ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กำลังถูกตั้งคำถาม กรณีมีการพบเอกสารชั้นความลับของรัฐบาลที่สำนักงานส่วนตัวและบ้านพักของเขาในเมืองเดลาแวร์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังโดนสอบสวนเรื่องซุกเอกสารลับของทางราชการพอดี
คณะกรรมาธิการตุลาการ ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ขีดเส้นตายว่าในวันที่ 27 มกราคมนี้ จะต้องมีการเปิดเผยเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีเอกสารลับทั้ง 3 ชุด ของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งผลการตรวจสอบล่าสุดยังพบว่า เอกสารบางฉบับในเอกสารลับชุดแรกประทับตราว่า “ลับที่สุด”
เอกสารลับชุดแรกจำนวน 10 ฉบับ เป็นเอกสารสมัยที่นายไบเดน ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในรัฐบาลบารัค โอบามา ถูกพบเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว ใน เพ็นน์ ไบเดน เซนเตอร์ สำนักงานเก่าส่วนตัวของนายไบเดน ใกล้กับทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตันดีซี โดยไบเดนใช้สำนักงานแห่งนี้เป็นสถานที่ทำงานในช่วงหลังพ้นจากการเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนถึงปี 2563
จากการสอบสวนพบว่า เอกสารลับบางฉบับของชุดแรก อยู่ในชั้นความลับ ระดับ “ลับสุดยอด” (top secret) ซึ่งเป็นเอกสารชั้นความลับระดับสูงสุด จากทั้งหมด 3 ระดับ ซึ่งรองลงมาระดับ 2 คือ “ลับมาก” (secret) และระดับ 1 คือ “ลับ” (confidential)
ส่วนเอกสารลับชุดที่ 2 ถูกพบในโรงรถที่เก็บรถสปอร์ต เชฟโรเล็ต คอร์เวตต์ ปี 1960 ที่บ้านพักส่วนตัวของนายไบเดน ในเมืองวิลลิงตัน รัฐเดลาแวร์ ตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีเอกสารลับระดับ “ลับสุดยอด”
นอกจากนี้ เอกสารลับชุดที่ 3 เพิ่งถูกพบเพิ่มเติมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ เอกสารที่มีจำนวน 5 หน้า โดยถูกพบที่บ้านพักของนายไบเดน ในรัฐเดลาแวร์ โดย นายริชาร์ด ซอเบอร์ ทนายความของประธานาธิบดีไบเดน เปิดเผยว่า เอกสารชุดล่าสุดนี้ มีความเกี่ยวข้องกับช่วงที่ นายไบเดน ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา และเอกสารทั้งหมดรวมกว่า 20 ฉบับ ได้ถูกส่งให้กับทางกระทรวงยุติธรรม เพื่อทำการตรวจสอบในทันทีที่ถูกพบ
ร้ายแรงแค่ไหน
ความอันตรายร้ายแรงของความผิดพลาดในการจัดเก็บเอกสารชั้นความลับของทางการทั้งแบบไฟล์เอกสาร และแบบดิจิทัล จะขึ้นอยู่กับระดับความลับของเอกสารนั้นๆ หากยิ่งเป็นเอกสารลับสุดยอดข้อมูลสำคัญที่มีความอ่อนไหวต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และเป็นการเปิดเผยการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ หากถูกเผยแพร่ออกไปก็จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง
ขณะเดียวกัน การพบเอกสารระดับลับสุดยอดที่โผล่ออกมาเรื่อยๆ ระหว่างการถูกตรวจสอบนี้ นำมาซึ่งความเสียหน้าทางการเมืองครั้งใหญ่สำหรับประธานาธิบดีไบเดน และอาจสร้างความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นข้อมูลชั้นความลับของรัฐบาล และเป็นบันทึกข่าวกรอง ตลอดจนรายงานสรุปเกี่ยวกับสงครามการสู้รบในยูเครน ความสัมพันธ์กับอิหร่าน และสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างปัญหาใหญ่ให้กับนายไบเดนที่เตรียมตัวจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ในปีหน้า ในขณะที่การหาเสียงก็ใกล้จะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว ขณะที่กรณีของนายไบเดน ได้ถูกคณะกรรมการพิเศษสอบสวน นำโดย นายโรเบิร์ต เฮอร์ อัยการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์
ด้านแครีน ฌอง ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า กรณีการพบเอกสารลับของไบเดน จะนำไปสู่การตรวจค้นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งโฆษกบอกว่า ในตอนนี้ต้องเข้าใจได้ว่ามันเสร็จสิ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ในอดีตทางกระทรวงยุติธรรมเคยสอบสวนกรณีความผิดพลาดในการจัดการข้อมูลเอกสารลับด้วยการดำเนินการทางกฎหมายสูงสุด เป็นการดำเนินคดีอาญา
เทียบกับกรณีของ “โดนัลด์ ทรัมป์”
หากเทียบกับกรณีของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ถูกกระทรวงยุติธรรมสอบสวนกรณีเก็บเอกสารลับของรัฐบาลไว้ในสถานที่ส่วนตัว ในคฤหาสน์มาร์ อะลาโก ในรัฐฟลอริดา เรียกได้ว่ากรณีของนายไบเดน มีความรุนแรงน้อยกว่า เนื่องจากของทรัมป์มีมากมายถึงกว่า 300 ฉบับ รวมไปถึงชั้นความลับสุดยอด และชั้นความลับ ซึ่งบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่เอฟบีไอยึดไประหว่างการเข้าตรวจค้นตามหมายค้น เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
ทั้ง ไบเดน และ ทรัมป์ ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการจัดเก็บเอกสารลับของรัฐบาลกลางไม่ใช่ของส่วนตัว โดยมีคณะกรรมการพิเศษถูกตั้งขึ้นมาตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐบัญญัติว่าด้วยบันทึกของประธานาธิบดี (The Presidential Records Act) ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ภายหลังจากสิ้นสุดการทำงานของรัฐบาล เอกสารบันทึกของรัฐบาลจะถูกนำไปเก็บไว้ภายใต้การดูแลรักษาอย่างดีที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แยกตามลำดับชั้นความลับของเอกสารแต่ละฉบับ
แจ็ค สมิธ อดีตอัยการด้านอาชญากรรมสงคราม ที่กำลังตรวจสอบว่าทำไมเอกสารหลายร้อยฉบับถึงไปอยู่ที่คฤหาสน์ของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ และทีมงานของเขามีความพยายามที่จะนำเอกสารกลับไปเก็บคืนให้กับทางการหรือไม่ ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากทีมงานของทรัมป์
ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กรณีของไบเดนต่างจากกรณีของทรัมป์ แต่กลับไปคล้ายกับกรณีของนางฮิลลารี คลินตันมากว่า เพราะถูกมองว่าเป็นความประมาทเลินเล่อในการจัดการเอกสารในอีเมลส่วนตัว ในขณะที่กรณีของทรัมป์มีความพยายามที่จะครอบครองเอกสาร และยื้อไม่ส่งคืนเอกสารลับหลายร้อยฉบับคืนแก่ทางการ แม้ว่าทางหอจดหมายเหตุแห่งชาติจะเตือนไปหลายครั้งให้จัดส่งคืนเอกสารก็ตาม
บทความโดย เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
อ้างอิง AP POLITICO
———————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยเเพร่ 16 ม.ค. 2566
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2603316