Police used tear gas in an attempt to repel protesters
ประธานาธิบดี ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล ให้คำมั่นว่าจะลงโทษผู้สนับสนุน นายชาอีร์ โบลโซนาโร อดีตผู้นำประเทศ หลังจากที่พวกเขาบุกเข้าไปก่อการจลาจลในรัฐสภา
ผู้สนับสนุนผู้นำกลุ่มขวาจัดที่ถูกโค่นล้มยังได้บุกเข้าไปในศาลฎีกาและปิดล้อมทำเนียบประธานาธิบดีอีกด้วย
ตำรวจสามารถควบคุมอาคารในเมืองหลวงบราซิเลียได้ในเย็นวันอาทิตย์ หลังจากการปะทะกันนานหลายชั่วโมง
เมื่อมาถึงเมืองหลวง นายลูลาได้เยี่ยมชมอาคารศาลฎีกาเพื่อดูความเสียหายของตัวเอง
ตำรวจบราซิเลียกล่าวว่า มีผู้ถูกจับกุมแล้ว 300 คน
นายชาอีร์ โบลโซนาโร อดีตผู้นำประเทศ
ศาลฎีกา มีคำสั่งให้ อีบานีส ฮัวเชอะ ผู้ว่าการกรุงบราซิเลีย พ้นจากตำแหน่งเป็นเวลา 90 วัน ผู้พิพากษาอเล็กซานเดร เดอ โมราเอส กล่าวหาว่า เขาล้มเหลวในการป้องกันเหตุจลาจลและ “นิ่งเงียบจนน่าปวดใจ” เมื่อเผชิญกับการบุกโจมตี นายฮัวเชอะได้กล่าวขอโทษสำหรับเหตุการณ์ในวันอาทิตย์
การชุมนุมของฝ่ายขวา ทำให้ผู้นำฝ่ายซ้ายและกลุ่มอื่น ๆ ทั่วบราซิลกำลังระดมพลเพื่อจัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นกัน
เลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล : ทำไมคนยากจนถึงเลือกลูลา
ภาพผู้ประท้วงนับหมื่นคนสวมเสื้อฟุตบอลบราซิลสีเหลืองและธงชาติบราซิล บุกเข้าล้อมตำรวจและปล้นสะดมใจกลางรัฐของบราซิล เกิดขึ้นหลังจากนายลูลาเข้ารับตำแหน่งเพียงหนึ่งสัปดาห์
ผู้นำฝ่ายซ้ายมากประสบการณ์มาสำรวจความเสียหายของอาคารศาลฎีกาเมื่อคืนวันอาทิตย์ด้วยตัวเอง เขาจำใจประกาศภาวะฉุกเฉินก่อนที่จะส่งกองกำลังพิทักษ์ชาติเข้าไปในเมืองหลวงเพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย
นอกจากนี้ เขายังสั่งปิดใจกลางเมืองหลวง รวมถึงถนนสายหลักซึ่งเป็นสถานที่ราชการเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
ฟลาวิโอ ดิโน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า รถบัสราว 40 คันที่ใช้ขนส่งผู้ประท้วงไปยังเมืองหลวงถูกทางการยึดไว้แล้ว และเขาเรียกการบุกรุกว่าเป็น “ความพยายามที่ไร้สาระในการแสดงออกด้วยการใช้กำลัง”
นายโบลโซนาโรปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะยอมรับว่าเขาแพ้การเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเดินทางออกจากประเทศแทนที่จะเข้าร่วมในพิธีส่งมอบตำแหน่ง ซึ่งเขาต้องทำพิธีมอบสายสะพายประธานาธิบดีให้แก่นายลูลา
หลังเกิดความวุ่นวายราว 6 ชั่วโมง อดีตประธานาธิบดีวัย 67 ปีซึ่งเชื่อว่าอยู่ในฟลอริดา โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ ประณามการบุกรัฐสภา และปฏิเสธว่าไม่ได้ยุยงให้ผู้สนับสนุนเขาก่อการจลาจล
ก่อนเดินทางถึงบราซิเลีย นายลูลากล่าวว่า ความวุ่นวายในบราซิเลียเช่นนี้ “ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศเรา” และเรียกความรุนแรงนี้ว่า “การกระทำของพวกชอบทำลายข้าวของและพวกฟาสซิสต์”
เขากล่าวหากองกำลังความมั่นคงด้วยว่า “ไร้ความสามารถ ไม่สุจริต หรือมีความอาฆาตมาดร้าย” เนื่องจากไม่สามารถสกัดผู้ชุมนุมไม่ให้เข้าไปในรัฐสภาได้
“คุณจะเห็นในภาพที่พวกเขา [เจ้าหน้าที่ตำรวจ] กำลังนำทางผู้คนในการเดินไปที่พลาซ่าแห่งอำนาจ 3 ฝ่าย (Praca dos Tres Powers)” เขากล่าว “เรากำลังจะหาว่าใครคือนายทุนหนุนหลังของพวกป่าเถื่อนที่ไปบราซิเลีย และพวกเขาทั้งหมดจะต้องชดใช้ตามกฎหมาย”
วิดีโอที่แชร์ทางเว็บไซต์ข่าว O Globo ของบราซิล แสดงให้เห็นภาพเจ้าหน้าที่บางคนหัวเราะและถ่ายรูปร่วมกัน ขณะที่ผู้ประท้วงยึดพื้นที่รัฐสภาเป็นฉากหลัง
นายลูลากล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่นครเซาเปาโล เมื่อ 31 ต.ค. 2022
ผู้ประท้วงบางคนทุบหน้าต่าง ขณะที่คนอื่น ๆ บุกไปที่ห้องประชุมวุฒิสภา พวกเขากระโดดขึ้นเล่นบนที่นั่ง และแปลงเบาะนั่งเป็นเครื่องเล่นสไลเดอร์
วิดีโอทางโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นผู้ประท้วงดึงเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งลงจากหลังม้าและโจมตีเขานอกอาคาร
ภาพที่เผยแพร่โดยสื่อระดับประเทศแสดงให้เห็นตำรวจควบคุมตัวผู้ประท้วงหลายสิบคนในเสื้อเหลืองนอกทำเนียบประธานาธิบดี ผู้ต้องสงสัยรายอื่นซึ่งถูกมัดมือไพล่หลังก็ถูกนำตัวออกจากอาคารเช่นกัน
ผู้ประท้วงรวมตัวกันตั้งแต่ช่วงเช้าที่สนามหญ้าหน้ารัฐสภา เป็นแถวยาวราว 1 กิโลเมตรของถนนเอสพลานาดา ซึ่งเรียงรายไปด้วยกระทรวงต่าง ๆ และอนุสาวรีย์หลายแห่ง
ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเกิดความวุ่นวาย การรักษาความปลอดภัยก็ดูแน่นหนา มีการปิดถนนประมาณหนึ่งช่วงตึกรอบบริเวณรัฐสภา ทุกประตูทางเข้า มีตำรวจพร้อมอาวุธ 2 นาย คอยคุ้มกัน
บีบีซีพบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 50 นายตามเวลาท้องถิ่นในเช้าวันอาทิตย์ ยานพาหนะที่จะเข้ามาบริเวณนี้ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้า ส่วนผู้ที่เดินเท้าเข้ามาถูกตำรวจตรวจค้นกระเป๋า
ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปทำลายข้าวของในห้องหนึ่งในทำเนียบประธานาธิบดี
“เพื่อประวัติศาสตร์”
เมื่อนักข่าวสอบถามผู้ประท้วงถึงเหตุที่ทำเช่นนี้ พวกเขาต่างหาเหตุผลมาสร้างความชอบธรรม
ลิมา วิศวกรในสายการผลิต วัย 27 ปีกล่าวว่า “เราจำเป็นต้องจัดระเบียบใหม่หลังจากการเลือกตั้งที่ทุจริตนี้”
“ฉันมาที่นี่เพื่อประวัติศาสตร์ เพื่อบรรดาลูกสาวของฉัน” เธอบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี
คนอื่น ๆ ในเมืองหลวงแสดงความโกรธแค้นต่อความรุนแรงดังกล่าว และกล่าวว่าการบุกทำลายสถานที่ราชการถือเป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับประเทศ
“ผมเลือกโบลโซนาโร แต่ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่” แดเนียล ลาเซอร์ดา วัย 21 ปีบอกกับบีบีซี
“ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดี คุณก็ควรพูดและเดินหน้าต่อไป คุณไม่ควรไปประท้วงและก่อความรุนแรงเหมือนที่พวกเขากำลังทำอยู่”
ชาวกรุงอีกหลายคนเปรียบเทียบเหตุนี้กับการบุกโจมตีอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ เมื่อ 6 ม.ค. 2021 โดยผู้สนับสนุนของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เป็นพันธมิตรของนายโบลโซนาโร
Bolsonaro supporters vandalising the interior of the presidential palace
เพิ่งพักพิงใกล้ค่ายทหาร
ผู้สนับสนุนโบลโซนาโรชุมนุมและสร้างที่พักชั่วคราวตามเมืองต่างๆ ทั่วบราซิล บางแห่งอยู่นอกค่ายทหาร นั่นเป็นเพราะกลุ่มผู้สนับสนุนหัวรุนแรงจำนวนหนึ่งต้องการให้ทหารเข้าแทรกแซงและจัดการเลือกตั้งให้ดีกว่าครั้งที่ผ่านมาที่ผู้สนับสนุนโบลโซนาโรบอกว่าเขาถูกปล้นชัยชนะไป
ตอนแรกดูเหมือนว่าความประสงค์ของพวกเขาต้องจบลงหลังการรับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายลูลา ค่ายที่พักชั่วคราวในบราซิเลียถูกรื้อถอนและไม่มีการก่อกวนในวันที่เขาร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
แต่ความวุ่นวายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ม.ค. แสดงให้เห็นว่าสมมติฐานนั้นไม่ถูก
เคที วัตสัน ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำทวีปอเมริกาใต้รายงานว่า ผู้ประท้วงบางคนโกรธทั้งเรื่องที่โบลโซนาโรแพ้การเลือกตั้ง และต้องการให้ประธานาธิบดีลูลา กลับเข้าคุก
ลูลาใช้เวลา 18 เดือนในคุกหลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีทุจริตในปี 2017 ทั้งที่ในตอนแรกเขาถูกตัดสินจำคุกกว่า 9 ปี
A police officer inspects damage at the Supreme Court
นานาชาติร่วมประณาม
กาเบรียล โบริก ประธานาธิบดีชิลี กล่าวว่า ชิลีขอให้การสนับสนุนบราซิลอย่างเต็มที่ในการเผชิญกับการโจมตี ที่ขี้ขลาดและชั่วช้าต่อประชาธิปไตย
ประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบียกล่าวว่า “ลัทธิฟาสซิสต์ [ได้] ตัดสินใจทำรัฐประหาร”
มาร์เซโล เอบราร์ด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกกล่าวว่า เม็กซิโกแสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อคณะบริหารของประธานาธิบดีลูลา ซึ่งได้รับเลือกจากประชาชน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ทวีตข้อความว่า “ผมขอประณามการโจมตีประชาธิปไตยและการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติในบราซิล สถาบันประชาธิปไตยของบราซิลได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเรา และเจตจำนงของชาวบราซิลจะต้องไม่ถูกบั่นทอน”
นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนีเขียนบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า “การโจมตีอย่างรุนแรงต่อสถาบันประชาธิปไตยเป็นการโจมตีประชาธิปไตยที่ไม่อาจรับได้” ขณะที่ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสกล่าวว่า “ต้องเคารพเจตจำนงของชาวบราซิลและสถาบันประชาธิปไตย” ทั้งคู่ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนนายลูลา
“ผมขอประณามความพยายามใด ๆ ที่บ่อนทำลายการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ และเจตจำนงทางประชาธิปไตยของประชาชนบราซิล” ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าว
“ประธานาธิบดีลูลาและรัฐบาลของเขาได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหราชอาณาจักร และผมตั้งตารอที่จะสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับประเทศของเรา” ในอนาคต
จีน ตุรกี และอีกหลายชาติก็ร่วมประณามการกระทำของผู้ก่อการจลาจลเช่นกัน
———————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยเเพร่ 9 ม.ค. 2566
Link : https://www.bbc.com/thai/international-64210230