เอพี/MGRออนไลน์ – โตเกียววันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) ประสบความสำเร็จส่งจรวด H2A ของบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ นำดาวเทียม IGS-Radar 7 จารกรรมลับของรัฐบาลขึ้นสู่วงโคจร เป้าหมายเพื่อสอดแนมความเคลื่อนไหวทางการทหารเกาหลีเหนือ และเพื่อพัฒนาการรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเสริมสร้างขุมกำลังทางการทหารของญี่ปุ่น หลังเชื่อมีภัยคุกคามเพิ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ญี่ปุ่นปัจจุบันมีดาวเทียมทหารเรดาร์ 5 ดวงปฏิบัติการระดับวงโคจร
เอพีรายงานวันนี้ (26 ม.ค.) ว่า จรวด H2A ของบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ (Mitsubishi Heavy Industries Ltd) ประสบความสำเร็จถูกปล่อยออกมาจากศูนย์อวกาศเทเนกาชิมา (Tanegashima Space Center) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น วันพฤหัสบดี (26) เมื่อเวลา 10.50 น.ตามเวลาท้องถิ่น อ้างอิงเวลาจาก NHK ของญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ศูนย์อวกาศเทเนกาชิมา เป็นขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ตั้งอยู่บนเกาะทาเนกาชิมะ ห่างจากเกาะคิวชูไปทางทิศใต้ราว 40 กิโลเมตร อ้างอิงจากเว็บไซต์การท่องเที่ยวญี่ปุ่น japan.travel พบว่าเกาะแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์กทางการท่องเที่ยวสำคัญและสามารถชมการปล่อยจรวดได้ที่นี่
เป็นภารกิจเพื่อนำดาวเทียม IGS-Radar 7 จารกรรมลับของรัฐบาลโตเกียวขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี แถลงในเวลาต่อมาว่า ดาวเทียมประสบความสำเร็จเข้าสู่วงโคจรได้ตามแผน
ทั้งนี้ พบว่าจรวด H2A ใช้เชื้อเพลิงเหลวที่ประสบความสำเร็จถึง 40 ครั้งติดต่อกันหลังจากความล้มเหลวเมื่อปี 2003
โตเกียวเริ่มต้นสะสมความสามารถทางการทหารโดยอ้างไปถึงภัยคุกคามเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอพีชี้ว่า ญี่ปุ่นเริ่มโครงการดาวเทียมสอดแนม IGS หลังเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามญี่ปุ่นในปี 1988
รัฐบาลโตเกียวมีเป้าหมายสร้างเครือข่ายดาวเทียมสอดแนม จำนวน 10 ดวง เพื่อสอดแนมความเคลื่อนไหวสำหรับการเตือนล่วงหน้าของการโจมตีด้วยมิสไซล์ นอกจากนี้ดาวเทียมสอดแนมยังสามารถถูกใช้สำหรับการจับตาภัยพิบัติธรรมชาติและการรับมือ
ดาวเทียม IGS-Radar 7 สามารถจับภาพบนภาคพื้น 24 ชั่วโมง และทำได้แม้กระทั่งในสภาพอากาศที่โหดร้าย NHK กล่าวว่า ดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นวงโคจรวันพฤหัสบดี (26) เป็นดาวเทียมเรดาร์ที่ใช้เพื่อถ่ายภาพได้แม้กระทั่งเวลากลางคืนที่มืดมิด หรือในช่วงเวลาสภาพอากาศเลวร้าย มันถูกส่งขึ้นไปเพื่อทำหน้าที่แทนดาวเทียมดวงเก่าที่หมดอายุ
ศูนย์สำนักข่าวกรองดาวเทียมและวิจัยของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (Cabinet Satellite Intelligence Center) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นมีดาวเทียมที่กำลังทำหน้าที่อยู่ในวงโคจรทั้งหมด 9 ดวง ซึ่งจากทั้งหมดมี 5 ดวงเป็นดาวเทียมเรดาร์ และอีก 3 ดวงเป็นดาวเทียมเชิงแสง (optical satellite) ที่ใช้จับภาพในช่วงเวลากลางวัน และมีดาวเทียม 1 ดวงที่ใช้ส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง
NHK รายงานว่า โตเกียวมีเป้าหมายต้องการให้ดาวเทียมทั้งหมด 10 ดวงทำงานในปี 2028 ของปีงบประมาณญี่ปุ่น
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอ คิชิดะ กล่าวแสดงความชื่นชมถึงความสำเร็จที่น่าทึ่งผ่านแถลงการณ์วันนี้ (26) มีใจความว่า
“รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้ดาวเทียม IGS-Radar 7 อย่างเต็มพิกัด รวมไปถึงดาวเทียมสอดแนมอื่นเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นและการจัดการวิกฤต”
ทั้งนี้ คิชิดะ และรัฐบาลโตเกียวของเขาในเดือนธันวาคมที่เพิ่งผ่านมาเริ่มต้นใช้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงญี่ปุ่นใหม่ ที่รวมไปถึงการครอบครองมิสไซล์ร่อนพิสัยไกล ทิ้งหลักการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นจำกัดความสามารถทางการทหารให้อยู่เฉพาะป้องกันตัวเองเท่านั้น โตเกียวอ้างเหตุผลมาจากความก้าวหน้าทางยุทโธปกรณ์ทางการทหารอย่างรวดเร็วของจีน และเกาหลีเหนือ
——————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยเเพร่ 26 ม.ค. 2566
Link : https://mgronline.com/around/detail/9660000008059