ต้นปี 2022 วงการไอทีต่างจับตามองเทคโนโลยีหลาย ๆ ดังเช่น บล็อกเชน คริปโทเคอเรนซี่ เอไอ เมตาเวิร์ส และไอโอที ว่าในช่วงปี 2022 จะมีความก้าวหน้ามากแค่ไหน แต่ก็ปรากฏว่าบางอย่างกลับไม่เป็นไปตามคาด โดยเฉพาะด้านคริปโทเคอเรนซี่ ที่เกิดผลกระทบทางลบอย่างรุนแรง
ต้นปี 2022 วงการไอทีต่างจับตามองเทคโนโลยีหลาย ๆ ดังเช่น บล็อกเชน คริปโทเคอเรนซี่ เอไอ เมตาเวิร์ส และไอโอที ว่าในช่วงปี 2022 จะมีความก้าวหน้ามากแค่ไหน แต่ก็ปรากฏว่าบางอย่างกลับไม่เป็นไปตามคาด โดยเฉพาะด้านคริปโทเคอเรนซี่ ที่เกิดผลกระทบทางลบอย่างรุนแรง ทำให้เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บล็อกเชน หรือแม้แต่ เมตาเวิร์ส ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่คาดการณ์ไว้
แต่ก็ยังมีเทคโนโลยีบางตัวที่โดดเด่นไปอย่างมากโดยเฉพาะด้านเอไอ ที่ทำให้เทคโนโลยีไอทีอื่น ๆ ต้องนำมาใช้งานร่วมกัน โดยเราเห็นได้ว่าผู้คนให้ความสนใจทั้งในแง่ของการลงทุนและการทำวิจัยด้านนี้มากขึ้น ประสิทธิภาพของเอไอก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เอไอสามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ดีกว่ามนุษย์
นอกจากนี้ยังมีบริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมาใหม่อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงการนำเอไอไปใช้ในธุรกิจต่าง ๆ มากมาย และที่สร้างความฮือฮาล่าสุดก็คือ บริการแชตบอตที่ชื่อ ChatGPT ที่ออกมาในเดือนสุดท้ายของปีนี้ แล้วทำให้คนเริ่มเป็นห่วงว่าต่อไปงานหลายๆ อย่างจะถูกแชตบอตแบบนี้แย่งไปทำแทน
แม้เอไอจะมีประสิทธิภาพที่เก่งขึ้นอย่างมากมาย และเชื่อว่าในปีหน้ามันจะเก่งยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก จากข้อมูลที่มีเพิ่มมากขึ้น จากประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ที่ดีขึ้น และจากความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเอไอที่จะทำให้สามารถ “เทรน” โมเดลให้เก่งขึ้นได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งเอไอก็ได้สร้างผลกระทบทางสังคมอย่างมาก หลายๆ คนเริ่มเห็นผลจากโซเชียลมีเดียที่เอไอสร้างความแตกแยกในสังคม ด้วยการใช้อัลกอริทึมป้อนข้อมูลให้ผู้ใช้เสพข้อมูลด้านเดียวมากยิ่งขึ้น จนเกิดอคติตามความชื่นชอบของตัวเองและเชื่อข้อมูลที่ตัวเองเสพมากจนเกินไป
นอกเหนือจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว เอไอยังมีข้อเสียอีกหลาย ๆ ประการ ที่เราเองควรทำความเข้าใจและหาแนวทางแก้ไขก่อนที่จะมีผลกระทบต่อสังคม จนไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ทันท่วงที ดังนี้
1. การว่างงาน ประสิทธิภาพของเอไอที่เหนือกว่ามนุษย์ในบางด้านจะมีผลทำให้การทำงานต่างๆ ในหลายอาชีพต้องเปลี่ยนไป งานหลายๆ อย่างสามารถถูกทดแทนได้ด้วยระบบอัตโนมัติที่ใช้เอไอ มีการคาดการณ์ว่าในปี2030 คนทำงานจำนวนระหว่าง 75-375 ล้านคน จะต้องเปลี่ยนงานหรือเรียนทักษะใหม่ในการทำงาน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่มีจำนวนที่ชัดเจน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถที่เพิ่มขึ้นของเอไอในด้านต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนเราอาจจะคิดว่าเอไอจะมีผลกระทบเฉพาะต่องานที่ใช้แรงงานทั่วไป แต่ล่าสุดเราก็เริ่มเห็นแล้วว่าเอไอสามารถที่จะมาทำงานแทนที่งานที่อาจต้องใช้ทักษะสูงแทนคนในออฟฟิศได้เช่นกัน
2. การขาดความโปร่งใส เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนมากไม่ทราบเลยว่า ระบบเอไอที่ถูกเทรนมาเพื่อทำงานแทนมนุษย์มีกระบวนการพัฒนามาอย่างไร ใช้ข้อมูลใดในการเทรน หรือใช้อัลกอริทึมใดในการเทรน การใช้ข้อมูลที่มีข้อผิดพลาดหรือข้อมูลที่โน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็ย่อมส่งผลกระทบให้เอไอตัดสินใจผิดพลาด นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ว่าอัลกอริทึมบางอย่างที่ใช้ผู้พัฒนาก็ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าได้คำตอบมาได้อย่างไร ดังนั้นในประเด็นเหล่านี้ก็เริ่มมีการให้ความสำคัญกับเรื่องของ ธรรมาภิบาลด้านเอไอ (AI Governance) เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้ใช้ได้ว่าการพัฒนาระบบเอไอมีความโปร่งใส
3. การใช้อัลกอริทึมที่มีอคติหรือเลือกปฏิบัติ (Biased and discriminatory algorithms) ประเด็นนี้คือ สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันในเรื่องของโซเชียลมีเดียที่กำลังสร้างปัญหาทางสังคม แต่ขณะเดียวกันปัญหาเหล่านี้ก็เริ่มเห็นในการใช้ระบบเอไอในการคัดเลือกผู้สมัครงาน หรือแยกแยะผู้คนในเรื่องต่างๆ ที่อาจเห็นอคติที่โน้มน้าวไปกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อน เช่น บางอาชีพอาจเลือกจากเพศใดเป็นพิเศษ หรือแม้แต่สถาบันการศึกษา เชื้อชาติ ก็อาจถูกเอไอเลือกปฏิบัติได้ เพราะแม้แต่เรื่องของการจดจำใบหน้า ระบบเอไอก็มีแนวโน้มที่จะแยกแยะคนผิวขาวได้ดีกว่าผิวสี
4. การสร้างประวัติย่อ ระบบเอไอนำข้อมูลส่วนตัวของผู้คนมาใช้ในการวิเคราะห์ จึงทำให้ข้อมูลหลายอย่างถูกเก็บไป เช่น ประวัติการใช้งานตำแหน่งที่อยู่ ประวัติการซื้อสินค้า การเข้าค้นอินเทอร์เน็ต ทำให้ความเป็นส่วนตัวของผู้คนหายไป และระบบเอไอสามารถคาดเดาพฤติกรรมของผู้คนได้มากขึ้น จนทำให้ผู้คนเริ่มคิดว่าโลกอนาคตอาจอยู่ยากขึ้นเพราะระบบเอไอรู้จักตัวเรามากจนเกินไป
5. การสร้างข้อมูลบิดเบือน เทคโนโลยีสามารถทำให้มีการสร้างข้อมูลบิดเบือนได้ง่ายขึ้น เช่น การสร้างบอตเพื่อโพสต์ข้อมูลเท็จโดยอัตโนมัติ หรือเทคโนโลยี Deepfake ที่สามารถสร้างภาพวิดีโอ เสียง จำลองที่เหมือนจริงจนผู้คนไม่สามารถแยกข้อมูลที่ถูกต้องได้ การที่มีข้อมูลเหล่านี้อยู่บนโลกออนไลน์จำนวนมากจะทำให้ผู้คนในสังคมไม่สามารถแยกแยะข้อมูลได้ และหาข้อมูลบิดเบือนมีมากจนคนส่วนใหญ่หลงเชื่อ เราก็คงจะอยู่ในสังคมที่ล้มเหลว
6. เอไอถูกผูกขาดโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ การลงทุนพัฒนาระบบเอไอ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เพราะต้องใช้นักวิจัยจำนวนมาก ต้องมีข้อมูลขนาดใหญ่ และต้องมีการลงทุนเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงในการพัฒนาระบบ และการพัฒนาเอไออาจไม่เห็นผลกำไรกลับมาโดยเร็ว ดังนั้นในปัจจุบันเราจึงเห็นการพัฒนาระบบเอไอส่วนใหญ่จะถูกผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและจีน บริษัทเล็กหรือรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ไม่มีเงินทุกมากนักก็อาจต้องมาพึ่งพาเทคโนโลยีของบริษัทเหล่านั้นจนอาจถูกควบคุมได้
แม้ระบบเอไอจะมีอนาคตที่ชัดเจนกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ และน่าจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญมากสุดสำหรับอุตสาหกรรม 4.0ที่ธุรกิจทุกด้านต้องนำมาประยุกต์ใช้ แต่การนำมาใช้โดยขาดความเข้าใจผลเสียของเอไอและไม่เตรียมการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็อาจทำให้มีผลเสียต่อองค์กรและสังคมได้เช่นกัน
บทความโดย ธนชาติ นุ่มนนท์
————————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 30 ธ.ค.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1045620