– เปรูเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ล่าสุดประธานาธิบดีถูกถอดออกจากตำแหน่ง ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีคนใหม่ก็ถูกประท้วงต่อต้านอย่างหนัก
– ชนวนของเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากอดีตประธานาธิบดี เปโดร กาสติลโล พยายามยุบสภาที่ฝ่ายค้านครองเสียงข้างมาก เพื่อตั้งรัฐบาลฉุกเฉินเพื่อให้ได้อำนาจบริหารเต็มที่
– การประท้วงในเปรูเริ่มบานปลาย เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจจนมีคนตาย รัฐบาลพยายามหาทางความคุมสถานการณ์ สุดท้ายก็ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน
เปรูอยู่ในสภาพปั่นป่วน เพราะความยุ่งเหยิงทางการเมืองมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศไปแล้วหลายคน ท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวมากมายและการสืบสวนคดีคอร์รัปชัน แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขากำลังเผชิญเหตุวุ่นวายที่อาจเป็นครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
เมื่อ 7 ธ.ค. รัฐสภาเปรูมีกำหนดการลงมติว่าจะถอดถอนประธานาธิบดี เปโดร กาสติลโล ซึ่งกำลังถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชันหรือไม่ แต่นายกาสติลโลกลับพยายามขัดขวางการโหวต ด้วยการประกาศยุบสภาคองเกรส และตั้งรัฐบาลฉุกเฉินขึ้นมา
การกระทำของกาสติลโลสร้างความตกตะลึงให้แก่ทุกฝ่ายรวมทั้งพันธมิตรของเขา และถูกประณามอย่างรวดเร็วว่าเป็นความพยายามก่อรัฐประหาร แต่ในวันเดียวกันนั้น นายกาสติลโลก็ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและถูกจับกุม น.ส.ดีนา โบลูอาร์เต รองประธานาธิบดี ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ผู้นำหญิงคนแรกของเปรู
อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้สนับสนุนนายกาสติลโล ออกมาชุมนุมประท้วงในหลายเมือง เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ก่อนเหตุการณ์จะลุกลามบานปลายเป็นความรุนแรงภายในไม่กี่วันต่อมา เมื่อผู้ประท้วงบางกลุ่มก่อเหตุโจมตีสถานีตำรวจ, สนามบิน และโรงงานต่างๆ เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่และทำให้มีผู้เสียชีวิต
ล่าสุดทางการเปรูต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อหาทางควบคุมเหตุความไม่สงบ และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า ความวุ่นวายทางการเมืองนี้จะจบลงอย่างไร
เปโดร กาสติลโล อดีตประธานาธิบดีเปรู
เปโดร กาสติลโล เป็นใคร?
นายกาสติลโล วัย 53 ปี ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีของเปรูเมื่อปีก่อน เขาเกิดในครอบครัวชาวไร่ยากจนและไม่รู้หนังสือ อาศัยอยู่ในชนบทที่ไม่มีระบบระบายน้ำและเข้าถึงระบบสาธารณสุขและโรงเรียนได้ยากลำบาก เขาขยันเรียนและอดทนจนกลายเป็นครูได้สำเร็จ แต่ก็ยังต้องทำไร่ต่อไปเพื่อให้มีรายได้พอจุนเจือครอบครัว
ต่อมากาสติลโลกลายเป็นนักเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน คอยช่วยเหลือจัดการประท้วงเรียกร้องให้ครูมีรายได้ที่ดีขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่โลกการเมืองในฐานะนักสังคมนิยม เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2564 โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ไม่พอใจสถาบันการเมืองในปัจจุบัน
นายกาสติลโลผู้วางตัวเป็นนักการเมืองมือสะอาดไม่เคยมีประวัติการทุจริต หาเสียงเลือกตั้งด้วยสโลแกน “ไม่มีคนจนในประเทศร่ำรวยอีกต่อไป” สัญญาจะพัฒนาเศรษฐกิจและลดปัญหาความไม่เท่าเทียมเรื้อรัง แต่หลังจากได้รับชัยชนะ เขาก็ตกเป็นข่าวอื้อฉาวและถูกกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชันอย่างรวดเร็ว ขณะที่ทำตามที่สัญญาเอาไว้ไม่ได้หลายอย่าง
ผู้ประท้วงเดินขบวนบนถนนในเมืองอาเรกีปา เมื่อ 14 ธ.ค. 2565
ชนวนเหตุถอดถอนกาสติลโล
เนื่องจากขาดประสบการณ์ทางการเมืองและไม่มีเส้นสาย บวกกับอิทธิพลจากคู่แข่ง ทำให้นายกาสติลโลเผชิญการต่อต้านจากรัฐสภาที่ฝ่ายค้านครองเสียงข้างมาก
ตลอดการดำรงตำแหน่งราว 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา กาสติลโลปรับคณะรัฐมนตรีไปแล้ว 5 ครั้ง เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีถึง 5 คน และใช้รัฐมนตรีไปร่วม 80 คน ซึ่งบางคนถูกกล่าวหาว่าขาดทักษะหรือประสบการณ์ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง หลายคนถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชัน, ใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว และแม้แต่คดีฆาตกรรม
ตัวนายกาสติลโลเองก็ตกเป็นเป้าหมายการสืบสวนคดีอาชญากรรมถึง 6 คดี รวมถึงข้อกล่าวหาว่า เขาเป็นผู้นำองค์กรอาชญากรรมที่แสวงหากำไรจากการทำสัญญากับรัฐบาล และอ้างว่าเขาขัดขวางกระบวนการยุติธรรมหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งแน่นอนว่านายกาสติลโลปฏิเสธ ผู้สนับสนุนบางคนเชื่อว่าที่เป็นการสมคบคิดเพื่อล่มรัฐบาลของเขา
รัฐสภาเปรูพยายามถอดถอนนายกาสติลโลมาแล้ว 2 ครั้งในข้อหาขาดคุณสมบัติทางศีลธรรมแต่ไม่สำเร็จ และตัดสินใจจะโหวตครั้งที่ 3 หลังประธานาธิบดีเปรูขู่จะยุบสภา โดยไม่นานหลังจากนั้น นายกาสติลโลก็ประกาศยุบสภาถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ แต่ทหารกับตำรวจไม่เอาด้วย, รัฐมนตรีหลายคนประท้วงด้วยการลาออก, ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายโจมตีว่าการกระทำของเขานั้น ผิดกฎหมาย แม้แต่สหรัฐฯ ก็ร่วมแสดงความไม่เห็นด้วย
ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา สภาคองเกรสก็จัดประชุมฉุกเฉินและลงมติถอดถอนนายกาสติลโลออกจากตำแหน่ง น.ส.ดีนา โบลูอาร์เต สาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ส่วนอดีตผู้นำถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจในกรุงลิมา ก่อนที่วันต่อมาสำนักงานอัยการจะเปิดเผยว่า มีคำสั่งให้จับกุมนายกาสติลโลในข้อหาก่อปฏิวัติ และย้ายตัวเขาไปคุมขังที่ฐานทัพเรือชานเมืองหลวง
นายกาสติลโลยืนยันมาตลอดว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด โดยในการพิจารณาคดีครั้งที่ 2 เขากล่าวว่าถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม และยืนยันว่าจะไม่มีวันลาออกจากตำแหน่ง
อานิบัล ตอร์เรส อดีตนายกรัฐมนตรี (ซ้ายสุด) นั่งอยู่กับนายกาสติลโล ตอนอัยการรัฐเข้าควบคุมตัวเมื่อ 7 ธ.ค. 2565
ทำไมกาสติลโลประกาศยุบสภา?
สาเหตุที่การประกาศยุบสภาของนายกาสติลโลสร้างความตกตะลึงแก่ทุกฝ่ายนั้น เป็นเพราะเขารอดการลงมติถอดถอนมาแล้วถึง 2 ครั้ง และคาดกันว่าเขาจะรอดเป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากข้อหาขาดคุณสมบัติทางศีลธรรมนั้นคลุมเครือเกินไป
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า นายกาสติลโลอาจไม่ได้คิดเรื่องยุบสภามาตั้งแต่แรก เนื่องจากภาพของเขาขณะอ่านแถลงการณ์ยุบสภาแสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดและไม่มั่นใจ ขณะที่หนึ่งในที่ปรึกษาคนสนิทของเขา บอกกับสื่อชื่อดังของสเปนอย่าง เอล ปาอิส ว่า เขาไม่รู้เรื่องแผนยุบสภาของนายกาสติลโลเลย
บางคนตั้งทฤษฎีว่า ความคิดของนายกาสติลโลอาจได้รับอิทธิพลมาจากนาย อานิบัล ตอร์เรส นักกฎหมายผู้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนลาออกในวันที่ 24 พ.ย. โดยพวกเขาอยู่ด้วยกันตลอดทั้งตอนที่กาสติลโลอ่านแถลงการณ์ยุบสภา และตอนที่เขาถูกจับหลังจากนั้น
นอกจากนั้นยังมีสมมติฐานว่า นายกาสติลโลตัดสินใจยุบสภาเพื่อให้ได้อำนาจบริหารมาไว้ในมือ เพราะถึงแม้ว่าคะแนนนิยมของเขาจะต่ำ แต่ก็ยังสูงกว่ารัฐสภา เขาจึงตัดสินใจลงมือด้วยหวังว่า ชาวเปรูจะยอมรับรัฐบาลฉุกเฉินของเขามากกว่ารัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแต่แตกแยก
เกิดอะไรขึ้นในเปรู? ปธน.โดนถอดถอน-คนแห่ไล่ผู้นำใหม่
ผู้ชุมนุมปะทะตำรวจในกรุงลิมา เมื่อ 12 ธ.ค. 2565
ประชาชนเดือดดาลลุกฮือประท้วง
หลังจาก น.ส.โบลูอาร์เต รับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 7 ธ.ค. ก็เกิดการประท้วงเล็กๆ ขึ้นในกรุงลิมาและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ จากนั้นการประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจจนมีผู้เสียชีวิต 6 ศพ เจ้าหน้าที่บาดเจ็บไปอีกนับร้อยนาย
การประท้วงได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดในประเทศ, สมาคมชนพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และองค์กรผู้แทนชาวไร่ยากจนอีกมากมาย ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สนับสนุนนายกาสติลโล ซึ่งรู้สึกเหมือนถูกปล้นคะแนนโหวตของพวกเขาไป
ผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีการยุติการปฏิบัติหน้าที่ของสภาคองเกรส, ร่างธรรมนูญใหม่ และจัดการเลือกตั้งใหม่ในทันที ขณะที่บางคนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายกาสติลโล กล่าวหานักการเมืองผู้มีอำนาจว่า กำลังผลักนายกาสติลโลให้ฆ่าตัวตายทางการเมือง และสถาบันนี้ไม่เคยเปิดโอกาสให้เขาบริหารสำเร็จ
น.ส.ดีนา โบลูอาร์เต ประธานาธิบดีคนใหม่ของเปรู
ตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉิน
ประธานาธิบดีโบลูอาร์เตพยายามลดความไม่พอใจของผู้ชุมนุมด้วยการออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์เมื่อ 12 ธ.ค.ว่า เธอเตรียมยื่นญัตติต่อสภาคองเกรส เพื่อเสนอให้จัดการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนเมษายน 2567 แทนกำหนดการเดิมในเดือนเมษายน 2569 นอกจากนั้นจะเสนอให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหลายข้อ เพื่อให้ระบบของรัฐสภามีประสิทธิภาพ, โปร่งใส และประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของโบลูอาร์เตดูจะไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ในวันที่ 14 ธ.ค. เธอออกแถลงการณ์อีกครั้ง ระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งเร็วขึ้นอีกในเดือนธันวาคม 2566 ก่อนที่ในวันเดียวกัน รัฐบาลของเธอจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการเดินทางเป็นเวลา 30 วัน
แต่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ความโกรธเกรี้ยวของผู้ประท้วงน่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตหลายคนจากการปะทะกับกองกำลังความมั่นคง ขณะที่ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางได้อย่างอิสระ และงานได้รับผลกระทบจากการประท้วงก็จะหมดความอดทนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปกว่า วิกฤติการเมืองของเปรูครั้งนี้จะจบลงอย่างไร
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : TheGuardian , BBC , nytimes
————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 16 ธ.ค.65
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2579075