ปัจจุบัน ภัยจากการรั่วไหลของข้อมูลมาเป็นอันดับต้น ที่เป็นปัญหาในเมืองไทยตอนนี้ก็คือภัยจากคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่ามาจากเจ้าหน้าที่รัฐแอบนำข้อมูลไปขาย ใหญ่กว่านั้นก็เป็นระดับภูมิภาคและประเทศ วันนี้มีการเก็บสะสมข้อมูลดีเอ็นเอและลักษณะทางชีวภาพของเผ่าพันธุ์ทั่วโลก บ้านเมืองใดไม่ระวังก็อาจจะเผชิญภัยด้านความมั่นคงได้ในอนาคต
เดือนตุลาคม 2018 พลตรีอีกอร์ คิริลอฟ ผู้บัญชาการของกองบัญชาการพิทักษ์ป้องกันด้านรังสี เคมี และชีวภาพของรัสเซีย เปิดโปงเครือข่ายห้องแล็บของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯที่มาตั้งอยู่ในพื้นที่หลายแห่งใกล้ชายแดนรัสเซียและจีน เพื่อเก็บข้อมูลสารพันธุกรรม (Deoxyribonucleic acid หรือ DNA) ของผู้คนเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ไม่ว่ารัสเซีย จีน คาซัค คีร์กีซ มองโกล ตาตาร์ ทาจิก อุซเบก ฯลฯ รัสเซียตั้งข้อสังเกตว่า การเข้ามาสะสมข้อมูลดีเอ็นเอของผู้คนจำนวนมาก สหรัฐฯ อาจจะเข้ามาสร้างอาวุธชีวภาพทำลายผู้คนทางแถบนี้ได้
หลังจากโซเวียตแตกเมื่อ ค.ศ.1991 สหรัฐฯ ก็พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนด้านการวิจัยทางชีวภาพกับอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตหลายแห่ง หนึ่งในหลายโครงการของสหรัฐฯก็คือ โครงการลดภัยคุกคามทางชีวภาพ นันน์-ลูการ์ สหรัฐฯ อ้างว่า โครงการนี้ป้องกันไม่ให้การพัฒนาอาวุธชีวภาพรั่วไหล แต่รัสเซียส่งคำเตือนไปยังสาธารณรัฐทั้งหลายมาโดยตลอด ว่าความร่วมมืออย่างนี้เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซียและเผ่าพันธุ์ในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง
สำนักงานการลดภัยคุกคามด้านกลาโหมของสหรัฐฯ ใช้เงินอีก 102 ล้านดอลลาร์สร้างห้องแล็บในอัลมาตี (อัลมา-อาตา) อดีตเมืองหลวงของคาซัคสถาน โดยใช้ชื่อห้องแล็บว่า CRL เป้าหมายก็คือเพื่อศึกษาป้องกันภัยคุกคามจาก WMD หรืออาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรง ซึ่งแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจขนาดใหญ่ของโลก (สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน)
สถาบันจุลชีววิทยาแห่งกองทัพเยอรมันเข้าไปตั้งห้องแล็บในคาซัคสถาน อ้างว่าเพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และประเทศอื่นสนใจเข้าไปเก็บข้อมูลทางชีวภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช ในคาซัคสถาน ความเชื่อส่วนตัวของผมและของชาวรัสเซียที่ผมรู้จักก็คือ สหรัฐฯและตะวันตกต้องการเก็บข้อมูลเพื่อออกแบบอาวุธชีวภาพที่ใช้ควบคุมผู้คนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะจีนและรัสเซีย ซึ่งมีศักยภาพที่จะผงาดมาแข่งขันกับสหรัฐฯและตะวันตก
การจลาจลในคาซัคสถานเกิดระหว่าง 2-11 มกราคม 2022 มีกลุ่มคนที่มีอาวุธครบมือไม่ระบุสังกัดและประเทศเข้าไปรายล้อมป้องกันห้องแล็บ CRL ในเมืองอัลมาตี โดยให้เหตุผลว่า เข้ามาคุ้มครองและป้องกันจุลชีพก่อโรคที่มีอันตรายรั่วไหลและปกป้องความลับทางดีเอ็นเอ
การตรวจดีเอ็นเอของผู้คนในประเทศใดประเทศหนึ่ง ต้องเป็นความลับของประเทศนั้นๆ หากข้อมูลดีเอ็นเอตกไปอยู่ในอุ้งมือ ของประเทศที่ไม่หวังดี ก็มีโอกาสที่จะเป็นอันตรายต่อทั้งบุคคลเจ้าของดีเอ็นเอและเผ่าพันธุ์โดยรวม อนาคต อาจมีการนำความลับ จากข้อมูลดีเอ็นเอไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การแต่งงาน การเลือกคนเข้าร่วมงาน การเลือกคนเข้าสถาบันการศึกษา ฯลฯ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรง คนที่ไม่ระวังความลับทางดีเอ็นเอของตนเอง ที่ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ ทำให้เผ่าพันธุ์และประเทศมีความเสี่ยงและอาจจะเผชิญหายนะภัยอย่างคาดไม่ถึง
การจัดทำข้อมูลระบบสารพันธุกรรมหรือ DNA ในหลายประเทศทำกันอย่างเข้มงวด เริ่มแรกเก็บเฉพาะจากผู้ทำความผิดเกี่ยวกับเพศและความรุนแรงเพื่อป้องกันการหลบหนีและกระทำความผิดซ้ำ กระทั่ง ค.ศ.1994 สภาคองเกรสสหรัฐฯ ออกกฎหมายรับรองการเก็บดีเอ็นเอของผู้ต้องขังเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถกำกับ ดูแลพฤติกรรม และความเคลื่อนไหวของผู้ต้องขัง
เรื่องการเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมนี่น่าสนใจมากครับ หลายท่านอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความเชื่อส่วนตัวของผม ผมเชื่อว่าคนที่ปล่อยให้ข้อมูลดีเอ็นเอของตนเองลอยข้ามประเทศไปอยู่ในระบบข้อมูลของชาติอื่น โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจ จะเสียใจภายหลัง
พรุ่งนี้ขออนุญาตมารับใช้กันต่อครับ.
บทความโดย นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 7 พ.ย.65
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2545516