สึนามิ ถือเป็นภัยธรรมชาติร้ายแรงที่ฝังใจคนมากมาย โดยเฉพาะประเทศไทยกับเหตุการณ์ปี 2004 ปัจจุบันเรามีระบบแจ้งเตือนสึนามิได้รับการพัฒนาขึ้นมากมาย แต่ระบบนี้กำลังจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เมื่อ AI สามารถคาดการณ์คลื่นที่จะเกิดขึ้นได้ในไม่กี่วินาที
ภัยธรรมชาติถือเป็นหนึ่งในภัยพิบัติร้ายแรงสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ในจำนวนนั้นเมื่อพูดถึงภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลทั้งหลายย่อมคิดถึง สึนามิ หนึ่งในภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมากอย่างฉับพลัน ดังเช่นเหตุการณ์สึนามิปี 2011 ในญี่ปุ่นที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 18,500 ราย
นั่นเป็นเหตุให้เกิดการพัฒนาระบบวิเคราะห์แบบใหม่ช่วยประเมินและแจ้งเตือนสึนามิได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที
ระบบตรวจสอบสึนามิที่ใช้งานในไทยปัจจุบัน
ปัจจุบันระบบตรวจสอบสึนามิมีการใช้งานทั่วไปในหลายประเทศที่มีชายฝั่งทะเล เกือบทุกประเทศที่มีชายฝั่งทะเลและเคยประสบภัยพิบัติสึนามิมาก่อน ไม่เว้นกระทั่งประเทศไทยยังมีการติดตั้งระบบเตือนภัยหลังเหตุการณ์ปี 2004 เป็นต้นมา แม้ในปัจจุบันจะเริ่มมีรายงานว่าทุ่นแจ้งเตือนสึนามิเริ่มเสียหายจนไม่ทำงานก็ตาม
ระบบการแจ้งเตือนสึนามิในปัจจุบันจะอาศัยอาศัยทุ่นลอยที่ติดตั้งอุปกรณ์วัดความดันใต้ทะเลในการแจ้งเตือน โดยจะทำการตรวจวัดข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของความดันน้ำส่งข้อมูลไปยังทุ่นที่ลอยบนผิวน้ำ จากนั้นจึงส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมไปยังหน่วยงานเพื่อแจ้งเตือนภัยสึนามิต่อไป
นอกจากทุ่นลอยที่ใช้งานยังมีอีกหลายภาคส่วนทำหน้าที่ตรวจสอบการเกิดสึนามิ ตั้งแต่หน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา(NOAA) คอยรับหน้าที่แจ้งเตือนภัยสึนามิทั่วโลก ไปจนสถานีวัดระดับน้ำทะเลในประเทศต่างๆ รวมถึงในไทย เพื่อตรวจสอบข้อมูลแนวโน้มการเกิดคลื่นสึนามิทั่วโลก
เมื่อได้รับข้อมูลว่าจะมีการเกิดคลื่นสึนามิที่อาจเป็นอันตราย ระบบจะแจ้งเตือนผ่านดาวเทียมไปยังหอเตือนภัยภายในพื้นที่เสี่ยงชายฝั่งทะเลที่มีอยู่กว่า 226 แห่ง จากนั้นจึงส่งข้อความ SMS เพื่อแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานราชการและองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อกระจายข้อมูลในการแจ้งประชาขนในพื้นที่เตรียมการรับมือจนถึงอพยพต่อไป
น่าเสียดายที่แบบจำลองในปัจจุบันหลายครั้งยังแจ้งเตือนข้อมูลได้ไม่เร็วพอ ต่อให้ได้รับข้อมูลรวดเร็วเพียงไรก็ต้องใช้เวลาในการประเมินและคาดการณ์ผลกระทบจากแบบจำลองอีกราว 30 นาที เป็นเหตุให้การรับมือจนถึงอพยพเหล่านั้นช้าเกินทำให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
นำไปสู่การพัฒนาระบบแจ้งเตือนซึ่งสามารถคาดการณ์ผลกระทบของสึนามิลูกดังกล่าวได้ในระยะเวลาไม่กี่วินาที
ระบบแจ้งเตือนรูปแบบใหม่ที่ใช้การประมวลผลจากเอไอ
ผลงานของทีมวิจัยจาก RIKEN Prediction Science Laboratory ได้พัฒนาระบบประมวลผลข้อมูลสึนามิรุ่นใหม่ อาศัยการประมวลผลจากปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบทั่วไป ช่วยให้ย่นระยะเวลาการเกิดและคาดการณ์ผลกระทบของสึนามิแต่ละลูกลงจากครึ่งชั่วโมงเหลือเพียงไม่กี่วินาที
ทางทีมวิจัยได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ผ่านการป้อนข้อมูลของเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ไปกว่า 3,000 ครั้ง ทดสอบการประมวลผลการก่อตัวของสึนามิ 48 ครั้ง และทดลองคาดการณ์ในการเกิดสึนามิจากเหตุการณ์จริงอีก 3 ครั้ง ในที่สุดก็สามารถพัฒนาระบบประมวลรุ่นใหม่ที่ตอบสนองต่อการเกิดสึนามิอย่างรวดเร็ว
โดยข้อมูลที่ได้รับในการประมวลผลยังคงเป็นชุดเดียวกับที่ใช้ในการแจ้งเตือนสึนามิตามปกติ ในการทดสอบพวกเขาได้รับข้อมูลการเคลื่อนไหวของสึนามิจากสถานีเตือนภัย 150 แห่งทั่วโลก นั่นช่วยให้การพัฒนาคืบหน้าไปอย่างก้าวกระโดด จนพัฒนา AI ที่ประมวลผลได้รวดเร็วกว่าการใช้ระบบทั่วไปนับร้อยเท่า
ผลลัพธ์ที่เกิดจากการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์มีความแม่นยำสูง และสามารถคำนวณได้รวดเร็วยิ่งกว่าการประมวลผลทั่วไปนับร้อยเท่า ช่วยย่นระยะเวลาการตรวจสอบจาก 30 นาที ให้เหลือเพียงไม่กี่สิบวินาที คาดการณ์ความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม็ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตของผู้คนได้อีกมาก
แม้แบบจำลองและการประมวลผลจากปัญญาประดิษฐ์นี้ จำเป็นต้องใช้พลังการคำนวณมหาศาลจากซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ แต่ตัวระบบถูกออกแบบให้สามารถติดตั้งลงคอมพิวเตอร์ทั่วไปและส่งข้อมูลมาประมวลผลได้ ซึ่งจะช่วยให้ระบบนี้สามารถเข้าถึงคนได้ทั่วทุกมุมโลก และจะเป็นระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่ทรงประสิทธิภาพในอนาคต
ข้อจำกัดเดียวในปัจจุบันของปัญญาประดิษฐ์นี้คือ สึนามิที่สามารถตรวจจับและประเมินผลได้แม่นยำ จำกัดเพียงคลื่นสึนามิที่มีความสูงมากกว่า 1.5 เมตรขึ้นไปเท่านั้น ทำให้คลื่นที่มีระดับความสูงต่ำกว่ายังเป็นช่องโหว่ในกาคำนวณ ซึ่งทางทีมงานกำลังทำการปรับปรุงความแม่นยำเพื่อให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้นต่อไป
แน่นอนว่าปัญญาประดิษฐ์นี้ยังคงได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์คลื่นสึนามิให้ละเอียดเท่าที่ทำได้ นอกจากนี้ทางทีมวิจัยยังเริ่มพัฒนาเอไอที่ใช้ประมวลและรับมือกับพายุต่าง ๆ ซึ่งอาจพลิกโฉมการเตือนภัยแก่ภัยธรรมชาติอีกมากในอนาคต
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1013996
https://interestingengineering.com/innovation/ai-technology-predicts-tsunami?fbclid=IwAR1TCeiFdvBVH-8hVyr_rJqLRI0X9Up95PNCja5YyDFFD19RlsBoOhyLDQg
————————————————————————————————————————-
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 10 ม.ค.65
Link : https://www.posttoday.com/post-next/innovation/689410