- สุนัขตำรวจหน่วย ‘K-9’ พร้อมอารักขาผู้นำระดับโลก ฝึกดมกลิ่นค้นหามานับปี เพื่อให้มีความแม่นยำมากที่สุด โดยคัดเลือก 19 ตัว สายพันธุ์อัลเซเชียน และลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ อายุ 3-4 ปี
- การฝึกแสนโหดต้องประเมินผลทุก 3 เดือน จำลองห้องประชุม รถยนตร์ผู้นำในสภาพจริง ให้เกิดความคุ้นเคย ไม่ตื่นกลัวเมื่อออกปฏิบัติหน้าที่
- ผู้ควบคุมสุนัขต้องรู้ตัวแปรเรื่องสภาพอากาศ หากลมแรง หรือร้อนเกินไป จะลดประสิทธิภาพการดมกลิ่น พร้อมแนะนำคนที่จะเข้ามาทักทายน้อง ไม่ให้รบกวนสมาธิขณะทำภารกิจ
การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022) ที่จัดระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ การอารักขาผู้นำระดับโลก นอกจากทีมการ์ดมืออาชีพ และเทคโนโลยีทันสมัยแล้ว สุนัขดมกลิ่นเป็นอีกทีมที่มีความสำคัญ
การฝึกฝน คัดสรรสายพันธุ์ กว่าจะออกมาปฏิบัติหน้าที่อารักขาผู้นำอย่างเข้มแข็งได้ สุนัขทั้ง 19 ตัว ซึ่งประกอบด้วยสายพันธุ์อัลเซเชียน และลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ อายุ 3-4 ปี ต้องผ่านการเขี้ยวกรำมานับปี ทั้งฝึกจำลองสถานการณ์จริง เผชิญเหตุร้ายในพื้นที่จริงร่วมกับผู้ควบคุมมาแล้วหลายงาน
หน่วย ‘K-9’ 19 ชีวิตพร้อมประจำการ
“พ.ต.ต.ภูวดล พลเดช” สารวัตรกองกำกับการสุนัขตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือหน่วย ‘K-9’ เล่าว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจอารักขาผู้นำในการประชุมเอเปค มีการฝึกซ้อมสุนัขในกองบังคับการเป็นประจำตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ เพื่อเตรียมพร้อมการปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดเวลา โดยภารกิจครั้งนี้รับผิดชอบการค้นหาวัตถุระเบิด เพื่อป้องกันเหตุร้าย
“สุนัขที่ปฏิบัติภารกิจในการประชุมครั้งนี้มีทั้งหมด 19 ตัว เป็นสายพันธุ์อัลเซเชียน และลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ขณะเดียวกันมีสายพันธุ์อื่นที่คอยเป็นกำลังเสริม หากสุนัขสายพันธุ์หลักมีอาการอ่อนล้า ซึ่งการเลือก 2 สายพันธุ์นี้มาปฏิบัติงานเป็นหลัก เพราะมีอุปนิสัยตื่นตัวในการปฏิบัติหน้าที่ เชื่อฟังและฝึกฝนได้ง่ายกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่น เพราะการค้นหาวัตถุระเบิด สุนัขต้องมีระเบียบวินัย มีสมาธิแน่วแน่ในการค้นหา”
สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากพื้นที่จัดงานค่อนข้างกว้าง ต้องพาน้องเดินลานตระเวนเป็นวงกว้างก่อน หากมีจุดต้องสงสัย ต้องนำสุนัขเข้าไปดมในระยะใกล้ ถ้ามีสิ่งผิดปกติจะส่งสัญญาณด้วยการนั่ง หรือหมอบ จากนั้นผู้บังคับสุนัขจะพามาในพื้นที่ปลอดภัย และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด เพื่อเข้าตรวจสอบวัตถุต้องสงสัย
สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญในการดมกลิ่นของสุนัขคือ สภาพแวดล้อม ตัวอย่างเช่น พื้นที่โล่ง อาจมีตัวแปรของทิศทางลมทำให้การดมกลิ่นตรวจสอบได้ยาก แต่ถ้าเป็นห้องที่มีการปิดมิดชิดจะทำให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการเข้าพื้นที่ ผู้ควบคุมสุนัขต้องคำนึงถึงตัวแปร และพยายามค้นหาวัตถุต้องสงสัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
แนวทางฝึกจำลองสถานที่เหมือนจริง
“พ.ต.ต.ภูวดล” กล่าวว่า การฝึกสุนัขต้องจำลองสถานที่จริง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย ตัวอย่างเช่น จำลองการค้นหาวัตถุต้องสงสัยภายในลานจอดรถ ส่วนรถที่ฝึกในการค้นหา ต้องเป็นรถลักษณะเดียวกับของผู้นำนานาประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ส่วนการจำลองสถานที่ประชุมต้องวางโต๊ะเก้าอี้ให้เหมือนสถานที่จริงมากที่สุด
อีกปัจจัยสำคัญเกิดจากอากาศที่ร้อนจัดในการปฏิบัติงาน ทางทีมงานได้พยายามแก้ปัญหาส่วนนี้ หากต้องค้นหาในพื้นที่ลานโล่ง จะให้สุนัขส่งสัญญาณความผิดปกติด้วยการยืนอยู่นิ่ง ๆ แทนที่จะนั่ง หรือหมอบในพื้นที่ซึ่งมีความร้อนจัด
ด้วยความที่ต้องปฏิบัติงานนอกสถานที่หลายวัน ทำให้ก่อนออกไปทำงานผู้ควบคุมสุนัขต้องตรวจสอบความพร้อมร่างกายของสุนัขทุกครั้ง เช่นเดียวกับอาหารที่ต้องนำไปให้สุนัขในการทำงานในพื้นที่ทุกครั้ง เพื่อให้น้องทำงานได้อย่างเต็มที่
สุนัขชุดนี้มีการปฏิบัติหน้าที่ตรวจหาวัตถุระเบิดอยู่เป็นประจำ จึงเชื่อมั่นได้ถึงความแม่นยำ เพราะต้องมีการประเมินการทำงานของสุนัขพร้อมทั้งผู้ควบคุมทุก 3 เดือน
“การคัดเลือกสุนัขที่นำมาฝึก มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ปกติอายุสุนัขที่นำมาใช้งานจะต้องไม่เกิน 8 ปี แต่กรณีการประชุมครั้งนี้จะใช้ช่วงอายุ 3-4 ปี ถือว่าเป็นช่วงวัยรุ่นที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ในทุกสถานการณ์ สำหรับประชาชนที่พบเห็นน้องในระหว่างทำงาน อยากให้สอบถามผู้บังคับสุนัขก่อนว่าสามารถจับน้องได้หรือไม่ เพราะบางครั้งน้องกำลังโฟกัสในการค้นหาอยู่ หากไปเล่นกับน้องในขณะนั้นจะทำให้เสียสมาธิในการปฏิบัติหน้าที่”
ภารกิจอารักขาผู้นำเอเปค การฝึกฝนเตรียมความพร้อม แสดงถึงศักยภาพในระดับโลกของสุนัขตำรวจ แม้ภารกิจครั้งนี้จะสร้างความเหนื่อยล้าให้กับเจ้าตูบ 4 ขาก็ตาม.
ผู้เขียน : ปักหมุด
——————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 11 พ.ย.65
Link : https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2550021