เปรูประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ หลังจากการประท้วงที่ดุเดือดนาน 1 สัปดาห์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย
เปรูประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อวันพุธ โดยให้อำนาจพิเศษแก่ตำรวจ และจำกัดเสรีภาพในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการชุมนุม หลังจากการประท้วงที่ดุเดือดนาน 1 สัปดาห์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย
การประท้วงดังกล่าวมีสาเหตุจาการขับไล่อดีตประธานาธิบดีเปโดร คาสติญโญ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม หลังถูกรัฐสภาเปรูพิจารณาการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งถึง 3 ครั้งภายในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนายคาสติญโญพยายามที่จะยุบสภามาเป็นระยะเวลา 9 เดือน รวมทั้งเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงทั้งจากสมาชิกสภา กองทัพ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงคณะรัฐมนตรี ซึ่งสถาบันทางการเมืองระดับสูงในเปรูต่างชี้ว่าการกระทำดังกล่าวไม่ต่างจากการก่อรัฐประหาร
อัยการเปรูกล่าวว่า กำลังขอฝากขังนายคาสติญโญเป็นเวลา 18 เดือน ในข้อหากบฏและสมรู้ร่วมคิด ขณะที่ศาลฎีกาของเปรูหารือเพื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าว แต่ได้ระงับการประชุมจนถึงวันพฤหัสบดี
นางดินา โบลูอาร์เต อดีตรองประธานาธิบดีในสมัยของนายคาสติญโญ ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ หลังจากที่เขาถูกถอดถอน และตำแหน่งประธานาธิบดีของเธอได้ทำให้ผู้นำลาตินอเมริกาคนอื่น ๆ มีความเห็นที่แตกต่างกัน
ความวุ่นวายทางการเมืองก่อให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงทั่วเปรู โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 8 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นในการปะทะกับตำรวจ ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีอย่างน้อย 6 คนตกเป็นเหยื่อของการยิง
โดยผู้ประท้วงได้ปิดถนนในกรุงลิมา และในอีกหลายเมือง เพื่อเรียกร้องอิสรภาพของนายคาสติญโญ และเรียกร้องให้นางดินา โบลูอาร์เต ผู้นำคนปัจจุบันลาออกจากตำแหน่ง และกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปโดยทันที เพื่อเลือกประธานาธิบดีและสมาชิกสภาคองเกรสใหม่ทั้งหมด
ผู้ประท้วงยังได้จุดไฟเผาสถานีตำรวจ บุกยึดทางวิ่งของเครื่องบินที่ใช้โดยกองทัพ รวมถึงบุกรุกรันเวย์ของสนามบินนานาชาติอาเรกีปา ทางภาคใต้ของประเทศ
อัลเบอร์โต โอตาโรลา รัฐมนตรีกลาโหมกล่าวว่า “เราตกลงที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ เนื่องจากการกระทำป่าเถื่อนและความรุนแรง” พร้อมเสริมว่าการประกาศครั้งนี้หมายถึงการระงับเสรีภาพบางประการ รวมถึงสิทธิในการชุมนุมและเสรีภาพในการเดินทาง และทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจค้นบ้านได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น
โบลูอาร์เตได้กล่าวเรียกร้องความสันติ และกล่าวว่า “เราไม่สามารถมีการเจรจาได้หากมีความรุนแรง”
เธอกล่าวว่าการเลือกตั้งสามารถเลื่อนมาเป็นเดือนธันวาคม 2566 จากเดิมเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่เธอให้คำมั่นไว้ก่อนหน้านี้
รัฐบาลของโบลูอาร์เตยังได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่จากหลายประเทศในลาตินอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มว่าเพื่อหาเสียงสนับสนุนจากนานาประเทศ ในขณะที่ผู้นำเปรูต้องเผชิญกับคำวิจารณ์จากผู้นำฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกา เช่น นายอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ประธานาธิบดีเม็กซิโก.
————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 15 ธ.ค.65
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2578300