8 ปีที่แล้ว Gartner เคยพยากรณ์ว่าบ้านแต่ละหลังจะมีอุปกรณ์ Smart Device มากถึง 500 ชิ้น ซึ่งฟังดูแล้วทีมวิจัยคงอ่านนิยายวิทยาศาสตร์มากไปสักหน่อย แต่มาถึงวันนี้แล้วเราอาจไม่คาดคิดว่าตัวอุปกรณ์ดิจิทัลรอบตัวเราถ้านับแล้วมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าตกใจ
ถ้าไม่นับคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต ที่ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นประจำ เราจะพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าธรรมดา ๆ ในบ้านอย่างทีวี เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องดูดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ พัดลม หม้อหุงข้าว กล้องวงจรปิด หลอดไฟ ฯลฯ ล้วนแปลงร่างเป็นอัจฉริยะหรือ Smart Device กันหมดแล้ว
นั่นหมายความว่าอุปกรณ์เหล่านี้ล้วนต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ตลอดเวลา อยากรู้ว่าอากาศที่บ้านเป็นยังไง อยากรู้ว่าลืมปิดพัดลมหรือเปล่าก็รู้ได้ทันที จะสั่งเปิดปิด ตั้งเวลาทำงานล่วงหน้า ก็ใช้มือถือสั่งการได้ตลอดเวลา
อุปกรณ์หลาย ๆ อย่างที่เราไม่เคยคิดจินตนาการว่ามันจะมีความจำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เช่น หวี ไม้แคะหู (ส่องเห็นทุกอณูของรูหู ราคาอันละไม่ถึงพัน ซื้อได้ทางเว็บออนไลน์) ต่างก็พาเหรดมาเป็น Smart Device กันหมดแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่สำนักวิจัยระดับโลกอย่าง Gartner จะฟันธงเอาไว้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะทวีจำนวนถึง 500 ชิ้นต่อครอบครัว
มันจะเยอะไปถึงไหน และจะเยอะไปทำไม ?
นอกเหนือจากเรื่องความสะดวกสบายที่ผู้ใช้จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งงานได้แบบไร้ขีดจำกัด จะสั่งให้ประตูบ้านอัจฉริยะเปิดให้พนักงานเอาของมาส่งในบ้านแม้ว่าจะอยู่อีกประเทศหนึ่งก็ทำได้ง่าย ๆ จะเปิดแอร์ ปิดพัดลม ตั้งโปรแกรมให้เครื่องดูดฝุ่นทำงานก่อนจะถึงบ้าน ฯลฯ ก็ทำได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยสารพัดเทคโนโลยีทั้งเซนเซอร์ 3 มิติ เครือข่ายไร้สายประสิทธิภาพสูง และที่ขาดไม่ได้คือ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่คิดและทำงานให้ตรงใจเรามากที่สุด
ด้วยความที่ฐานการผลิตสินค้าไฮเทคเหล่านี้เปลี่ยนฐานการผลิตมาสู่ประเทศจีน ซึ่งยกสถานะจากประเทศที่รับจ้างผลิตเมื่อ 20 ปีก่อนมาเป็นผู้ค้นคว้าและพัฒนาจนมีสิทธิบัตรด้าน AI สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว ราคา Smart Device พื้น ๆ อย่างปลั๊กอัจฉริยะจึงถูกดัมพ์ราคาลงเหลือไม่เกินร้อยบาท ถูกเสียจนแทบไม่ต่างจากปลั๊กไฟธรรมดา ๆ แต่สั่งงานได้ผ่านอินเตอร์เน็ต ถูกจนซื้อไปเถอะ ไม่ต้องเสียเวลาคิดมากมาย จะเอาไปใช้เป็นปลั๊กธรรมดา ๆ ยังคุ้มเลย
นอกจากความสะดวกสบายแล้วมีอะไรอีกล่ะ ?
ไม่มียุคไหนอีกแล้วที่เราจะรู้ “ข้อมูล” ของตัวเราเองได้มากมายขนาดนี้ ทุกวันนี้เรารู้ตลอดเวลาว่าเดินไปกี่ก้าวแล้ว เผาผลาญพลังงานได้แค่ไหนด้วยสมาร์ทวอทช์ที่ใส่ รู้ว่าใช้ไฟไปเยอะแค่ไหนผ่านสมาร์ทปลั๊กที่มี รู้ด้วยว่าที่บ้านมีฝุ่น PM2.5 เยอะเกินไปไหมผ่านเครื่องฟอกอากาศ แถมมีการเตือนเมื่อเราดูซี่รีส์ติดลมมากเกินไปสมาร์ททีวีก็จะแจ้งเตือนให้ไปนอนได้แล้ว
และก็ไม่ใช่แค่ตัวเราเท่านั้นที่รู้ข้อมูลเหล่านี้ เพราะเหล่านักการตลาดที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ก็อยากรู้ “ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้” เหมือนกันเพราะเขาเห็นได้ตลอดเวลาว่าไลฟ์สไตล์ของคนในเมืองนี้เป็นอย่างไร สภาพอากาศโดยรวม หนังที่ชอบดู เพลงที่ชอบฟัง ซึ่งนี่มีราคาแพงกว่าสมาร์ตปลั๊กที่ขายอันละไม่ถึงร้อยบาทหลายเท่า!
ระหว่างที่เรากำลังกลัวว่าข้อมูลส่วนตัวจะหลุดรั่วไปถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่สารพัดอุปกรณ์รอบตัวเรานั้นเก็บข้อมูลที่สำคัญมากกว่าหลายเท่า การเลือกใช้อุปกรณ์เหล่านี้จึง “มั่ว” ไม่ได้ แต่ต้องดูให้ดีว่าใครเป็นผู้จัดจำหน่ายและแพลตฟอร์มที่ใช้มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน
เพราะใครจะไปรู้ว่าไม้จิ้มฟังอัจฉริยะในห้องครัวกำลังเก็บข้อมูลอะไรในบ้านเราอยู่…
บทความโดย ปฐม อินทโรดม
อุปนายก สมาคมดิจิทัลไทย
————————————————————————————————————————-
ที่มา : Spring News / วันที่เผยแพร่ 28 พ.ย.65
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/832733