SMS หลอกให้กู้เงิน หลอกให้โอนเงินในบัญชี หลอกว่าได้รับรางวัลและกรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือแม้แต่ปัญหาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีการโทรมาหลอกลวงว่าเป็นหน่วยงานรัฐ เช่น ตำรวจ ศาล และข่มขู่ว่ากระทำความผิด หลอกให้ลงทุนหรือโอนเงิน หรือปลอมเป็นหน่วยงานเอกชน เช่น บริษัทส่งของ เพื่อหลอกว่ามีพัสดุมาส่งต้องชำระเงิน หลอกว่าเป็นธนาคาร เพื่อหลอกว่ามียอดค้างชำระบัตรเครดิตต้องโอนมาชำระด่วน
นี่คือส่วนหนึ่งของมิจฉาชีพที่อาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความสะดวกสบายในการสื่อสารหรือเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามจับกุมอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ที่ดำเนินการด้านกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ให้บริการก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน
คุณจิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัญหาเรื่อง SMS หลอกลวง หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นรูปแบบปัญหาที่หลายหน่วยงานจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภายใต้บทบาทและกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะแก้ไขปัญหาได้เองเพียงลำพัง ซึ่งบทบาทหลักของสำนักงาน กสทช. คือการสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่และผู้ให้บริการ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของมิจฉาชีพเพื่อการจับกุม การปิดกั้นการใช้บริการโทรคมนาคมของมิจฉาชีพ เช่น การบล็อก SMS หลอกลวง และสร้างมาตรการด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ
“บทบาทของสำนักงาน กสทช. ไม่ใช่เรื่องการปราบปราม สิ่งที่สำนักงาน กสทช. สามารถดำเนินการได้ภายใต้บทบาทและหน้าที่ตามกฎหมายคือ การให้การสนับสนุนข้อมูลกับหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการด้านการปราบปราม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเบาะแสต่าง ๆ จากการตรวจสอบการใช้งานโครงข่ายที่มีการใช้งานมากผิดปกติจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การตรวจสอบเพื่อค้นหาสถานที่ตั้งของมิจฉาชีพ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการให้ข้อมูลมาโดยตลอด นอกจากนั้น สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้พยายามจัดทำมาตรการและเครื่องมือทางเทคนิคที่เหมาะสมไปหลายอย่างเพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบของประชาชนเรื่อง SMS หลอกลวง และแก๊งคอลเซ็นเตอร์”
ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และ SMS หลอกลวง ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและพร้อมจะเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงอยู่เสมอ ตามเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรู้ไม่เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ วิธีแก้ไขปัญหาแบบเดิมจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุม
“สำนักงาน กสทช. เล็งเห็นว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน คือการเสริมความรู้และให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ และให้ดำเนินชีวิตด้วยความรอบคอบมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักงาน กสทช.มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลโกงแต่ละรูปแบบมีการป้องกันและแก้ไขที่แตกต่างกันไป ทั้งในส่วนของ SMS หลอกลวง หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมกันนั้นสำนักงาน กสทช. ก็ให้ความสำคัญในการจัดทำ SCAM Alert เป็นการรวบรวมตัวอย่างการฉ้อโกงของมิจฉาชีพ วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงหน่วยงานที่ต้องติดต่อเพื่อตรวจสอบ ขอความช่วยเหลือหรือร้องเรียน”
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง สำนักงาน กสทช. มีการจัดระเบียบเรื่องการกำหนด SMS Sender name หรือชื่อของผู้ส่ง และการกำกับดูแลการส่งข้อความ SMS ใหม่ โดยได้จัดทำระบบชื่อของผู้ส่ง เพื่อจัดระเบียบการลงทะเบียน มีการตรวจสอบความซ้ำซ้อน และความคล้ายคลึงกับของหน่วยงานหรือองค์กรรัฐและเอกชนที่มีชื่อเสียง เพื่อป้องกันการแอบอ้างใช้ชื่อของผู้ส่งซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด การกำหนดชื่อของผู้ส่งที่เคยกระทำความผิดเพี่อไม่ให้มีการนำกลับมาตั้งชื่อได้อีก นอกจากนั้น สำนักงาน กสทช. ยังร่วมมือกับผู้ให้บริการในการปิดกั้น SMS หลอกลวงที่พบเห็นจากสาธารณะหรือมีการแจ้งเบาะแสจากประชาชนด้วย
ในส่วนของมาตรการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีกระบวนการอยู่ในต่างประเทศและในประเทศไทย ในช่วงแรกมิจฉาชีพจะโทรมาหลอกลวงประชาชนจากต่างประเทศ และมักจะปลอมแปลงเบอร์โทรเป็นเบอร์ประเทศไทยเพื่อให้คนเข้าใจผิด เช่น ปลอมเป็นเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานราชการ หรือเบอร์โทรศัพท์ 4 หลัก ของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ตำรวจ ศาลต่าง ๆ สำนักงาน กสทช. จึงได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการจัดทำมาตรการด้านเทคนิคเพื่อช่วยลดปัญหาให้กับประชาชน
“กสทช.มีการระงับเบอร์โทรเข้าจากต่างประเทศที่ปลอมแปลงเป็นเลขหมายประเทศไทย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่รูปแบบเบอร์ของประเทศไทยจะโทรเข้ามาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการระงับเบอร์โทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ใช้รหัสประเทศที่ไม่มีตัวตน รวมถึงให้เพิ่มเครื่องหมาย “+” นำหน้าเบอร์โทรที่โทรมาจากต่างประเทศ รวมทั้งเบอร์ที่โทรจากระบบ VoIP หรือ Voice Over Internet Protocal (+697) เบอร์ประเทศไทยที่เปิดใช้บริการ roaming ขณะอยู่ที่ต่างประเทศและโทรกลับประเทศไทย (+698/+66) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้รับสายสังเกตว่าเป็นเบอร์ที่โทรมาจากต่างประเทศ เพื่อการตัดสินใจว่าควรรับสายหรือไม่ หากไม่มีญาติพี่น้องหรือกิจจากต่างประเทศก็ไม่ต้องรับสาย หรือตั้งสติ และใช้ความระมัดระวังในการรับสาย หากน่าสงสัยให้วางสายทันที ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงในการถูกหลอกลวงลงได้”
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำบริการ USSD (Unstructured Supplementary Services Data) หมายเลข *138 เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถปิดกั้น หรือบล็อกเบอร์ที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศได้ด้วยตนเองฟรี และสามารถยกเลิกบริการนี้ได้เช่นกัน ซึ่งได้เริ่มให้บริการแล้วเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2565 เครื่องมือนี้นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกหลอกลวง ยังจะสามารถลดความรำคาญของสายเรียกเข้าที่ไม่พึงประสงค์ด้วย
โดยประชาชนสามารถกด *138*1# โทรออก เพื่อปิดกั้นสายเรียกเข้าจากต่างประเทศ และหากต้องการยกเลิกการปิดกั้นสายเรียกเข้าจากต่างประเทศสามารถกดโทรออกไปที่หมายเลข *138*2#
กสทช. มีข้อกำหนดให้ทุกซิมการ์ดที่จะเปิดใช้งานจะต้องมีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการก่อน และมีการจัดระเบียบเรื่องการถือครองซิมการ์ดจำนวนมาก โดยบุคคลธรรมดาหากต้องการถือครองซิมการ์ดจำนวนมากกว่า 5 เลขหมายต่อหนึ่งผู้ใช้บริการ จะต้องไปลงทะเบียนเปิดใช้ซิมการ์ดที่ศูนย์ให้บริการเท่านั้น
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานะการถือครองซิมการ์ดของตนเองผ่าน “แอปพลิเคชัน 3 ชั้น” ดาวน์โหลดได้จาก Google Play และ App Store และสามารถแจ้งเบาะแส SMS หลอกลวง ได้ที่ 1200 กสทช. Call center
————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 ม.ค.66
Link : https://www.dailynews.co.th/news/1925497/