“Merriam-Webster” พจนานุกรมเก่าแก่ของสหรัฐ เพิ่ม “ศัพท์ใหม่” ลงฐานข้อมูลกว่า 370 คำ ขณะที่ “Collins English Dictionary” ยกให้ “Permacrisis” เป็น “คำแห่งปี”
ภาษาเป็นสิ่งที่มีมนุษย์ใช้สื่อสารกันอยู่ทุกวัน แน่นอนว่าภาษาย่อมมีหลายระดับ มีหลากหลายความหมาย ขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ที่ต้องการสื่อความหมาย อีกทั้งเมื่อวันเวลาผ่านไป ภาษาได้เติบโตและมีการเปลี่ยนแปลง เกิด “คำศัพท์” ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำแสลง คำย่อ คำทับศัพท์ หรือคำที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ใช้สำหรับการสื่อสารให้เข้าใจกันภายในกลุ่ม แต่หลายคำก็ถูกนำไปใช้ในวงกว้าง และกลายเป็นคำฮิตในช่วงเวลานั้น ๆ
เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ตรงกัน มนุษย์จึงได้จัดทำพจนานุกรม หรือ Dictionary ขึ้นมา รวบรวมคำศัพท์และความหมาย ซึ่งจำเป็นต้องมีการอัปเดตคลังคำศัพท์อยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ทันต่อคำศัพท์ใหม่ที่มนุษย์คิดค้นใหม่แทบทุกวัน แต่ไม่ใช่ทุกคำที่จะสามารถเข้ามาอยู่ในพจนานุกรมได้ คำเหล่านี้จะต้องเป็นคำที่ผู้คนใช้กันอย่างแพร่หลาย และถูกใช้งานอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
คำศัพท์ใหม่ในพจนานุกรมสหรัฐ
ล่าสุด เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา Merriam-Webster ผู้จัดทำหนังสืออ้างอิงและพจนานุกรมที่เก่าแก่ของสหรัฐได้อัปเดตคลังคำศัพท์ใหม่จำนวน 370 คำ แบ่งออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ 1.ศัพท์ธุรกิจและเทคโนโลยี 2.ศัพท์โลกเสมือน 3.ศัพท์ธรรมชาติ 4.ศัพท์นอกโลก 5.แสลงและภาษาที่ไม่เป็นทางการ 6.ศัพท์การทำงาน การเงินและธนาคาร 7.ศัพท์สุขภาพ 8.ศัพท์เกม และ 9.ชื่ออาหาร
กรุงเทพธุรกิจเลือกบางคำจากจำนวนทั้งหมด 370 คำ ที่น่าสนใจมานำเสนอ และน่าจะได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีดังนี้
(น.) = คำนาม, (ก.) = คำกริยา, (ว.) = คำวิเศษ
Baller (ว.): ยอดเยี่ยม น่าตื่นเต้น หรือไม่ธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตที่หรูหรา อู้ฟู่
Hoglet (น.): ลูกเฮดจ์คอก สัตว์ชนิดหนึ่งที่คล้ายเม่น
Lawk (น.) = ดูทันสมัย โดดเด่นสำหรับผู้สวมใส่ และเป็นที่สังเกต และน่าจดจำสำหรับผู้อื่น
LARP (น.): ย่อมาจาก live action roleplay, เกมที่ผู้เล่นจำลองสถานการณ์แฟนตาซีเหนือจินตนาการ
Level up (น.): ก้าวหน้าหรือพัฒนาตนเองเหมือนกับว่าคุณกำลังเล่นเกมแล้วผ่านด่าน
Metaverse (น.): จักรวาลนฤมิต, เมตาเวิร์ส, สภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง
Pwn (ก.) = ครอบครองและกำจัด มักใช้ในเกม ออกเสียงเหมือนคำว่า “own”
Sus (ว.) = น่าสงสัย ย่อมาจากคำว่า suspicious หรือ suspect
Yeet (น.) = การแสดงออกถึงความประหลาดใจ ความเห็นชอบ หรือความกระตือรือร้นอย่างตื่นเต้น
Yeet (ก.) = ขว้างสิ่งของด้วยกำลังและไม่คำนึงถึงสิ่งที่ถูกขว้างออกไป
นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์บางคำที่นิยมใช้กันมาหลายสิบปีแล้ว (จนเลิกฮิตไปแล้ว) แต่ก็พึ่งถูกบรรจุเข้าในพจนานุกรมเล่มนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “adorkable” (ว.) แปลว่า เฉย เฉิ่ม แต่น่ารัก ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2554 ในการโปรโมทซิตคอมเรื่อง “New Girl” ขณะที่ Janky (ว.) ที่แปลว่า มีคุณภาพต่ำมาก หรือทำงานไม่ถูกต้อง ก็เป็นคำที่เด็กมัธยมนิยมใช้มาหลายปีแล้ว เช่นเดียวกับคำว่า “cringe” (ว.) ที่เพิ่งจะถูกเพิ่มความหมายที่แปลว่า ที่น่าอาย อิหลักอิเหลื่อ เข้ามา หลังจากถูกใช้มานานแล้ว
อ่านคำอื่น ๆ ที่พึ่งเพิ่มในพจนานุกรมได้ที่นี่
คำแห่งปี 2022 (Word of The Year 2022)
ในวงการภาษา ผู้จัดทำหนังสืออ้างอิงและพจนานุกรม มีธรรมเนียมหนึ่งที่ปฏิบัติกันในทุกปี แต่ละสำนักจะเลือก “คำแห่งปี” หรือ Word of The Year ขึ้นมาหนึ่งคำ ซึ่งจะเป็นคำที่ถูกพูดถึงหรือแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีนั้น ๆ
การคัดเลือกคำแห่งปีนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในเยอรมนีตั้งแต่ปี 2514 ก่อนที่จะแพร่ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ สำหรับคำแห่งปีในภาษาอังกฤษนั้นเริ่มต้นโดย สมาคมภาษาถิ่นอเมริกัน หรือ ADS (American Dialect Society) ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะประกาศคำแห่งปีในช่วงปีใหม่ของปีถัดไป
นอกจาก ADS แล้ว ก็ยังมีองค์กรอื่น ๆ ที่ทำการคัดเลือกคำแห่งปี ไม่ว่าจะเป็น Oxford University Press ผู้จัดทำ Oxford English Dictionary พจนานุกรมที่ใช้กันทั่วโลก Merriam-Webster ที่กล่าวไปข้างต้น และ Collins English Dictionary ที่จัดทำโดย HarperCollins หนึ่งในห้าสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แต่ละองค์กรได้ทยอยปล่อยคำแห่งปีในปีนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย Collins English Dictionary เจ้าแรกที่ประกาศมาแล้ว ซึ่งได้เลือกคำว่า “Permacrisis” ที่มีความหมายว่า ระยะเวลาอันยาวนานของความไม่มั่นคงและไม่มีเสถียรภาพ (an extended period of instability and insecurity)
Collins ระบุสาเหตุที่ได้เลือกคำนี้ เนื่องจากเป็นคำที่สามารถสรุปเหตุการณ์ในรอบปี 2565 ได้อย่างชัดเจน และแสดงให้เห็นว่าปีนี้เลวร้ายกับผู้คนจำนวนมากเพียงใด นอกจากนี้แล้วยังมีอีก 9 คำที่ Collins ได้เลือกมาเพื่อแทนภาพของปี 2565 ประกอบไปด้วย
1. Partygate สะท้อนถึงการฝ่าฝืนกฎหมายในช่วงล็อกดาวน์ของ บอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทั้งที่ตนเองเป็นผู้ออกกฎหมายจนทำให้หลายคนต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ตนเองกลับละเมิดเสียเอง
2. Kyiv ชื่อเมืองหลวงของยูเครน เป็นเป็นสัญลักษณ์แสดงจุดยืนของประเทศในการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย
3. Warm Bank หมายถึงพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องสมุดสาธารณะ หรือสถานที่ทางศาสนาที่เปิดให้ผู้ไร้บ้านหรือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยหนาวเข้าพักพิง หลังจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
4. Quiet Quitting เทรนด์การทำงานยุคหลังโควิด-19 ที่ทำตามเฉพาะงานภายใต้ขอบเขตการรับผิดชอบเท่านั้นและไม่ทำมากกว่านั้น
5. Vibe Shift คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเทรนด์และวัฒนธรรม
6. Carolean หมายถึง ยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรที่ขึ้นครองราชย์หลังจาก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต
7. Lawfare มีความหมายถึงการใช้กลยุทธ์ผ่านกระบวนการทางกฎหมายเพื่อข่มขู่หรือขัดขวางคู่ต่อสู้
8. Splooting เป็นท่าทางการนอนราบของสัตว์สี่ขาบนพื้น เพื่อเป็นการคลายร้อน เช่น สุนัข แมว วัว หมีขั้วโลก และกระรอก กระจายไปทั่วโซเชียลมีเดียตลอดปี
9. Sportswashing เป็นคำศัพท์ที่ใช้สำหรับองค์กรและประเทศที่ใช้กิจกรรมกีฬาหันเหความสนใจจากนโยบายที่ไม่เป็นที่ยอมรับ เช่น กาตาร์ เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 ที่เริ่มต้นในเดือนนี้ หลังจากมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานข้ามชาติ การเหยียดเพศ และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก
อเล็กซ์ บีครอฟต์ กรรมการผู้จัดการของคอลลินส์ เลิร์นนิ่ง กล่าวว่า คำศัพท์ทั้ง 10 คำนี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน
“ภาษาสามารถสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมโลก ผู้คนต่างใช้ชีวิตอย่างวิตกกังวลในสถานการณ์อันเลวร้ายที่คาดการไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น Brexit การระบาดของโควิด-19 สภาพอากาศเลวร้าย สงครามในยูเครน ความไม่มั่นคงทางการเมือง พลังงานที่มีจำกัด และวิกฤติค่าครองชีพ” บีครอฟต์กล่าวปิดท้าย
ที่มา: CNN, The Guardian, Washington Post
——————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 8 พ.ย.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1036576