เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยรับชมการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่มีหนูเป็นตัวเอก บอกเล่าเรื่องราวการผจญภัยมาไม่น้อย เราทราบดีว่าโดยมากเนื้อหาเหล่านั้นเกิดจากจินตนาการ แต่ล่าสุดอาจต้องเปลี่ยนความคิดเมื่อมีการฝึกใช้หนูในการกู้ภัย
เมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิตประเภทหนู คนส่วนใหญ่อาจขยะแขยงไปบ้าง ด้วยรู้ว่านี่คือหนึ่งในศัตรูตัวร้ายของห้องครัวและอาหารในบ้าน หลายครั้งก็สร้างความเสียหายแก่ข้าวของเครื่องใช้ แม้มีบางส่วนถูกดูแลในฐานะสัตว์เลี้ยงอยู่บ้างแต่ถือว่าเป็นส่วนน้อย ความรู้สึกคนส่วนใหญ่ต่อหนูจึงไปในแนวทางสิ่งก่อความรำคาญมากกว่า
แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจต้องเปลี่ยนความคิด เมื่อปัจจุบันเริ่มมีการฝึกหนูให้ใช้งานในการกู้ภัย
หน่วยกู้ภัยตัวจิ๋วกับอรรถประโยชน์ที่คาดไม่ถึง
หลายท่านย่อมคุ้นเคยกับหนูในฐานะตัวละครในสื่อประเภทต่าง ๆ ทั้งในแง่ความซุกซน แสนรู้ และคล่องแคล่ว แต่เราต่างทราบดีว่าสิ่งที่พบเห็นบนหน้าจอเป็นเพียงเรื่องแต่ง หนูที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันไม่ได้น่ารักแบบนั้นแต่ทั้งอันตรายและสกปรก จนหลายท่านอาจรู้สึกว่าการฝึกพวกมันมาใช้งานเป็นเรื่องแปลกไปบ้าง
แต่มันกำลังเกิดขึ้นแล้วจริงเมื่อมีการฝึกให้พวกมันถูกใช้งานในการกู้ภัยภายใต้สถานการณ์อาคารถล่ม
แนวคิดนี้เกิดจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของเบลเยี่ยม Apopo ในการฝึกหนูเพื่อให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทำหน้าที่มุดเข้าไปสำรวจตามพื้นที่ซากปรักหักพังในกรณีแผ่นดินไหวหรือพายุถล่ม โดยจะทำการส่งหนูเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมติดตั้งอุปกรณ์เพื่อรองรับการค้นหา
คุณสมบัติเด่นทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นคือ อุปนิสัยของหนูที่ชอบการผจญภัยและซอกซอนเข้าพื้นที่ขนาดเล็กได้ดี รวมถึงประสาทในการรับกลิ่นยอดเยี่ยมช่วยให้ระบุตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ได้แม่นยำ ทำให้หนูกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดในการเข้าไปสู่พื้นที่ประสบภัย
ขั้นตอนการทำงานของหนูกู้ภัยคือ เมื่อเกิดภัยพิบัติจะมีการส่งหนูเข้าไปในพื้นที่ทำการค้นหาผู้รอดชีวิต เมื่อมีการค้นพบผู้รอดชีวิตหนูจะดึงอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้บนตัว ประกอบไปด้วยกล้อง ไมโครโฟน และเครื่องส่งสัญญาณ เพื่อช่วยในการระบุตำแหน่งของผู้ประสบภัยคนดังกล่าว เมื่อการส่งข้อมูลเสร็จสิ้นหนูจะกลับไปที่ฐานเพื่อรับของรางวัลต่อไป
ความท้าทายของเทคโนโลยีและการฝึกสัตว์
ถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจยังกังขาในประสิทธิภาพการทำงานของหนูกู้ภัยนี้ ทั้งการให้มันรับหน้าที่สำคัญอย่างค้นหาผู้ประสบภัยจะทำได้ถูกต้องหรือไม่? รวมถึงอุปกรณ์ที่ตั้งจะทำงานได้ดีเพียงไร? ด้วยนี่เกี่ยวพันถึงชีวิตคนที่ตกอยู่ในห้วงเวลาวิกฤต หากมีข้อผิดพลาดอาจไม่เหลือเวลาให้แก้ตัวอีก
นี่เป็นเหตุให้การฝึกหนูเพื่อใช้ในการกู้ภัยทวีความซับซ้อน เริ่มจากสายพันธุ์หนูที่ใช้งานคือ หนูยักษ์แอฟริกา ซึ่งมีอายุขัยเฉลี่ยราว 8 ปี ขั้นตอนการฝึกหนูคือ ตั้งแต่แรกเกิดหนูจะได้สัมผัสภาพ, เสียง, สภาพแวดล้อม และผู้คนหลากหลายรูปแบบ โดยต้องเข้ารับการฝึก 5 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลานานถึง 12 เดือน จึงจะพร้อมสำหรับปฏิบัติการกู้ภัย
การฝึกฝนต้องเป็นไปอย่างเข้มงวดเพื่อให้หนูคุ้นเคยกับสถานการณ์หลากหลายรูปแบบ สามารถรับมือและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี ขณะเดียวกันก็ไม่ควรบีบคั้นเกินไปเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดไม่ให้สูงเกิน เป็นเหตุให้การเตรียมความพร้อมสำหรับการกู้ภัยแก่หนูต้องใช้เวลานาน
อีกส่วนที่ต้องทุ่มเทการพัฒนาไม่แพ้กันคืออุปกรณ์สำหรับให้หนูใช้ส่งสัญญาณ อุปกรณ์หน้าตาคล้ายกระเป๋าเป้ที่ติดอยู่บนหลังคืออุปกรณ์ใช้ในการส่งสัญญาณเมื่อพบผู้ประสบภัย แก้ไขข้อจำกัดการส่งสัญญาณที่มักถูกรบกวนด้วยเศษซากปรักหักพังของอาคาร รวมถึงต้องย่อขนาดให้เล็กที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่หนูที่ทำการค้นหาผู้รอดชีวิต
ปัจจุบันอุปกรณ์ส่งสัญญาณและติดต่อสื่อสารเพื่ออาศัยอุปกรณ์แบบเดียวกับนักดับเพลิงในปัจจุบัน ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อย่อขนาดและน้ำหนักจนมีความกว้างเพียง 10 เซนติเมตร ลึก 4 เซนติเมตร และมีน้ำหนักอยู่ที่ 140 กรัม เพื่อให้หนูกู้ภัยสามารถแบกไว้บนหลังแล้วเคลื่อนไหวไปมาโดยไม่เป็นภาระ
ปัจจุบันหนูกู้ภัยอยู่ในขั้นตอนการฝึกฝนเพื่อรับมือได้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นการฝึกรับมือเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตในอาคารขนาดใหญ่ถล่ม เมื่อแน่ใจว่าหนูในการฝึกสามารถรับมือเหตุการณ์ซับซ้อนรวมถึงสภาพแวดล้อมหลากหลายยิ่งขึ้น ก็อาจมีการผลักดันให้ใช้งานในสถานการณ์จริงต่อไป
ไม่ได้จำกัดแค่กู้ภัยแต่กำลังถูกใช้งานอีกหลายแนวทาง
นอกจากกู้ภัยแล้วยังมีอีกสองโครงการซึ่งจะใช้หนูเป็นแกนสำคัญ หนึ่งคือการตรวจจับวัณโรค อาศัยการฝึกเป็นเวลานาน การดูแลสุขภาพ สร้างความคุ้นเคยต่อฝูงชนและชีวิตประจำวันของคนเรา จากนั้นจึงให้หนูกลุ่มนี้เข้ามาตรวจสอบเสมหะของผู้ป่วยว่า มีการติดเชื้อวัณโรคหรือไม่ หากค้นพบก็ให้หนูเข้ามากดปุ่มที่กำหนดแล้วจะได้รับรางวัลเป็นอาหาร
อีกหนึ่งโครงการคือ การใช้หนูเพื่อตรวจจับวัตถุระเบิด ช่วยให้สามารถใช้ในการตรวจค้นไปจนถึงกู้ภัย โดยการใช้งานหนูจะช่วยประหยัดงบประมาณบำรุงรักษากว่าสุนัขตำรวจ อีกทั้งยังให้หนูสามารถเข้าไปตรวจสอบทุ่นระเบิดรูปแบบต่างๆ ได้โดยไม่เป็นอันตราย เพราะน้ำหนักตัวของหนูน้อยเกินกว่าจะกระตุ้นกลไกการทำงานของกับระเบิดได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและทำให้ผู้คนในพื้นที่สงครามกลับสู่บ้านเกิดได้เร็วยิ่งขึ้น
ถึงตรงนี้สำหรับท่านที่รักสัตว์อาจพากันตั้งคำถามว่า การใช้งานหนูทำงานเหล่านี้ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ ซึ่งทางผู้ทดลองออกมายืนยันว่าไม่เป็นแบบนั้น หนูที่ผ่านการฝึกล้วนได้รับการดูแลเอาใจใส่, ได้กินอาหารดีมีประโยชน์, ถูกเลี้ยงดูอย่างถูกสุขลักษณะ, ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับฝูง อีกทั้งยังมีการดูแลอย่างดีสำหรับหนูที่เกษียณการทำงานอีกด้วย
ทั้งหมดเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับหนูที่ปฏิบัติงานและสามาถเข้าช่วยเหลือมนุษย์ได้อย่างเต็มที่
แน่นอนว่าโครงการทั้งหมดนี้ยังอยู่ในขั้นทดลองจำเป็นต้องผ่านบททดสอบอีกหลายอย่าง เพื่อให้โครงการนี้สามารถเข้าช่วยเหลือผู้คนได้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อการใช้งาน แต่เมื่อใดก็ตามที่หนูกู้ภัยสามารถนำมาใช้งานได้ คาดว่าเราอาจช่วยชีวิตคนได้อีกมาก
ไม่แน่ว่าในอนาคตหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จเราอาจได้เห็นภาพยนตร์หนูกู้ภัยก็เป็นได้
บทความโดย เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช
ที่มา
https://edition.cnn.com/2022/10/24/world/search-and-rescue-rats-apopo-hnk-spc-intl/index.html
https://interestingengineering.com/innovation/rats-with-backpacks
https://apopo.org/herorats/?v=5b79c40fa7c2
—————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 2 พ.ย.65
Link : https://www.posttoday.com/post-next/innovation/687262