‘กทพ.’จับมือ ‘ตำรวจสอบสวนกลาง’ลุยเชื่อมข้อมูลผู้ใช้ทางด่วนกับแบบเรียลไทม์ เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อตรวจสอบป้องกันปราบปรามอาชญากรรม สร้างความมั่นคง–ปลอดภัยให้ประชาชน
22 พ.ย.2565-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์และแลกเปลี่ยนข้อมูลในระบบสารสนเทศ
ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นเป็นมิติใหม่ในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องแบบเรียลไทม์
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยให้กับประชาชน เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีด้านความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงยกระดับการให้บริการประชาชนของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ โดย กทพ. จะทำการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ใช้ทางพิเศษและข้อมูลอื่นๆ จากฐานข้อมูลระบบจราจรอัจฉริยะที่มีอยู่ในระบบสารสนเทศ ได้แก่ ฐานข้อมูลระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS Center) ฐานข้อมูลระบบ Data Exchange Center และฐานข้อมูลระบบ Automatic Lane Control
อย่างไรก็ตามขณะที่ บช.ก. จะจัดให้มีมาตรการในการปกป้องคุ้มครองข้อมูลดังกล่าวมิให้ถูกละเมิด เป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรม เพิ่มประสิทธิภาพในการสืบสวนป้องกันปราบปรามอาชญากรรม อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยของสาธารณะ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทพ. ได้มีการพัฒนาการให้บริการทางพิเศษแก่ผู้ใช้ทางมาโดยตลอด โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการให้บริการ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดในการสัญจรบนทางพิเศษ ซึ่งเทคโนโลยีและระบบต่างๆ ที่ กทพ. ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เป็นเครื่องมือสำคัญในการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องของ บช.ก. ได้ ซึ่งปัจจุบัน กทพ. มีปริมาณผู้ใช้ทางพิเศษเฉลี่ยมากถึง 1.8 ล้านคันต่อวัน
ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ. มีความมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการทางพิเศษแก่ผู้ใช้ทาง โดยมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงระบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทางพิเศษ เพื่อพัฒนาองค์กรให้สอดรับวิสัยทัศน์องค์กรนวัตกรรมเพื่อการเดินทางและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามแผนวิสาหกิจปีงบประมาณ 2566-2570 ให้บรรลุเป้าหมายและใช้เป็นแนวทาง ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นทางพิเศษอัจฉริยะในอนาคตต่อไป
ขณะที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า บช.ก. เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมที่มีความร้ายแรงและสลับชับซ้อน มีหน้าที่สำคัญในการรวบรวม วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล เพื่อใช้ในการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้าย โดย บช.ก. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการสืบสวนสอบสวน เพิ่มความสามารถในการอำนวยความยุติธรรมและให้บริการประชาชน อย่างไรก็ตาม การจัดทำระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data นั้น มีความจำเป็นที่ต้องบูรณาการข้อมูลจากหลากหลายมิติ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว จะสร้างความสงบสุขของประเทศชาติ และยกระดับการให้บริการประชาชนของทั้ง 2 หน่วยงาน
“การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยป้องกัน ปราบปรามปัญหาอาชญากรรม อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น กรณี ที่มีรถยนต์ของคนร้าย ได้หนีการจับกุม ขึ้นระบบทางด่วน เจ้าหน้าที่ สามารถทราบความเคลื่อนไหว ว่ารถอยู่ในจุดใด และกำลังมุ่งหน้าไปไหน และยังสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จากการโจรกรรมรถยนต์ เช่น แต่ละปีมีรถที่ถูกโจรกรรมไปจำนวน 5,000 คัน แน่นอน คงเป็นการยากที่จะหากำลังเจ้าหน้าที่ ไปไล่ติดตามรถทั้ง 5,000 คันได้ แต่มื่อมีรถคันใดในจำนวนดังกล่าว วิ่งขึ้นระบบทางด่วน เมื่อมีการเชื่อมโยงแบบเรียลไทม์ ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ ระบบทางด่วน และตำรวจทราบ สามารถนำไปสู่การติดตามจับกุมได้”พล.ต.ท.จิรภพ กล่าว
—————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยโพสต์ / วันที่เผยแพร่ 22 พ.ย.65
Link : https://www.thaipost.net/criminality-news/268309/