำนวนคนที่มากเกินไป ก็ต้องรีบปิดพื้นที่ห้ามเข้า แต่ก่อนที่จะทำเช่นนั้นได้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีความรู้ว่า เมื่อไหร่จึงจะนับว่ามีคนเกินจำนวน และเมื่อไหร่จะนับเป็นความเสี่ยง เพราะหากขาดความรู้ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือมีคนจำนวนมากเกินไป และไม่มีพื้นที่ว่างเพียงพอ ดังนั้นวิธีการจะป้องกันเหตุโศกนาฏกรรมลักษณะนี้ในอนาคตก็คือการให้การศึกษา และฝึกอบรม
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะป้องกันตัวเองในสถานการณ์เช่นนี้?
ดร. ฮากานีระบุว่า การที่ฝูงชนจะเพิ่มจำนวนขึ้นในระดับวิกฤติมักจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ผู้คนไม่ทันระวังตัวว่าจะเกิดหายนภัยขึ้น กว่าจะรู้ตัวก็เมื่อพวกเขาเริ่มรู้สึกอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อรู้ตัวก็มักจะสายไปแล้ว และเมื่อถูกเบียดโดยผู้คนจำนวนมาก ก็มักจะยากที่จะหาทางออก ดังนั้นความเป็นไปได้ที่จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์เช่นนี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าโชคดี บางคนอาจจะสามารถฉวยหรือคว้าบางอย่างเพื่อดึงตัวเองขึ้นไปในแนวดิ่งได้ แต่คงไม่ใช่กับคนส่วนใหญ่ ดังนั้นการบริหารจัดการที่ดี จะช่วยลดความเสี่ยงตั้งแต่ต้นทางลงไปได้มาก อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ต้องไปร่วมงานที่มีผู้คนจำนวนมาก แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่เลย และไม่มีใครจัดระเบียบฝูงชน นั่นก็น่าจะทำให้เราต้องเตือนตัวเองแล้วว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ และพิจารณาว่าควรเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับตัวเอง
ส่วนประเด็นคำถามที่ว่า ทางการเกาหลีใต้ควรจะโฟกัสและให้ความสำคัญต่อประเด็นใดบ้างในการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ ดร.ฮากานีระบุว่า เจ้าหน้าที่ต้องทราบถึงพื้นที่ของตรอกที่เกิดเหตุ อัตราการไหลผ่านพื้นที่ จำนวนคนที่รับได้สูงสุด สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อจะได้นำมาวางมาตรการความปลอดภัยในการจำกัดคนเข้าไปยังพื้นที่ในอนาคต จากนั้นจึงกำหนดว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลมาตรการความปลอดภัยสาธารณะดังกล่าวต่อไป.
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย , บลูมเบิร์ก
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 2 พ.ย.65
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2541573