หลังยุคโควิด ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังก้าวสู่ช่วงเทศกาลประเพณีและงานรื่นเริงเฉลิมฉลองของประชาชน และยังเป็นช่วงไฮซีซั่นของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สนามบินสุวรรณภูมิแน่นขนัดด้วยนักท่องเที่ยวขาเข้าที่มุ่งมาเที่ยวไทย ม.มหิดลจึงได้นำเทคโนโลยี Crowd Management มาใช้
นับจากนี้ต่อจากเทศกาลลอยกระทง เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน วาเลนไทน์ จนถึงงานประเพณีสงกรานต์ รวมทั้งการจัดอีเว้นท์ขนาดใหญ่กำลังจะกลับมา เช่น คอนเสิร์ตขนาดใหญ่ เทศกาลดนตรี การจัดแข่งขันกีฬา เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดหมายทางการตลาดและฐานแฟนคลับของศิลปินและนักกีฬานานาประเทศ ยังไม่รวมงานประเพณีท้องถิ่น จึงมีคำถามว่า เราจะจัดการฝูงชนให้ปลอดภัยอย่างไร? คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล มีข้อเสนอแนะ เพื่อมิให้ซ้ำรอยโศกนาฏกรรมอิแทวอน ในเกาหลีใต้ที่เป็นข่าวสะเทือนใจคนทั่วโลก
ผศ.ดร.วรากร เจริญสุข รักษาการหัวหน้าภาควิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า งานรื่นเริงฉลอง Halloween คืนวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ในย่านบันเทิง ‘อิแทวอน’ ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้ผ่อนคลายมาตรการไม่บังคับสวมหน้ากากอนามัยครั้งแรกหลังจากระยะ 2 ปีของวิกฤติโควิด-19 ทำให้ผู้คนกว่า 1 แสนคน ทะลักเข้าสู่ย่านอิแทวอน และกลายเป็นฝูงชนเบียดอัด ที่เรียกว่า Crowd Crush หรือ Crowd Surge บริเวณจุดที่เกิดเหตุที่สามแยกในซอยแคบซึ่งเป็นทางลาด กว้างเพียง 4 เมตร ยาว 40 เมตร ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินอิแทวอน แรงผลักดันของฝูงชนทำให้ผู้ประสบเหตุถูกเบียดอัดแขน ขา ร่างล็อคติดแน่นจากการล้มทับกันเป็นโดมิโน เสียชีวิตกว่า 150 ราย จากภาวะขาดออกซิเจนโดยทรวงอกถูกกดทับ (Compressive Asphyxia) หรืออัดกำแพงทำให้ทรวงอกขยายไม่ได้จึงหายใจเข้าออกไม่ได้ ไม่ใช่การตายจากวิ่งหนีเหยียบทับกัน (Stampede)
ข้อแนะนำสำหรับผู้มางานอีเว้นท์ขนาดใหญ่
– สังเกตและจดจำทางเข้า-ออกมีกี่ทาง และจุดอื่นๆที่ช่วยเพิ่มโอกาสรอด เช่น พื้นที่สูงที่สามารถปีนได้ นึกถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมนั้นเสมอ
– หากรู้สึกไม่ปลอดภัย ให้หาทางถอยออกจากเหตุการณ์นั้น ไม่ดันทุรังเดินหน้าต่อ ซึ่งอาจจะทำให้ถลำและหนีออกมาไม่ได้
– เมื่อรู้สึกว่าคนเริ่มแน่น จนเราไม่สามารถยกมือขึ้นจากข้างลำตัวมาแตะที่ใบหน้าเราเองได้ เป็นตัวบ่งชี้ว่าเสี่ยงที่จะเกิด Crowd Crush ได้ ยิ่งหากมีการดันก็จะล้มทับต่อกันเป็นโดมิโนได้ให้มีสติเสมอ อย่าเมามายจนเกินไป และไม่ตื่นตระหนก
– ในฝูงชนที่เริ่มแน่น ให้ยืนแยกขาออกห่างอย่างมั่นคง ยกแขนขึ้นในท่าตั้งการ์ดของนักมวยเพื่อให้มีช่องว่างด้านข้างตัวและด้านหน้าทรวงอกป้องกันแรงปะทะ เพื่อให้กล้ามเนื้อกระบังลมและปอดยังทำงานได้
– เลี่ยงหิ้วของพะรุงพะรัง ในช่วงวิกฤติให้รักษาชีวิตสำคัญกว่าสิ่งของที่ตกพื้น หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บริเวณกำแพง รั้ว หรือเสา เพราะอาจโดนแรงอัดอย่างรุนแรงได้
– อย่าสวนแรงฝูงชนที่ถาโถม หรือพุ่งไปด้านหน้าตรงๆเพราะอาจถูกแรงกระทำให้ล้มได้ วิธีที่ถูกต้องคือ เคลื่อนที่เป็นแนวทแยงเฉียงออกจากศูนย์กลางของแรงไปด้านข้าง
– เคลื่อนไหวและล้มให้ถูกวิธี เมื่อล้มลงอย่าแผ่ตัวนอนคว่ำ หรือนอนหงายเพราะน้ำหนักอีกหลายคนที่อาจจะทับตัวเราจะอัดอวัยวะร่างกายจนทำงานไม่ได้ โดยให้นอนตะแคงงอเข่าในท่าคุดคู้ มือป้องศีรษะให้ศอกกับเข่าติดกัน เพื่อป้องกันการกระแทกและยังพอมีช่องว่างให้หายใจ
—————————————————————————————————————————————-
ที่มา : Springnews / วันที่เผยแพร่ 8 พ.ย.65
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/832003