สภา ม.รามคำแหง ปลด “สืบพงษ์” พ้นอธิบการบดี-ปมใช้วุฒิปริญญาเอกปลอม พบอีกข้อกล่าวหาคัดลอกผลงาน ส่อขัดจรรยาบรรณทางวิชาการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เผยเเพร่เอกสารข่าว เรื่อง การเผยแพร่ผลงานซ้ำซ้อนและการมีชื่อในผลงานที่ตนไม่มีส่วนร่วมของอดีตอธิการบดี ใจความว่า ผู้ช่วยศาสตรจารย์ สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกตั้งข้อกล่าวหาเพิ่ม เกิดจากกรณีถูกกล่าวหาฝ่าฝืนจรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และมีพฤติกรรมในทางวิชาการที่ขัดต่อบทบัญญัติในกฎหมายและระเบียบหรือข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหงหลายกรรมหลายบทด้วยการคัดลอกผลงานตนเองและมีชื่อปรากฏในบทความทางวิชาการที่ตนเองไม่มีส่วนร่วม
ภายหลังจากที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์ถูกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงถอดถอนจากตำแหน่งอธิการบดีเมื่อวันที่ 8พฤศจิกายน 2565ด้วยข้อหาการใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากก.พ. ,การปกปิดหรือไม่รายงานต่อสภามหาวิทยาลัยกรณีการรับโอนทรัพย์สินจากนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติและต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาให้ทรัพย์ดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
ปรากฏว่าในการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง (วันที่ 21พฤศจิกายน 2565) สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้พิจารณารายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบความไม่ชอบด้วยกฏหมายฯ ที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์ กรณีเข้าข่ายการคัดลอกผลงานตนเองโดยไม่มีการอ้างอิงผลงานเดิมของตน
โดยคณะกรรมการได้สรุปว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูล โดยพิจารณาจากหลักฐานบทความทางวิชาการสองชิ้นของผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์ และคณะ ผลงานทางวิชาการทั้งสองชิ้นได้ถูกนำไปเผยแพร่ซ้ำซ้อนกันในวารสารทางวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับโดยไม่มีการอ้างอิง และมีเนื้อหาที่เหมือนกันกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ การเผยแพร่บทความในลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นการขัดต่อจรรยาบรรณทางวิชาการ ทำให้ผู้อื่นอาจเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่และทำให้เกิดปัญหาการอ้างอิงและส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางวิชาการ
คณะกรรมการตรวจสอบความไม่ชอบด้วยกฎหมายฯ ยังรายงานด้วยว่าพฤติการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อความไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์ ในการเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาเอกของคณะศึกษาศาสตร์ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2558
และประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2560ข้อ 5.1.4(1) ที่ระบุว่า “ต้องมีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตน และไม่ลอกเลียนผลงานของผู้อื่น ไม่นำผลงานของตนเองในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับ รวมถึงไม่คัดลอกข้อความใด ๆ จากผลงานเดิมของตน โดยไม่อ้างอิงผลงานเดิมตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ ในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นผลงานใหม่”
นอกจากนั้น การกระทำของผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์ ยังขัดต่อข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยจรรยาบรรณข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2551 ข้อ 4.2 ข้อ 5.2 และข้อ 5.7 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำของผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์ มีผลกระทบต่อผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของหลักสูตรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย
“พฤติการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์เป็นผู้ที่ขาดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้บริหาร เนื่องจากข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยคุณสมบัติ และคุณสมบัติต้องห้ามของผู้บริหาร พ.ศ. 2562 ข้อ3 กำหนดไว้ว่า “ผู้บริหารควรยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม ความถูกต้องและความเป็นธรรมในสังคม ยึดถือผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย เหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน”
ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญชาล ทองประยูร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำเเหงเกี่ยวกับรายงานดังกล่าว โดยรักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำเเหงชี้เเจงว่า “สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงอย่างเต็มที่ และสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นพยานเอกสารที่มีความชัดเจนในแง่ของหลักฐาน “
“เรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญในทางวิชาการ ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องร้ายแรง หากเป็นนักศึกษาหรืออาจารย์ก็จะถูกไล่ออก กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับนักวิชาการและนักวิจัยที่ต้องมีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ถ้าจะไห้ยกตัวอย่างเทียบเคียง เรื่องแบบนี้ก็คล้าย ๆ กับนักศึกษาทำรายงานชิ้นเดียว แต่ส่งอาจารย์สองวิชา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง” รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำเเหงกล่าว
แหล่งข่าวจากสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบการคัดลอกผลงานตนเอง และการมีชื่อปรากฏในผลงานทางวิชาการโดยที่ตนไม่มีส่วนร่วม ได้มีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยได้รับเรื่องร้องเรียนมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ผู้ร้องเรียนได้ส่งหลักฐานเอกสารทางวิชาการให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณา ชิ้นหนึ่งเป็นภาษาไทย อีกชิ้นหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ บทความทั้งสองชิ้นถูกเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับ และมีการสลับชื่อผู้เขียนบทความในเอกสารทางวิชาการที่เป็นภาษาไทย
รวมทั้งมีการดัดแปลงชื่อเรื่องเพื่อให้ดูประหนึ่งว่าเป็นผลงานที่ต่างกันทั้ง ๆ ที่เนื้อหาเหมือนกันกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ 2 ชุด โดยกรรมการทั้งสองชุดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีชื่อเสียงจากต่างสถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
“คณะกรรมการทั้งสองชุดมีความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์ จึงได้เสนอรายงานดังกล่าวให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณา” แหล่งข่าวระบุ
———————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 25 พ.ย.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/news/1039946