GETTY IMAGES
คนไทยสนใจเรื่องปืนมากพอ ๆ กับ อาหาร ท่องเที่ยว และสินค้าไอที การแนะนำ รีวิวอาวุธปืนหลากชนิด เป็นหนึ่งในเนื้อหายอดนิยมติดอันช่องยูทิวบ์ เฟซบุ๊กของไทย แต่ละตอนที่นำเสนอออกมา เรียกผู้ชมได้เป็นหลักแสนในเวลาไม่ถึงสัปดาห์
ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยมีปืนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปืนถูกใช้ไปในการประกอบอาชญากรรมตั้งแต่การแก้ปัญหาพิพาทส่วนตัว การปล้นทรัพย์ ไปจนถึงการสังหารหมู่ครั้งล่าสุดเมื่อ 6 ต.ค. ที่ จ.หนองบัวลำภู
เหตุการณ์ดังกล่าว แม้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากคมมีดมากกว่ากระสุนปืนส่งผลให้รัฐบาลต้องรีบหาทาง “ล้อมคอก” ซึ่งนักอาชญาวิทยาบอกว่าอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกวิธี
บีบีซีไทยชวนหาคำตอบว่าทำไมไทยมีอัตราการครองปืนสูงสุดอาเซียน เกือบครึ่งเป็นปืนเถื่อน คนทั่วไปครอบครองปืนได้ง่ายแค่ไหน การนิรโทษกรรมปืนเถื่อนจะช่วยลดอัตราการเกิดเหตุความรุนแรงได้จริงหรือไม่
ปืน ผู้หญิง และความสนใจ
กชนก สุต๊า หรือ “น้ำอิง” พิธีกรหญิงวัย 32 ปี ผู้ผลิตวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปืน วิดีโอแต่ละตอนมียอดผู้เข้าชมเรือนหมื่นถึงหลายล้านบอกว่า เธอเริ่มสนใจเรื่องปืนจากตอนที่เธอไปซ้อมยิงปืนที่สนามกับเพื่อนครั้งแรกเมื่อห้าปีที่ผ่านมา
“แต่ก่อนไม่ได้มีความสนใจเรื่องปืน แต่มีเพื่อนที่ชอบยิงปืนและชักชวนไปสนามยิงปืน พอได้ลองยิงแล้วถ่ายคลิปลงเฟซบุ๊ก เกิดเป็นกระแสไวรัลขึ้นมา มีคนแชร์นับหมื่น จากการที่เรายิงปืนกลมือ และเข้าเป้าตรงกลางทั้ง 10 นัด ในช่วงนั้นไม่น่ามีผู้หญิงที่ยิงปืนแบบนี้ในโลกออนไลน์ จึงเป็นกระแสโด่งดังมาก” กชนกกล่าว
หลังจากที่เธอเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวจนโด่งดัง กชนกจึงตัดสินใจเปิดเพจภายใต้ชื่อ Naaming Kotchanok ขึ้น ช่วงนั้น เธอเป็นผู้หญิงคนแรก ๆ ที่ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับปืน ด้วยรูปลักษณ์อันอ่อนหวานแสดงผ่านภาพลักษณ์ดุดันของปืนที่ผู้ชายสนใจ ทำให้เธอได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก แต่ก็ยังมีหลายคนเข้ามาวิจารณ์ว่าสิงที่เธอทำไม่เหมาะสมเพราะเธอเป็นผู้หญิง
กชนกคิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้รายการเรื่องปืนเป็นที่นิยม เพราะการเข้าถึงปืนของคนไทยในฐานะที่เป็นพลเรือนเป็นเรื่องง่าย ทว่าหลังจากก่อเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภูเกิดขึ้น ทำให้การออกใบอนุญาตซื้อและครอบครองอาวุธปืนเป็นไปได้ยากขึ้นกว่าเดิมมาก
“นอกจากเข้าถึงได้ง่ายแล้ว การที่คนไทยให้ความสนใจคอนเทนท์เกี่ยวกับปืนเพิ่มมากขึ้นเพราะบ้านเมืองเรามีเหตุความรุนแรงที่ไม่คาดคิดมากขึ้น ทำให้คนเริ่มหันมามองว่าอาวุธปืนมีคุณหรือมีโทษกันแน่ และการครอบครองปืนได้มากจะดีหรือไม่”
NAAMING KOTCHANOK
กชนก สุต๊า หรือ “น้ำอิง” เป็นหนึ่งในผู้หญิงคนแรก ๆ ในยไทยที่ผลิตเนื้อหาวิดีโอเกี่ยวกับปืน
รายงานของ Small Arms Survey (SAS) องค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบาทั่วโลกของสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่เมื่อ มิ.ย. 2018 ระบุว่า ไทยมีปืนราว 10.3 ล้านกระบอก มากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก เทียบกับอันดับ 1 สหรัฐอเมริกา ที่มีมากถึง 393.9 ล้านกระบอก
เมื่อเทียบกับชาติอื่นในอาเซียน ไทยถือว่ามีจำนวนอาวุธปืนมากที่สุด รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ที่มีปืนในครอบครอง 3.9 ล้านกระบอก และเวียดนามที่ 1.5 ล้านกระบอก
ขณะเดียวกัน ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนปืนต่อประชากรพบว่าประเทศไทยมีการครอบครองปืนเฉลี่ย 15 กระบอกต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราที่มากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก
ปืนเถื่อน
จากจำนวนปืน 10.3 ล้านกระบอกในไทยนั้น SAS ระบุว่า มีเพียง 6.2 ล้านกระบอกที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และที่เหลืออีก 4.1 ล้านกระบอกเป็นปืนเถื่อนไม่มีทะเบียน
ทำไมเราจึงมีปืนเถื่อนมากมาย
ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล อดีตประธานหลักสูตรอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกกับบีบีซีไทยว่า ก่อนมีกฎหมายควบคุมปืน พื้นที่ตามต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลมีความต้องการใช้ปืนมาก โดยส่วนใหญ่มีเอาไว้ป้องกันตัวเองและทรัพย์สินจากโจรผู้ร้ายที่มาขโมยวัว ควาย และผลผลิตทางการเกษตร
แต่ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนออกมา พ.ศ. 2490 ทำให้ผู้ที่มีปืนในครอบครองต้องนำปืนไปขึ้นทะเบียน การครอบครองปืนของคนไทยเป็นไปได้ยากขึ้นกว่าเดิม และปืนถูกกฎหมายมีราคาสูงขึ้นมากหลายเท่าตัว จึงเกิดตลาดปืนผลิตเอง หรือที่เรียกว่า “ปืนไทยประดิษฐ์” เพราะ การทำปืนไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไรมาก ส่วนประกอบของปืนมีเพียงแค่ลำกล้อง และชุดลั่นไก โดยลำกล้องสามารถทำขึ้นมาได้ง่าย ๆ โดยการนำเหล็กไปกลึงตามโรงกลึง ซึ่งมีราคาถูก ส่วนชุดลั่นไกก็เป็นเพียงแค่ตัวตอกท้ายกระสุน
“จากการที่ปืนทำง่ายขนาดนี้ และปืนมีราคาแพง ทำให้ตามต่างจังหวัดมีการผลิตปืนเถื่อนกันเป็นจำนวนมาก เพราะการที่จะเกิดโอกาสที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจพบมันแทบไม่มีอยู่แล้ว และความต้องการใช้ก็มีมาก แอบใช้กันก็มีเยอะ” ดร.ฐนันดร์ศักดิ์กล่าว และเสริมว่า การสู้รบตามแนวชายแดน ทำให้อาวุธหลุดเข้ามาในไทยกลายเป็นปืนเถื่อนด้วยที่มีซื้อขายทางออนไลน์อย่างไม่ถูกกฎหมายจนถึงปัจจุบัน
กชนกเสริมว่าปืนเถื่อนมีจำนวนพอ ๆ กันกับปืนที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายและจากการที่หาซื้อได้ง่าย ๆ จากช่องทางออนไลน์และมีราคาถูกกว่าท้องตลาด ทำให้จำนวนปืนเถื่อนมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
BBC THAI
ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล กล่าวว่าปืนเถื่อนมีจำนวนพอ ๆ กันกับปืนที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายและจากการที่หาซื้อได้ง่าย ทำให้จำนวนปืนเถื่อนมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
ยุ่งยากแค่ไหน ถ้าอยากมีปืนอย่างถูกกฎหมาย
การครอบครองปืนในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีขั้นตอนและใช้เวลาหลายเดือน กฎหมายมีข้อกำหนดไว้ว่าการขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ต้องไปยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืนก่อน เมื่อนายทะเบียนอาวุธปืนอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนได้ก็จะออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน หรือที่เรียกว่าใบ ป.3 ให้ จากนั้นผู้ร้องขอจึงนำใบอนุญาตดังกล่าวไปซื้ออาวุธปืน แล้วจึงนำไปแสดงต่อนายทะเบียนอาวุธปืนเพื่อออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน หรือที่เรียกว่าใบ ป. 4 ต่อไป
มีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในเว็บบอร์ดพันทิพย์ที่ใช้ชื่อว่า “นอนกอดCom” ได้แบ่งปันประสบการณ์การขอใบอนุญาตซื้ออาวุธปืนเมื่อปี 2560 โดยได้เล่าว่าเริ่มแรกเขาเข้าไปพูดคุยคุยกับปลัดอำเภอเพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องเอกสารก่อน
จากนั้นเขาได้รับเอกสารใบรับรองความประพฤติ เพื่อนำไปให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันเป็นคนลงนาม รวมถึงต้องมีรายการทรัพย์สินที่มีด้วยว่ามีอะไรบ้าง มูลค่าเท่าใด ก่อนจะเตรียมเอกสารไปยื่นที่ทำการอำเภอ
หลังจากนั้นเขาส่งเอกสารทั้งหมดไปให้นายอำเภอ โดยเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูลลงในใบ ป.1 หรือใบคำร้องลงในระบบ หากไม่มีปัญหาอะไรทางเจ้าหน้าที่จะติดต่อให้ไปเซ็นเอกสาร
หนึ่งอาทิตย์ถัดมา เจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาแจ้งให้ไปรับใบเอกสารส่งตัว เพื่อไปพิมพ์ลายนิ้วมือที่สถานีตำรวจประจำอำเภอ โดยต้องแจ้งตำรวจว่าจะซื้อปืนรุ่นไหน ก่อนจะถูกเก็บลายนิ้วมือ และชำระค่าธรรมเนียม 100 บาท เพื่อส่งเอกสารไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผ่านไปหนึ่งเดือน ณัฐภัทรได้รับโทรศัพท์มาจากที่ทำการอำเภอมาว่าได้รับใบตรวจประวัติอาชญากรรมแล้ว และไม่มีปัญหาอะไรจึงเรียกให้ไปเซ็นเอกสารทั้งหมด ก่อนจะส่งให้นายอำเภอเซ็นใบ ป.3 ซึ่งใช้เวลาเดือนกว่า ๆ ก่อนที่เขาจะได้รับเอกสาร โดยใบ ป.3 จะมีอายุ 6 เดือนนับจากวันที่ออก
เขาติดต่อไปที่ร้านปืนหลังได้ใบ ป.3 แล้ว เพื่อสอบถามสถานะปืนที่จองเอาไว้ โดยทางร้านแจ้งว่าปืนมาถึงแล้วแต่ตอนนี้ถูกส่งไปตีทะเบียนอยู่ หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ทางร้านโทรมาแจ้งให้ให้ไปรับปืน และทำเอกสารใบคุมปืนให้
เวลาผ่านไป 3 เดือน ทางร้านแจ้งว่าได้ใบคู่มือปืนแล้วก่อนจะส่งไปรษณีย์ไปให้ที่บ้าน พอได้รับใบคู่มือปืนแล้วก็นำปืนที่ซื้อมาพร้อมใบคู่มือปืนที่ได้รับมา ไปที่ทำการอำเภอเพื่อตรวจสอบสภาพปืน และขูดเลขทะเบียนปืนให้เรียบร้อย เพื่อออกใบ ป.4 หรือใบอนุญาตครอบครองปืน
ระยะเวลาทั้งหมดที่ใช้ไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกกับการขอมีอาวุธปืนแบบถูกกฎหมายอยู่ที่ประมาณ 1 ปี และมีค่าธรรมเนียมรวมทั้งหมด 605 บาท
AFP/GETTY IMAGES
ปืนสวัสดิการคืออะไร และใครได้ประโยชน์
ปืนสวัสดิการเป็นโครงการของกรมการปกครอง เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2552 โดยโครงการนี้ในช่วงแรกอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสามารถทำเรื่องขอซื้อปืนได้ผ่านโครงการในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดถึงสองเท่า แต่หลังจากนั้นก็อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการพลเรือนหน่วยงานอื่นสามารถเข้าโครงการได้เช่นกัน
โครงการปืนสวัสดิการ มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน โดยในมุมของผู้ให้การสนับสนุนเห็นว่าโครงการนี้ต้องการให้ข้าราชการที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึงปืน เพื่อใช้ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการในราคาที่ไม่แพงเกินไป โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามโอนภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาต เว้นแต่เป็นมรดกตกทอด
ในขณะที่ฝ่ายผู้ที่คัดค้าน มองว่า ปืนสวัสดิการเพิ่มช่องทางการร่วมกันทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการกำหนดราคา และเกิดช่องว่างการสวมสิทธิ์เจ้าหน้าที่หรือพนักงานรัฐ เพื่อซื้ออาวุธปืน และอาจสามารถนำไปก่อให้เกิดอาชญากรรม รวมถึงก่อให้เกิดปืนเถื่อนได้ในที่สุด
รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต บอกบีบีซีไทยว่า ในช่วงที่โครงการปืนสวัสดิการออกมาในช่วงแรก เป็นเพราะรัฐไม่สามารถจัดหาอาวุธปืนให้เจ้าหน้าที่ได้อย่างเพียงพอ เลยเกิดโครงการปืนสวัสดิการขึ้นมา
แต่ในปัจจุบันมีการหาอาวุธปืนให้เจ้าหน้าที่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างจะเพียงพอมากกว่าเดิม และเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่กระทำโดยปืนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศระงับโครงการปืนยสวัสดิการชั่วคราวแบบใม่มีกำหนดไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องเงื่อนไขใหม่ของโครงการปืนสวัสดิการ
“จึงเป็นที่มาของการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระงับโครงการปืนสวัสดิการ เพราะเห็นว่าอาจเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายให้คนที่มีปืนอยู่แล้ว ไปซื้อเพิ่ม เพื่อหวังว่าจะไปโอนสิทธิ์ให้ผู้อื่นได้หลังจากครอบครองมาแล้ว 5 ปี หรือในบางกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีปัญหาเรื่องการเงินและนำปืนไปจำนำ แต่ถ้าไม่สามารถไถ่ออกมาได้ ก็จะถูกนำไปขายทอดตลาด และอาจจะมีการปล่อยต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน” ดร. กฤษณพงค์อธิบาย
รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
“หน่วยงานไม่ใช่แค่ตำรวจเท่านั้น หน่วยงานอย่างเช่นมหาดไทย เขาก็จะมีเจ้าหน้าที่อาสา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการดูแลความปลอดภัย โดยหลักการมันดี เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ก็ต้องมีคนส่วนหนึ่งในสังคม ที่อาจจะมีการใช้อาวุธปืนหรือการควบคุมอารมณ์ไม่เพียงพอ ใช้อาวุธปืนไปทำร้ายคนอื่น ซึ่งก็พบว่าเป็นข่าวในเมืองไทยอยู่บ่อย ๆ”
หนึ่งในช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทั้งนักวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐบางคนกังวลกันคือการที่สิทธิในการซื้อปืนผ่านโครงการปืนสวัสดิการหรือใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนยังอยู่กับเขา ถึงแม้ว่าข้าราชการคนนั้นจะพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอันใดก็ตาม
ซึ่งเหมือนกับการก่อเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา โดย ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ ผู้ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการตำรวจที่ถูกให้ออกจากราชการเพราะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สามารถหาซื้อปืนจากสิทธิโครงการปืนสวัสดิการที่ตนมีแต่ไม่ได้ถูกเพิกถอนไปด้วย
“เท่าที่ทราบขณะนี้คือเป็นอาวุธปืนประจำกาย ไม่ได้เป็นปืนที่รัฐจัดหาให้ นั่นหมายความว่าหากเขาให้โดนออกจากราชการ ปืนนี้ติดอยู่กับเขาไปจนกระทั่งเขาเสียชีวิต” ดร. กฤษณพงค์ขยายความ
ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ อธิบายเสริมว่า มีเจ้าหน้าที่บางคนซื้อปืนด้วยใบ ป.3 ก่อนจะฝากปืนไว้กับร้านพร้อมโอนลอยเอาไว้เลย หลังจากที่ครบกำหนดการครอบครองปืนที่ 5 ปี ก็ฝากขายต่อไป
“หลายคนใช้วิธีนี้ในการทำกำไร หรือบางคนรอเวลาใกล้ ๆ แล้วค่อยไปขายต่อ ซึ่งการที่โครงการปืนสวัสดิการทำให้ได้ปืนมาง่าย ๆ ในราคาถูกกว่าท้องตลาดก็เลยเปิดช่องให้คนที่มีสิทธิเข้าไปซื้อปืนเพื่อขายต่อและสร้างกำไรจากส่วนต่าง”
“โครงการปืนสวัสดิการมีผลต่อการเพิ่มจำนวนของปืนในประเทศไทย เพราะมีหลายหน่วยงานที่เข้าโครงการนี้ได้”
ตร. จ่อปรับเงื่อนไขปืนสวัสดิการ
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจาก พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขเรื่องอาวุธปืนของหลวงที่ถูกขโมยไปจำหน่าย กล่าวกับ Police TV เมื่อ 30 ต.ค. ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เตรียมพิจารณาระงับโครงการปืนสวัสดิการ เพราะเห็นช่องโหว่ของกฎหมายที่นำไปสู่การวนใช้ใบ ป.3 เพื่อซื้อปืนจากโครงการไปขายนอกระบบ และจำหน่ายทางออนไลน์
แนวทางเบื้องต้น ได้ทำต้นแบบการเช็คสต็อกการตรวจนับจำนวนอาวุธปืนของหน่วยปฏิบัติการพิเศษมาใช้ ซึ่งเป็นการใช้คิวอาร์โค้ดหรือบาร์โค้ดที่ติดไว้กับอาวุธปืนมาใช้ในการนับจำนวน เพราะง่ายต่อการตรวจสอบและนับจำนวน
ในอนาคตจะมีการนำระบบคิวอาร์โค้ดมาใช้ในการเบิกจ่ายปืน ซึ่งจะมีการเซ็ตระบบพร้อมกรอบเวลาที่สามารถนำปืนไปใช้ได้ได้ และนำมาคืนตามกำหนดเวลา
“ที่ผ่านมามีข้าราการตำรวจนำใบ ป.3 ไปวนซื้อปืนมาจำหน่ายนอกระบบและช่องทางออนไลน์ โดยไม่ไปออกใบ ป.4” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กล่าวและเสริมว่า มีการเวียนใบ ป.3 เข้าไปเบิกอาวุธปืนจากคลังมาโดยไม่ได้เอาไปออกใบ ป.4 แล้วนำใบ ป.3 มาใหม่ไปเบิกที่คลังอีก เป็นการ “เล่นแร่แปรธาตุ” ของปืนสวัสดิการ จึงต้องปิดช่องโหว่นี้
“อาจจะขยายระยะเวลาจากเดิมที่ต้องครอบครองปืนเป็นระยะเวลา 5 ปี ก่อนที่จะโอนได้ มาเป็น 15 ปีโอนได้ หรืออาจจะไม่ให้โอนตลอดชีวิต เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เอาปืนสวีสดิการไปขาย”
กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
รอง ผบ.ตร. กับ ผบ.ตร.
นิรโทษกรรมปืนเถื่อน
เมื่อ 1 พ.ย. นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง ลงนามในหนังสือกรมการปกครองถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ
เอกสารดังกล่าวระบุว่า กรมการปกครองได้มีประกาศเรื่องการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ โดยมีสาระสำคัญให้บุคคลที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนมาขอรับอนุญาตเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องรับโทษ
ก่อนหน้านี้เมื่อ 12 ต.ค. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ว่าที่ประชุมมีมติ ให้คนที่ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ให้มีการทบทวนในการที่จะให้มีและใช้อาวุธปืนทุก 3 หรือ 5 ปี ว่ามีความจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนอยู่หรือไม่
รวมถึงผู้ที่ต้องพ้นจากหน้าที่ยังมีความจำเป็นที่ต้องครอบครองอยู่หรือไม่ หากไม่จำเป็นก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ แต่ในกรณีก่อเหตุความผิด จะสามารถเพิกถอนได้ทันที ส่วนการออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนใหม่ ต้องประเมินทั้งสุขภาพจิตใจและพฤติกรรม
ส่วนอาวุธปืนเถื่อน มีข้อยุติว่า จะต้องมีการออกกฏหมายให้นำปืนเถื่อนมาคืนโดยไม่มีความผิดทางอาญา และไม่ให้มีการขึ้นทะเบียน แต่ถ้าพบว่ายังครอบครองปืนเถื่อนต่อไป เจ้าที่ตำรวจจะมีความเข้มงวดตรวจสอบและดำเนินการทางกฏหมายอย่างเคร่งครัด ย้ำว่า จะไม่ใช้คำว่า “นิรโทษกรรม”
แก้ปัญหาไม่ถูกจุด?
อีกหนึ่งสถิติที่น่าสนใจคือเรื่องอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากปืน ดร.กฤษณพงค์ อธิบายไว้ว่า 75% ของอาชญากรรมที่กระทำโดยปืนเกิดขึ้นจากปืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งอาจเป็นปืนที่ลักลอบนำเข้ามาขายในไทยจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงปืนไทยประดิษฐ์ด้วย
ในขณะที่ ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ อธิบายว่าในประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากปืนสูง แต่ว่าประมาณ 82% เป็นการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนที่ยิงออกมาจากปืนเถื่อน
“การนิรโทษกรรมปืนไม่ได้เป็นตัวแก้เป็นหาที่ถูกต้อง เพราะถ้าต้องการลดจำนวนปืนลง แต่การนิรโทษกรรมปืนเถื่อนจะทำให้จำนวนปืนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และการนิรโทษกรรมอาจเปิดช่องทางให้ผู้ผลิตปืนเถื่อนและผู้ซื้อปืนเถื่อนมีจำนวนมากขึ้น เพราะราคาที่ถูกกว่า โดยจะมีคนที่เห็นว่าถ้ารัฐบาลรับนิรโทษกรรมปืนเถื่อนแบบนี้ ก็หาช่องทางในการครอบครองปืนเถื่อนเพื่อมาเข้ารับการนิรโทษกรรมให้ปืนถูกกฎหมายได้ง่าย ๆ” ดร.ฐนันดร์ศักดิ์กล่าว
ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า จำนวนปืนไม่ได้สัมพันธ์กับการก่อเหตุ เพราะผู้ก่อเหตุไม่ได้ใช้ปืนถูกกฎหมาย แต่เป็นการใช้ปืนเถื่อนซึ่งหาซื้อหรือผลิตเองได้ง่ายและราคาถูก
“จริงที่ประเทศไทยสามารถครอบครองปืนได้ง่าย แต่ถ้าถามว่ามีความสัมพันธ์กับการก่อเหตุไหม ก็ต้องบอกว่าไม่สัมพันธ์กัน โดยสามารถเอาตัวเลขมายืนยันได้เลย…ถ้าจะควบคุมจริงต้องเอาข้อมูลมากางดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และพื้นที่ตรงไหนที่ควรอนุญาตให้มีปืน”
ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ เห็นว่า ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องปืนต้องเอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาดูให้หมดว่ามีปืนเท่าไหร่ มีปืนที่ใช้ก่อเหตุจำนวนเท่าไหร่ คนก่อเหตุเป็นคนส่วนไหน เพราะจากอะไร เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด “
ไม่ใช่เหวี่ยงแหอย่างการทำนิรโทษกรรมปืนเถื่อน ปัญหามันเป็นลูกโซ่ นี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา”
REUTERS
เหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู เมื่อ 6 ต.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 37 คน รวมผู้ก่อเหตุ
ประเมินสุขภาพจิต
ดร. กฤษณพงค์ เสนอแนะอีกหนึ่งขั้นตอนในการลดความเสี่ยงในการก่อความรุนแรงจากผู้ที่ครอบครองปืนคือการประเมินสุขภาพจิตก่อนได้รับใบอนุญาต ซึ่งในต่างประเทศจะมีขั้นตอนนี้ แต่ที่ไทยก็มีแต่น้อยมาก
“หนึ่งในหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาคือคนที่ทำเรื่องร้องขอต้องไม่มีสภาพการเป็นบุคคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน แต่ประเด็นคือในวันที่เขามายื่น เขามีสุขภาพจิตปกติ แต่เวลาผ่านไป 5-10 ปี อาจจะมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบจิตใจและทำให้เกิดความเครียดในขณะที่ครองครองอาวุธปืนอยู่ ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวและอาจนำปืนไปก่อเหตุความรุนแรงได้ ซึ่งในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องทำในหน้าที่การประเมินในระบบฐานข้อมูลตรงนี้ รวมถึงการประเมิน
สุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ” ดร. กฤษณพงค์อธิบาย
“เพราะฉะนั้นการเก็บข้อมูลจากความผิดแค่เล็กน้อยถือว่าจำเป็นต่อการป้องกันไม่ให้การกระทำความผิดเล็กน้อยกลายไปเป็นการทำข่าวผิดที่รุนแรงมากกว่าเดิม ซึ่งตรงนี้ประเทศไทยยังไม่มี”
บทความ ชัยยศ ยงค์เจริญชัย ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 12 พ.ย.65
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c90g359xnngo