สมาชิกรัฐบาลตาลีบันบางคนมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าหลังชื่อบัญชีทวิตเตอร์แล้ว หลังยอมจ่ายเงินแลกตามนโยบายใหม่ของ อีลอน มัสก์
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง นับตั้งแต่การเข้ามาของ อีลอน มัสก์ ก็คือเรื่องของเครื่องหมายยืนยันตัวตน “บลูมาร์ก” หรือเครื่องหมายติ๊กถูกหลังชื่อบัญชีผู้ใช้ ที่เมื่อก่อนเป็นสัญลักษณ์ของความน่าเชื่อของบุคคลนั้น
มัสก์ต้องการสร้างรายได้จากจัดเก็บเงิน “ค่ายืนยันตัวตน” ให้คนทั่วไปสามารถมีเครื่องหมายยืนยันตัวตนหลังชื่อบัญชีของตัวเองได้ในราคา 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนสำหรับผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ และ 11 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนสำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ iOS
ผู้ที่ได้รับเครื่องหมายบลูมาร์กนี้จะสามารถเข้าถึงฟีเจอร์พิเศษของทวิตเตอร์ได้ เช่น ฟีเจอร์เซฟข้อความทวีตพร้อมแยกหมวดหมู่ หรือฟีเจอร์ Undo ข้อความที่ทวีตไป เป็นต้น
ส่วนบัญชีผู้ใช้งานที่มีความน่าเชื่อถือเดิมนั้น หากเป็นบุคคลสาธารณะจะยังคงมีเครื่องหมายบลูมาร์กสีฟ้าอยู่ ซึ่งหากกดเข้าไปดูจะเขียนว่า “บัญชีนี้ได้รับการยืนยันเนื่องจากเป็นบัญชีที่มีชื่อเสียงในหมวดหมู่ที่เกี่ยวกับรัฐบาล ข่าว ความบันเทิง หรืออื่น ๆ” ส่วนอีกประเภทจะเขียนว่า “นี่คือบัญชีแบบเดิมที่ยืนยันแล้ว ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีชื่อเสียงก็ได้”
ซึ่งผู้รับสารจะต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าบัญชีที่เผยแพร่ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ นั้นเป็นบัญชีประเภทไหน เป็นบัญชีที่ทวิตเตอร์รับรองความน่าเชื่อถือให้เอง หรือเป็นบัญชีที่จ่ายเงินซื้อบลูมาร์กมา
ขณะที่บัญชีที่เป็นขององค์กรหรือบริษัทเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือ จะมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีทองหลังชื่อ ซึ่งทวิตเตอร์ระบุว่า “บัญชีนี้ได้รับการยืนยันเนื่องจากเป็นธุรกิจอย่างเป็นทางการ”
และบัญชีที่เป็นของหน่วยงานภาครัฐ จะมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีเทา และเขียนว่า “บัญชีนี้ได้รับการยืนยันเนื่องจากเป็นบัญชีของรัฐบาลหรือองค์กรพหุภาคี”
เรื่องราวล่าสุดที่เกิดขึ้นกับระบบการซื้อเครื่องหมายบลูมาร์กของทวิตเตอร์ได้ก็คือ มีสมาชิก “ตาลีบัน” จ่ายเงินซื้อเครื่องหมายติ๊กถูกไว้หลังชื่อแล้ว และพวกเขาพากันออกมาชื่นชมอีลอน มัสก์ กันยกใหญ่
สื่อต่างประเทศยืนยันได้ในเบื้องต้นว่า ขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลตาลีบันในอัฟกานิสถาน อย่างน้อย 2 คน มีเครื่องหมายบลูมาร์กอยู่หลังชื่อบัญชีทวิตเตอร์ของตัวเองแล้ว
เจ้าหน้าที่ 2 คนดังกล่าวได้แก่ เฮดายาตุลเลาะห์ เฮดายัต หัวหน้าแผนกการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลตาลีบัน มีผู้ติดตาม 187,000 บัญชี และอับดุล ฮัค ฮัมหมัด หัวหน้าหน่วยเฝ้าระวังสื่อของกระทรวงสารสนเทศและวัฒนธรรมอัฟกานิสถาน มีผู้ติดตาม 170,000 บัญชี
ก่อนหน้านี้เครื่องหมายบลูมาร์กของเจ้าหน้าที่ตาลีบันเคยถูกริบไปหลังถูกผู้ใช้งานเรียกร้องไม่ให้ทวิตเตอร์สนับสนุนกลุ่มตาลีบัน แต่มีรายงานว่าพวกเขาได้รับเครื่องหมายคืนแล้ว
ด้าน มูฮัมหมัด จาลาล อีกหนึ่งเจ้าหน้าที่ตาลีบันออกมาชื่นชมอีลอน มัสก์ โดยบอกว่า มัสก์กำลังทำให้ทวิตเตอร์กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ ไม่มีบัญชีทวิตเตอร์ใดเลยของเจ้าหน้าที่ตาลีบันที่ได้รับเครื่องหมายติ๊กถูกสีน้ำเงิน แม้หลังจากที่พวกเขาหวนคืนสู่อำนาจในเดือน ส.ค. 2021 ตาลีบันจะเข้าควบคุมบัญชีทวิตเตอร์กลางของรัฐบาลชุดก่อนไว้ได้ก็ตาม
ทวิตเตอร์เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสำคัญที่เจ้าหน้าที่และผู้สนับสนุนกลุ่มตาลีบันใช้ในการสื่อสารหรือเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวและแนวคิดของกลุ่ม
ทวิตเตอร์ยังเคยเป็นพื้นที่หนึ่งในกลุ่มอิสลามสายแข็งกลุ่มอื่น ๆ เช่น ไอเอส ใช้ในการชักชวนสมาชิกมาเข้าร่วมกับกลุ่ม
ก่อนหน้านี้ทวิตเตอร์เคยระงับนโยบายการใช้เงินซื้อเครื่องหมายบลูมาร์กไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากมีบัญชีปลอมล้อเลียนคนดังทั่วโลกเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งบัญชีปลอมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีเครื่องหมายยืนยันตัวตนอยู่หลังชื่อทั้งสิ้น เพราะสามารถจ่ายเงินซื้อได้แล้ว
โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกแอบอ้างมีทั้งพระเยซู สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช นักกีฬาอาชีพต่าง ๆ ไปจนถึงบริษัทต่าง ๆ บริษัทยาเอลีลิลลี่ บริษัทเกมนินเทนโด บริษัทผลิตอาวํล็อกฮีดมาร์ติน รวมถึงบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ เองด้วย
ที่มา BBC
——————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยเเพร่ 17 ม.ค. 2566
Link : https://www.pptvhd36.com/news/188535