การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศให้ความสำคัญ และเป็นแนวคิดที่มีมาหลายสิบปีแล้ว
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ของประเทศไทย มีผลใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าภาคเอกชนหลาย ๆ บริษัทนั้นมีความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมกันอย่างเต็มที่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนด
หลายประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเวียดนาม ก็กำลังเตรียมตัวเพื่อออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน ในส่วนประเทศญี่ปุ่น มีการบังคับใช้กฎหมายเกินกว่า 15 ปีแล้ว แต่ก็มีการพัฒนาแก้ไขกฎหมายอยู่เป็นระยะเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของสังคม
ในส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในประชาคมโลก และมีความก้าวล้ำในเรื่องของกฎหมายและเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง
หลาย ๆ ท่านก็คงคาดหมายว่า สหรัฐนั้นก็น่าจะมีความก้าวหน้าในส่วนของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยที่สหรัฐมีกฎหมายหลายฉบับที่กำกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในเฉพาะส่วน เช่น The Privacy Act of 1974 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกจัดเก็บโดยหรืออยู่ภายใต้การครอบครองของรัฐบาล
Health Insurance Portability and Accountability Act of 1996 (HIPAA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประเภทข้อมูลสุขภาพของคนไข้ หรือผู้ใช้บริการสาธารณสุข The Children’s Online Privacy Protection Act (COPPA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี
โดยห้ามการเก็บข้อมูลของเด็กผ่านทางออนไลน์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ และกำหนดให้ต้องมีการขอความยินยอมจากผู้ปกครองของเด็กในกรณีที่มีการเก็บข้อมูลของเด็ก
The Video Privacy Protection Act (VPPA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลของการเช่าหรือซื้อ สื่อวีดิทัศน์ประเภทต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สหรัฐยังไม่มีกฎหมายระดับประเทศ (Federal law) ที่มากำกับเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไป
นอกจากกฎหมายเฉพาะดังกล่าวข้างต้น The Federal Trade Commission Act หรือกฎหมายที่เทียบเคียงได้กับ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ของประเทศไทย ก็ได้ให้อำนาจคณะกรรมการการค้าสหรัฐ (The U.S. Federal Trade Commission (FTC)) ไว้อย่างค่อนข้างกว้างขวางในการกำกับการประกอบธุรกิจในลักษณะต่าง ๆ
คณะกรรมการการค้าสหรัฐก็ได้มีการตีความกฎหมายนี้ ในส่วนของข้อความเรื่อง การกระทำที่เป็นการหลอกลวงให้ครอบคลุมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย
หากดูเฉพาะแค่กฎหมายระดับประเทศ กฎหมายของสหรัฐก็ถือว่าซับซ้อนมากแล้ว แต่อย่างไรก็ดี นอกจากกฎหมายระดับประเทศ ก็ยังมีกฎหมายระดับมลรัฐ (State law) ที่บังคับใช้ควบคู่กันไปอีกมิติหนึ่ง ซึ่งในแต่ละมลรัฐก็จะมีความแตกต่างกันออกไป
ในส่วนของกฎหมายระดับมลรัฐนั้น มี 5 รัฐที่ออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไป คือ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐคอนเนตทิคัต รัฐยูทาห์ รัฐเวอร์จิเนีย รัฐโคโลราโด และมีอีกมากกว่า 10 รัฐที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไป
California Consumer Privacy Act of 2018 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือที่เรียกว่า CCPA ถือเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไปฉบับแรกของสหรัฐ ในส่วนของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไปของรัฐคอนเนตทิคัต รัฐยูทาห์ รัฐเวอร์จิเนีย รัฐโคโลราโด นั้น ล้วนแล้วแต่เพิ่งจะมีผลใช้บังคับหรือกำลังจะมีผลบังคับในปีนี้ทั้งสิ้น
แต่ถึงแม้รัฐส่วนใหญ่จะยังไม่มีการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไป รัฐต่าง ๆ ก็มีการควบคุมกำกับการเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในบางส่วนหรือบางประเด็น ผ่านกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ
เช่น รัฐนิวยอร์กมีกฎหมายบังคับให้นายจ้างแจ้งต่อพนักงานในกรณีที่มีการติดตามข้อมูลในอีเมล หรือการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ รัฐเดลาแวร์มีกฎหมายบังคับให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์เปิดเผยนโยบายความเป็นส่วนตัวบนเว็บไซต์หรือบนแอปพลิเคชัน
ปัญหาที่ตามมาจากการที่แต่ละรัฐออกกฎหมายของตน คือ การที่ภาคเอกชนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของหลาย ๆ รัฐพร้อม ๆ กัน โดยที่กฎหมายของแต่ละรัฐนั้น อาจจะมีความแตกต่างกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
จึงมีแนวคิดว่าควรให้รัฐบาลกลางของสหรัฐออกกฎหมายเพื่อกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไปนี้ แทนการให้รัฐบาลของแต่ละรัฐเป็นคนออกกฎหมายในส่วนนี้ ทั้งนี้ เพื่อลดภาระของภาคเอกชนในการปฏิบัติตามกฎหมาย
ในขณะนี้ก็มีร่างกฎหมายระดับสหรัฐ (Federal law) ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา เช่น American Data Privacy and Protection Act ที่เพิ่งจะมีการรับฟังความเห็นไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหรัฐจะพัฒนาไปในทิศทางใด และจะมีอะไรที่เป็นประโยชน์หรือควรนำมาปรับใช้กับแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร
บทความโดย ภาณุพันธุ์ – ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล
———————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 25 พ.ย.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/1039742