ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่ 6 เมืองทั่วสหรัฐ จะกลายเป็นเป้าหมายในการโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งทุกเมืองไม่มีการเตรียมการล่วงหน้าเลยแม้แต่น้อย
การโดนโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในเมืองใหญ่ระดับมหานคร เป็นหนึ่งการจำลองสถานการณ์หายนะภัย 15 เหตุการณ์ ตามแผนยุทธการเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉินที่หน่วยงานบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FEMA) ได้ประเมินไว้ โดยในแผนการเหล่านี้ ทางหน่วยงานจะต้องจัดให้มีการเตรียมหน่วยงานรับมือ จัดหาที่หลบภัยให้ประชาชนและผู้บาดเจ็บที่ได้รับกัมมันตภาพรังสี
สำหรับประชาชนทั่วไป คำแนะนำของ FEMA ณ เวลานี้ คือให้หลบอยู่ในเคหะสถาน อย่าออกมาและรอฟังข่าวจากทางการ
แต่จากความเห็นของ เออร์วิน เรดเลเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่งชำนาญการเรื่องการเตรียมการ เพื่อหายนะภัยเป็นพิเศษ คำแนะนำดังกล่าว ยังไม่เพียงพอสำหรับเมืองที่มีโอกาสเป็นเป้าหมายในการโจมตีของอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ เขายังระบุอีกว่า ไม่มีเมืองไหนเลยในสหรัฐ ที่มีแผนการรับมือหายนะภัยจากโดนทิ้งระเบิดนิวเคลียร์
เรดเลเนอร์ มองว่ามีเมืองใหญ่ราว 6 เมือง ที่มีโอกาสสูงที่จะตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งได้แก่ นิวยอร์ก, ชิคาโก, ฮูสตัน, ลอสแอนเจลิส, ซานฟรานซิสโก และวอชิงตัน ดีซี ซึ่งล้วนแต่เป็นเมืองใหญ่ที่สุดอันดับต้น ๆ ของประเทศ มีประชากรหนาแน่น อีกทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (เช่น โรงไฟฟ้า, ศูนย์กลางทางการเงิน, ที่ตั้งหน่วยงานราชการ, ศูนย์เครือข่ายส่งสัญญาณแบบไร้สาย) ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ
แต่ละเมืองมีเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ประชาชนเรื่องการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินก็จริง แต่ไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินจากการโดนระเบิดนิวเคลียร์โดยตรง
ระเบิดนิวเคลียร์จะก่อให้เกิดอนุภาคกัมมันตรังสีซึ่งมีลักษณะคล้ายกลุ่มควันของฝุ่นและทรายที่กระจายออกไปและตกค้างในชั้นบรรยากาศ เรียกว่าฝุ่นกัมมันตรังสี (Nuclear Fallout) ผู้ที่สัมผัสโดนฝุ่นเหล่านี้ จะได้รับพิษจากกัมมันตรังสีซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ของร่างกาย และทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ฝุ่นเหล่านี้จะตกลงสู่พื้นดินในเวลาราว 15 นาที หลังจากเกิดการระเบิด ดังนั้น การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือในช่วงเวลานี้ จึงสำคัญมาก และมีผลต่อความเป็นความตาย สถานที่เหมาะสำหรับหลบฝุ่นกัมมันตรังสีคือชั้นใต้ดินของอาคารที่ก่อสร้างจากคอนกรีต, เหล็กหรืออิฐ และไม่ควรเป็นสถานที่ที่มีหน้าต่าง
เรดเลเนอร์ กล่าวว่า แม้ขณะนี้ระบบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ จะสามารถยิงอาวุธได้ไกลเพียงอะแลสกาหรือฮาวาย แต่ก็เป็นไปได้ว่า จะมีการพัฒนาให้ยิงได้ไกลถึงเมืองชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ในอีกไม่นาน
ช่วงที่อยู่จุดตึงเครียดสูงสุดของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. 1961 สหรัฐเคยมีโครงการจัดสร้างศูนย์หลบภัยฝุ่นกัมมันตรังสีของชุมชนในหลายเมืองทั่วประเทศ โดยจะมีการเตรียมเสบียง ยา อุปกรณ์ปฐมพยาบาลและของจำเป็นอื่น ๆ ไว้ให้พร้อมอยู่เสมอ ซึ่งได้จากงบประมาณของรัฐบาลกลาง ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่งบประมาณของโครงการนี้หมดลง นครนิวยอร์ก ก็มีศูนย์หลบภัยประเภทนี้ถึง 18,000 แห่ง
เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 2017 ทางการนิวยอร์ก ก็เริ่มนำสัญลักษณ์บอกระบุสถานที่หลบภัยเหล่านี้ออกไป เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า ศูนย์เหล่านี้ยังเปิดทำการอยู่
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ต้องปิดศูนย์เหล่านี้ ก็เนื่องจากทางการท้องถิ่น ต้องการพื้นที่ไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ เรดเลเนอร์ ยังกล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการท้องถิ่นจำนวนมาก เป็นกังวลการนำเสนอแผนการหลบภัยฝุ่นกัมมันตรังสี อาจสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน และอาจทำให้ชาวเมืองสงสัยว่า ผู้บริหารในรัฐบาลท้องถิ่น ปกปิดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีด้วยอาสุธนิวเคลียร์
เรดเลเนอร์ มองว่า เมืองใหญ่ต่าง ๆ ควรมีการเตรียมพร้อมมากกว่านี้ เพื่อรับการโดนจู่โจมด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ประชาชนจะต้องรับรู้มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะตกเป็นเป้าหมายในการโจมตี แม้ว่าโอกาสจะมีน้อยมาก แต่นี่คือความเป็นจริงในโลกของศตวรรษที่ 21 ที่ชาวอเมริกันต้องยอมรับ
แหล่งข่าว : businessinsider.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES
————————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 2 ม.ค.66
Link : https://www.dailynews.co.th/news/1852926/