South China Sea
จีนเริ่มดำเนินยุทธศาสตร์การขยายอิทธิพลทางทหารของตนอย่างเงียบ ๆ มาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยแฝงตัวอยู่ในรูปของเรือที่ไม่ได้เป็นของกองทัพ อย่างเช่น เรือด้านการวิจัยของจีนที่ติดตั้งอุปกรณ์เฝ้าระวังจอดเทียบที่ท่าเรือศรีลังกา หรือเรือประมงจำนวนหลายร้อยที่ทอดสมออยู่พื้นที่หมู่เกาะในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นจุดพิพาทระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ครั้งละหลายเดือน รวมทั้งเรือเฟอร์รีท่องมหาสมุทราที่มีความสามารถในการบรรทุกยานพาหนะหนักและผู้คนจำนวนมาก ซึ่งเดินทางไปทั่วท้องน้ำตลอดช่วงที่ผ่านมา
แม้ว่าเรือเหล่านี้จะถูกจัดว่าเป็นเรือพลเรือน แต่ผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลระดับภูมิภาคแสดงความกังวลใจว่า สิ่งนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ผสมระหว่างภาคพลเรือนและทหาร ซึ่งรัฐบาลของจีนนำมาใช้เพื่อปกปิดและขยายขีดความสามารถทางทะเล
ปัจจุบัน กองทัพเรือจีนถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้ว และจีนยังคงเพิ่มเรือรบใหม่เพื่อขยายกำลังทางทหารให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน เพิ่งมีการเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ออกแบบและผลิตในประเทศ และมีแผนที่จะเปิดตัวเรือพิฆาตสัญชาติจีนอีกอย่างน้อย 5 ลำที่อยู่ระหว่างการผลิตด้วย
รัฐบาลของจีนพยายามที่จะขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ โดยการเพิ่มกิจกรรมทางทหารรอบเกาะไต้หวันที่ปกครองตนเอง แสวงหาข้อตกลงด้านความมั่นคงฉบับใหม่กับหมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงสร้างเกาะเทียมในน่านน้ำที่เกิดข้อพิพาท เพื่อที่จะอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรแสดงจุดยืนคัดค้านอยู่แล้ว
การใช้เรือพลเรือนนี้ ถือเป็นกลยุทธ์ที่มากกว่าแค่การเพิ่มจำนวน เพราะเรือเหล่านี้ยังสามารถดำเนินการในสิ่งที่เรือของกองทัพทำได้ยาก
South China Sea
เกรกอรี โพลลิง ผู้อำนวยการ ศูนย์ Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS ยกตัวอย่างกรณีที่จีนได้จ่ายเงินให้กับเรือลากอวนเชิงพาณิชย์ ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ของทะเลจีนใต้ ด้วยมูลค่าที่มากกว่าแค่เพื่อการจับปลา โดยต้องการให้เรือเหล่านี้จอดอยู่อย่างน้อย 280 วันต่อปี เพื่อเป็นการอ้างสิทธิ์ของรัฐบาลจีนต่อหมู่เกาะที่เกิดข้อพิพาท
เขากล่าวว่า “จีนใช้เรือพลเรือนซึ่งถูกควบคุมจากภาครัฐอย่างชัดเจน โดยจีนจ่ายเงินเพื่อที่จะทำลายอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลจีนก็อาจที่จะสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้”
เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ที่ประเทศจีนได้ใช้เรือประมงพลเรือนเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการกองเรือสแปรตลีย์ หรือ “Spratly Backbone Fleet” ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ เพื่อสร้างเรือลำใหม่และดำเนินการด้านอื่น ๆ ด้วย
โพลลิง ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า หลังจากที่จีนสร้างท่าเรือบนเกาะเทียม บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ พบว่า มีเรือจำนวนมากปรากฏขึ้นในช่วงระยะเวลาเพียงข้ามคืน” โดยปัจจุบันนี้ มีเรือจำนวนราว 300 – 400 ลำ ที่จอดกระจายอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ได้อ้างสิทธิ์เหนือบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ซึ่งเป็นพื้นที่การประมงและช่องทางการเดินเรือที่สำคัญ รวมทั้งคาดว่า เป็นบริเวณที่มีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันสำรองที่ยังไม่ถูกดึงมาใช้ด้วย
เจย์ บาตงบาคาล หัวหน้าสถาบัน Maritime Affairs and Law of the Sea จากมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ อธิบายว่า เรือของจีนขัดขวางไม่ให้เรือลากอวนรายอื่นเข้าจับปลาในพื้นที่ โดยที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่สามารถทำอะไรได้ มิฉะนั้น จีนจะสามารถกล่าวหาฟิลิปปินส์ว่า ทำการยั่วยุและใช้กำลังต่อพลเรือนของตนได้
หนึ่งในตัวอย่างที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ กรณีเมื่อปี 2019 ที่เรือลากอวนเหล็กของจีนปะทะกับเรือไม้ของฟิลิปปินส์ซึ่งทอดสมออยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่เกาะสแปรตลีย์จนเรือไม้ดังกล่าวจมลง ซึ่งจีนอธิบายว่าเหตุการณ์นี้ คืออุบัติเหตุและเป็น “การปะทะกันโดยบังเอิญ”
การศึกษาในเดือนพฤศจิกายนของโพลลิง ที่อ้างอิงจากรายงานอย่างเป็นทางการของจีน ภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ พบว่า นอกจากจีนจะมีเรือประมงพาณิชย์จำนวนราว 800 ถึง 1,000 ลำในกองเรือสแปรตลีย์แล้ว ยังมีเรือที่เป็นของกองกำลังสำรองทางทะเลอีกประมาณ 200 ลำด้วย โดยโพลลิงชี้ว่า ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้น การใช้เรือพลเรือนของจีนจะทำให้การอ้างถึงกฎการปะทะโดยกองทัพเรือมีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้น
ริดซ์วาน ราห์มัท นักวิเคราะห์จากบริษัทข่าวกรองด้านการป้องกันแห่งหนึ่งจากประเทศสิงคโปร์ ชี้ว่า จีนยังได้ปรับใช้เรือวิจัยของพลเรือนสำหรับงานที่เกี่ยวข้องด้านการทหารในพื้นที่ที่กองทัพเรือของจีนไม่สามารถเข้าปฏิบัติการได้ด้วย
ราห์มัท ยังให้ข้อมูลว่า ชาติตะวันตกควบคุมการส่งออกไปที่จีน โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ละเอียดอ่อนต่อการนำไปใช้เพื่อผลิตเทคโนโลยีด้านการทหาร อย่างไรก็ดี จีนใช้เรือที่อยู่ในสถานะพลเรือนเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงข้อจำกัดดังกล่าว
หนังสือพิมพ์ Global Times ซึ่งเป็นสื่อรัฐบาลจีนรายงานว่า เรือ “จู ไห่ หยุน” (Zhu Hai Yun) คือ เรือลำหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทที่ว่า ซึ่งขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง มีความสามารถในการปล่อยโดรนทางอากาศ ภาคพื้นดิน และใต้น้ำ “เพื่อทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านทะเล” โดย ราห์มัท กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายน เรือลำดังกล่าวเพิ่งเสร็จสิ้นการทดลองเดินเรือเป็นครั้งแรก ซึ่ง “จู ไห่ หยุน” สามารถสร้างแผนที่ทางทหารของพื้นของทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงช่องทางเดินเรือดำน้ำที่สำคัญรอบเกาะไต้หวันด้วย
วิธีการของจีนสร้างความไม่พอใจให้กับอินเดียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จีนพยายามนำเรือ “หยวน หวัง ไฟว์” (Yuan Wang 5) ไปที่บริเวณท่าเรือฮัมบันโททาของศรีลังกา ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเท่าใด ขณะที่ อินเดียกำลังเตรียมทดสอบขีปนาวุธใหม่อยู่ โดยเรือลำนี้ติดตั้งเซ็นเซอร์ซึ่งสามารถใช้ติดตามดาวเทียม อีกทั้งยังรวบรวมข้อมูลการยิงขีปนาวุธได้
ในเบื้องต้น ศรีลังกาปฏิเสธที่จะให้เรือ “หยวน หวัง ไฟว์” เข้าเทียบท่า เนื่องด้วยความกังวลด้านความสัมพันธ์กับอินเดีย แต่ภายหลังได้อนุญาตให้เรือดังกล่าวสามารถเข้าเทียบท่าได้ ระหว่างวันที่ 16 ถึง 22 สิงหาคมที่ผ่านมา
หลังจากนั้น ในวันที่ 23 สิงหาคม อินเดียประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธตัวใหม่ เพื่อปกป้องเรือรบจากภัยคุกคามทางอากาศระยะประชิด โดยผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า อินเดียอาจจะต้องการให้เรือสอดแนมของจีนเคลื่อนออกไป ก่อนที่จะทำการทดลองขีปนาวุธ
ไมค์ ดาห์ม อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวว่า จีนไม่ได้พยายามปิดบังการใช้เรือข้ามฟากของพลเรือนในกิจการกองทัพ และสิ่งนี้อาจมีเป้าหมายเพื่อข่มขู่ไต้หวัน โดยเขาชี้ว่า “มีความเป็นไปได้เสมอ ที่กองทัพของจีนจะทำปฏิบัติการที่มีความเสี่ยงสูงต่อไต้หวัน และอาจจะนำไปสู่การสูญเสียเรือพลเรือนเป็นจำนวนมาก”
ที่มา: เอพี
—————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : VOA Thai / วันที่เผยแพร่ 23 พ.ย.65
Link : https://www.voathai.com/a/china-using-civilian-ships-to-enhance-navy-capability-reach/6771326.html