ทนายความหุ่นยนต์ DoNotPay เตรียมสู้คดีจำเลยโดนใบสั่ง ณ ศาลสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้ นับว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่ใช้ AI ตัดสินความยุติธรรม
DoNotPay เป็นแชทบอตที่ถูกพัฒนาเพื่อช่วยผู้ใช้ในการแก้ปัญหาระบบราชการและกฎหมาย ก่อตั้งเมื่อปี 2558 โดยโจชัว บราวเดอร์ (Joshua Browder) และเริ่มให้บริการแอปพลิเคชัน ทนายความแชทบอตในปี 2563
สำนักข่าว Gizmodo รายงานว่า ทางทีมผู้สร้าง อธิบายตัวเองว่าเป็น “ทนายหุ่นยนต์คนแรกของโลก” และได้นำ AI ดังกล่าวมาทดสอบในห้องพิจารณาคดีจริงครั้งแรก ณ ศาลสหรัฐฯ เป็นคดีที่จำเลยโดนใบสั่งจราจร โดยจะเริ่มสู้คดีในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้
การทำงานของทนายความหุ่นยนต์ เริ่มต้นด้วยการ ถามถึงรูปคดี ข้อมูลส่วนตัว และร่างคำฟ้องให้จำเลย ถ้าต้องขึ้นศาลอย่างคดีดังกล่าว จะแนะนำแก่จำเลยว่าควรพูดหรือไม่พูดอะไรในศาล ผ่านทางหูฟัง ที่เชื่อมต่อกับระบบ AI
ซึ่งทางบริษัทไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีได้ เนื่องจากต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของจำเลย และป้องกันการละเมิดกฎระเบียบของห้องพิจารณาคดี
บราวเดอร์ให้สัมภาษณ์ว่า วัตถุประสงค์ของการสร้าง DoNotPay ขึ้นก็เพราะต้องการให้ผู้คนเข้าถึงสิทธิ์ในการจ้างทนายที่มีค่าบริการถูกลง เพิ่มความเป็นธรรมกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่โดนเอารัดเอาเปรียบ และช่วยลดค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย ค่าปรับที่อาจเกิดขึ้นเมื่อโดนใบสั่ง
ซึ่งก่อนหน้านี้ มีผู้ใช้งานอย่าง แมททิว ลี (Matthew Lee) ลองใช้บริการดังกล่าว แมททิวเป็นครูพาร์ทไทม์ที่ได้รับผลกระทบเพราะรัฐแคลิฟอร์เนียสั่งปิดโรงเรียน ทำให้เขาไม่ได้รับค่าจ้าง ส่งผลให้ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ซึ่งการกด Subscribe ไว้ทำให้เขาสามารถร้องเรียนความเป็นธรรมให้กับตนเองได้
แมททิวพูดคุยกับแชทบอตทนายความหุ่นยนต์ผ่านสมาร์ตโฟน ประมาณ 10-15 นาที จากนั้น AI ก็จัดการกรอกข้อมูลของเขาให้เสร็จสรรพ ภายในวันต่อมาเขาได้รับเงินช่วยเหลือมาจ่ายค่ารถ ค่าเช่า การได้รับความช่วยเหลือครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับแมททิวไปอีกนาน
บริการ DoNotPay สามารถฟ้องร้องใครก็ได้ ตามคอนเซ็ปต์ “Sue Anyone” ซึ่งจำกัดวงเงินการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์ (ราว 838,050 บาท)
นอกจากนี้ เคยมีนักกฎหมายจำนวน 20 คน ลงแข่งขันกับ DoNotPay โจทย์คือให้วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงในข้อตกลงสำหรับการไม่เปิดเผยข้อมูล โดย AI ทำคะแนนได้สูงด้วยความแม่นยำมากถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการให้คำตอบผ่านทางแอปพลิเคชัน
“เราช่วยผู้คนต่อสู้กับระบบราชการและกฎหมาย มีหลายครั้งที่ทนายความเรียกค่าบริการที่แพงจนเกินไปแต่ไม่ใส่ใจกับรายละเอียดของคดี AI จึงมีบทบาทในการตัดสิน” บราวเดอร์ กล่าวทิ้งทาย
อ้างอิง : nypost , vice , gizmodo
———————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 11 ม.ค.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1047320