“เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City” เป็นหนึ่งในแนวทางที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในทุกเมือง ทุกจังหวัดของประเทศ เพื่อมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
คำว่า “เมืองอัจฉริยะ” ไม่ใช่เพียงเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น แต่หมายถึงความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต รายได้ ที่อยู่อาศัย สุขภาพ ความปลอดภัยของทุกคนในเมืองนั้น หรือประเทศนั้นต้องดีขึ้นด้วย
ตั้งเป้าเมืองอัจฉริยะ100 เมืองใน 77 จังหวัด
แนวคิด Smart City เกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี รองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย ปลอดภัยในรูปแบบการบริหารจัดการเมืองที่จะมีการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการจัดสมดุลของสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตของผู้คน ความปลอดภัย
ประเทศไทย ได้มีการกำหนดพัฒนาพื้นที่เป้าหมายที่คัดเลือกเป็นเมืองอัจฉริยะต้นเเบบในแต่ละปี โดยปี 2561-2562 กำหนดเมืองอัจฉริยะ 10 เมืองใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
ต่อมา ปี 2562-2563 มีการกำหนดเป้าหมายเมืองอัจฉริยะเป็น 30 เมืองใน 24 จังหวัด ,ปี 2563-2564 กำหนดเมืองอัจฉริยะ 60 เมืองใน 30 จังหวัด และปี 2565 เมืองอัจฉริยะ 100 เมืองใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
ซึ่งเป็นโดยความร่วมมือของ 3 กระทรวง คือ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะขึ้น
ขับเคลื่อนพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ”
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) กล่าวว่า การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) คือ การทำอย่างไรให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นเมืองที่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม 100% แต่หมายถึงคนในพื้นที่นั้นๆ ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพที่ดี มีรายได้ที่ดี มีความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย
“เมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 แต่ในขณะนั้นยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน จนปี 2562 ประเทศสิงคโปร์ได้ดำเนินการเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง และได้เห็นโซลูชั่นต่างๆ หลังจากนั้นประเทศก็ได้มาขยายผลเกิดเมืองอัจฉริยะขึ้นอย่างแท้จริง
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการตีความของคำว่าเมืองอัจฉริยะสามารถดำเนินการได้หลากหลาย จึงได้มีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะขึ้น” ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว
5 หลักเกณฑ์ตั้ง “เมืองอัจฉริยะ” ในไทย
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่าสำหรับหลักเกณฑ์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จะประกอบด้วย 5 เกณฑ์สำคัญ คือ ดังนี้
1.ต้องกำหนดพื้นที่และเป้าหมายชัดเจน ว่าจะขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะในรูปแบบไหน จะเป็นเมืองที่มีนวัตกรรมทั้งหมด 100% หรือจะเป็นเมืองที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม Green หรือจะเป็นเมืองที่เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เป็นต้น
2.ต้องมีแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง จะต้องวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน มีสาธารณูปโภคที่จำเป็น มีระบบ และมีเทคโนโลยีต่าง ๆ ร่วมด้วย
3.ต้องมีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองที่ปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่เพียงข้อมูลด้านจำนวนคน จำนวนเศรษฐกิจ แต่เป็นชีวิตของคนในเมือง ต้องเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง
4.ต้องมีบริการเมืองอัจฉริยะตามลักษณะ 7 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living ) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) และ ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
5.ต้องมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน คือ ไม่ได้พึ่งพิงงบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้คนภายนอกเข้ามาดำเนินการสนับสนุนได้
เปลี่ยน Mindset ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ
ในการสร้างเมืองอัจฉริยะนั้น ดีป้าได้แบ่งเมืองเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มเมืองเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมีประมาณ 70 เมืองที่เข้าร่วม และกลุ่มเมืองที่ได้รับการประกาศเขตเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง ประมาณ 30 เมืองใน 23 จังหวัด ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด
การแบ่งเมืองออกเป็น 2 ประเภทนั้น เนื่องจากหากเป็นกลุ่มเมืองเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะแสดงว่าอาจจะยังไม่ได้ดำเนินการครบทั้ง 5 หลักเกณฑ์และกำลังจัดทำแผนงานอยู่
ส่วนกลุ่มที่ประกาศเขตเป็นเมืองอัจฉริยะแล้วยั้น กลุ่มนี้ได้ดำเนินการครบทั้ง 5 หลักเกณฑ์แล้วเพียงแต่ในส่วนของการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะอาจจะไม่ได้ครบทั้ง 7 ด้าน
อุปสรรคหลักของการสร้างเมืองอัจฉริยะ คือ Mindset แบบเดิมว่าเมืองอัจฉริยะต้องเป็นเรื่องที่ภาครัฐลงทุน ขาดความรู้ความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเมืองอัจฉริยะไม่ได้เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องลงทุนเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น ทางดีป้า ได้มีการสร้างคนรุ่นใหม่ และพยายามจะดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเมืองอัจฉริยะ
ในการสร้างคนรุ่นใหม่นั้น ดีป้าลงไปทำงานกับคนในพื้นที่ ผ่านโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งรุ่นแรกดำเนินการ Youth Ambassador หรือนักดิจิทัลพัฒนาเมืองไปแล้ว 30 คน ปีนี้จะเพิ่มเป็น 150 คน เพื่อช่วยปรับมุมมอง เปลี่ยน Mindset ของคนในพื้นที่ ให้ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ
เพิ่มช่องทางลงทุนเทคโนโลยีให้ภาคเอกชน
ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนนั้น ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวด้วยว่าดีป้าพยายามผลักดันให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะที่ต้องทำให้ภาคเอกชนได้กำไรจากการทำร่วมด้วย
เพราะรอการลงทุนจากภาครัฐอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ภาครัฐต้องสร้างระบบการลงทุนที่เหมาะสม โดยภาครัฐอาจต้องสร้างงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อขจัดข้อจำกัดในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ และเพิ่มโอกาส ช่องทางการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม
“ตอนนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI: Board of Investment) ได้เพิ่มสิทธิแก่ผู้ที่จะนำโซลูชั่นไปใช้ในเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเขตเมืองอัจฉริยะสูงสุดถึง 8 ปี
ซึ่งแสดงว่า ประชาชนจะรับการบริการที่ดี โดยไม่ต้องอาศัยการลงทุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่สามารถหาช่องทางจากเอกชนไปทำงานร่วมกับภาครัฐในพื้นที่”
ทางดีป้าได้จัดทำบัญชีบริการดิจิทัล เพื่อให้เอกชนเข้ามาลิสต์รายการที่มีมาตรฐาน เพื่อให้เลือกใช้และผ่านกระบวนการพัสดุได้ง่ายขึ้น
“เมืองอัจฉริยะ” ต้องแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า การจะเป็นเมืองอัจฉริยะได้ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้น เมืองอัจฉริยะจะต้องมีการกำหนดแนวทางอย่างชัดเจนว่าจะเป็น GoGreen ได้อย่างไร รวมถึงการแก้ปัญหาด้านมลพิษ ด้านน้ำ รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
การดูแลสุขภาพของคนในเมือง ทำอย่างไรให้คนในเมืองเข้าถึงการบริการสาธารณสุข และมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่เมืองอัจฉริยะต้องดำเนินการอยู่แล้ว
เพียงแต่จะเป็นโจทย์หลักหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับปัญหาหลักของแต่ละเมืองร่วมด้วย ซึ่งแต่ละเมืองก็มีโจทย์หลักและปัญหาหลักที่แตกต่างกัน
ในปี 2566 ดีป้าจะมีการสร้างความร่วมมือในส่วนของท้องถิ่น และภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะมากขึ้น
อีกทั้งจะพยายามทำให้เมืองอัจฉริยะมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนกัน เรียนรู้ ช่วยเหลือกัน รวมถึงพยายามหาโซลูชั่นใหม่ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น 5G หรือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาการเกษตร และอุตสาหกรรมมากขึ้น
“การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย เป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกคนไม่ว่าจะคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ และคนในอนาคต
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศจะเป็นการเปลี่ยนแปลง Ecosystem หรือระบบนิเวศของไทย ที่จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะภาคประชาชน ซึ่งเป็นพลัง มิติการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ เพราะถ้าอาศัยเพียงภาครัฐคงไม่สำเร็จ” ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว
Thailand Smart City Expo 2022
“Thailand Smart City Expo 2022” เป็นอีกหนึ่งงานของการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย ภายใต้ความร่วมมือของดีป้า และบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เอ็น.ซี.ซี.) ร่วมจัดงานขึ้น ระหว่าง วันที่ 30 พ.ย.–2 ธ.ค. 2565 ณ ฮอลล์ 3-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
การจัดงานครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และเกิดความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่นำโซลูชั่นมาใช้ กับภาคประชาชน ชุมชนที่ถือเป็นผู้ใช้นวัตกรรม โซลูชั่นและร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
ในส่วนของดีป้า จะนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะที่ได้ดำเนินการไป และแผนเป้าหมายต่าง ๆ
การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นรูปแบบไฮบริด มีการจัดแสดงครอบคลุม 7 กลุ่มประเภทสินค้า รวมกว่า 300 บูธ ได้แก่ ระบบจัดการด้านพลังงาน ระบบบ้านและอาคารอัจฉริยะ
ระบบโรงงานอุตสาหกรรมและร้านค้าปลีก ระบบด้านสุขภาพและโรงพยาบาล ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบขนส่งและยานยนต์ และระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
ภายในงานยังจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ สัมมนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมทุกด้านในการใช้ชีวิต
การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ สร้างเครือข่าย แบ่งปันความรู้ จากผู้เชี่ยวชาญในหลายอุตสาหกรรม การจัดแสดงหุ่นยนต์อัจฉริยะ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับ Metaverse กับเทคโนโลยี AR และ 3D Interactive ผ่านแอปพลิเคชัน “Graffity Mappers”
บทความโดย ชุลีพร อร่ามเนตร
—————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 24 พ.ย.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1039597