กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เริ่มสอบสวนกรณีพบเอกสารลับของทางการที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีไบเดนสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีภายใต้รัฐบาลโอบามา โดยเอกสารลับที่พบมี 2 ชุด ชุดแรกเจอที่สำนักงานของไบเดนที่วอชิงตันดีซีซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นที่ทำงานหลังจากหมดวาระในฐานะรองประธานาธิบดีส่วนอีกชุดเจอที่บ้านของไบเดนที่รัฐเดลาแวร์ และในวันนี้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐเริ่มสอบสวนกรณีพบเอกสารลับนี้แล้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมอร์ริค การ์แลนด์ ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาพิเศษด้านกฎหมาย ให้ทำหน้าที่สอบสวนไบเดนว่าได้ดูแลจัดการเอกสารลับของทางการอย่างเหมาะสมหรือไม่
โดยการสอบสวนครั้งนี้นำโดยโรเบิร์ต เฮอร์ ซึ่งเคยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอัยการของรัฐฯ ในรัฐแมรีแลนด์สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในปี 2017 และดำรงตำแหน่งมาจนถึงปี 2021
ในการสอบสวนนี้เขาจะทำหน้าที่กึ่งอัยการอิสระเพื่อตรวจสอบว่า เอกสารของทางการที่พบทั้ง 2 จุดได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้องหรือไม่และมีใครที่ทำผิดกฎหมายในกรณีนี้หรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้เอกสารลับชุดแรกซึ่งมีทั้งหมด 10 รายการถูกพบที่สำนักงานคลังสมองในกรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไบเดนใช้ทำงานหลังจากที่หมดวาระจากการดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยของประธานาธิบดีโอบามา
โดยเรื่องนี้ถูกเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เอกสารส่วนใหญ่ที่พบเป็นข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐฯ รวมถึงมีรายงานสรุปเกี่ยวกับยูเครน อิหร่านและสหราชอาณาจักร
เอกสารลับบางส่วนเป็นข้อมูลลับสุดยอดของสหรัฐฯ และมีเอกสารที่ไม่ระบุประเภทซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐบัญญัติว่าด้วยบันทึกของประธานาธิบดี (Presidential Records Act)
ด้านประธานาธิบดีไบเดนได้ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากที่ทนายความของเขาค้นพบเอกสารลับชุดแรก ก็ได้รีบติดต่อหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ ทันที และส่งเอกสารลับทั้งหมดให้หอจดหมายเหตุตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว
ไบเดน ระบุด้วยว่า รู้สึกประหลาดใจที่มีเอกสารลับดังกล่าวอยู่ในสำนักงานเก่าของเขา พร้อมทั้งยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่
หลังจากมีเรื่องนี้ออกมา พรรครีพับลิกันออกมาวิจารณ์ประธานาธิบดีไบเดนทันที เจมส์ โคเมอร์ ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ประกาศว่าได้เริ่มตรวจสอบไบเดนและครอบครัวของไบเดนแล้ว โดยร้องขอให้ทำเนียบขาวส่งเอกสารลับชุดนี้ การติดต่อสื่อสาร และธุรกรรมทั้งหมดของไบเดนและครอบครัวให้คณะกรรมการกำกับดูแลของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหาข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ดี ระหว่างที่เอกสารชุดแรกกำลังอยู่ระกว่างตรวจสอบนั้น ก็มีการพบเอกสารชุดที่ 2 เพิ่มเติม
เมื่อวานนี้ ( 12 ม.ค.) มีรายงานว่าผู้ช่วยของประธานาธิบดีไบเดนได้พบเอกสารลับของทางการชุดที่ 2 ในห้องเก็บของภายในบ้านพักของไบเดนในเมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ แต่ไม่ได้ระบุว่าเอกสารที่พบนั้นจัดอยู่ในชั้นความลับใด
ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนก็ได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่า เขาให้ความสำคัญกับการจัดการเรื่องนี้อย่างมาก และจะให้ความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมอย่างเต็มที่เหมือนที่เคยกล่าวไปแล้ว
ไม่เฉพาะประธานาธิบดีไบเดนเท่านั้นที่กำลังเจอกับการตรวจสอบ อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ FBI ได้บุกเข้าค้นบ้านพักของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ในรัฐฟลอริดา และพบเอกสารลับและลับสุดยอดหลายฉบับที่ทรัมป์เอาออกมาจากทำเนียบขาวหลังหมดวาระเมื่อต้นปี 2020
จุดเริ่มต้นมาจากการที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ ได้แจ้งว่ามีเอกสารลับจำนวนหนึ่งถูกนำไปยังบ้านพักส่วนตัวของอีดตประธานาธิบดีทรัมป์ FBI จึงรวบรวมหลักฐานว่าทรัมป์ได้นำเอกสารที่เป็นบันทึกของรัฐบาล ตลอดจนเอกสารลับสุดยอดต่างๆ ออกจากทำเนียบขาวไปเก็บไว้ยังบ้านพักส่วนตัวในรัฐฟลอริดาจริงหรือไม่ เพื่อขอหมายค้นจากศาล
ก่อนที่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมปีที่แล้ว FBI จะบุกเข้าค้นบ้านพักของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่รีสอร์ท มาร์-อา-ลาโก (Mar-a-Lago) และพบเอกสารลับ 20 กล่อง ซึ่งมีทั้งเอกสารลับ เอกสารลับมาก ไปจนถึงเอกสารลับสุดยอด
ด้านทรัมป์ออกมาโวยวายถึงการดำเนินการของ FBI โดยระบุว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และระบุว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะเอกสารที่เก็บไว้ที่บ้านพักไม่ได้เป็นเอกสารลับอีกต่อไปแล้ว โดยบอกด้วยว่าตั้งใจจะส่งมอบเอกสารเหล่านี้คืนให้อยู่แล้วถ้ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ร้องขอมา
กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ออกมาสวนกลับทันทีว่า ได้ขอเอกสารคืนจากทรัมป์แล้ว แต่ทรัมป์และทีมทนายความคืนให้ไม่หมด จึงต้องส่ง FBI ไปทำการยึดส่วนที่เหลือกลับคืนมา
แม้สถานการณ์ทั้งสองจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่มีการวิเคราะห์ว่ากรณีของไบเดนและทรัมป์มีข้อแตกต่างกันหลายประการ ตั้งแต่จำนวนเอกสารที่พบ ประเภทของเอกสาร ไปจนถึงสถานที่ที่พบเอกสารเหล่านั้น อาจทำให้กระบวนการพิจารณาของทรัมป์และไบเดนมีความแตกต่างกัน
ประเด็นที่ทั้งประธานาธิบดีไบเดนและอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มีเหมือนกันคือ การจัดการกับเอกสารของรัฐบาลอย่างไม่เหมาะสม หลังจากที่พวกเขาพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองในฝ่ายบริหาร
ภายใต้กฎหมายรัฐบัญญัติว่าด้วยบันทึกของประธานาธิบดี (Presidential Records Act) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บันทึก และเอกสารต่างๆ กำหนดให้เป็นของสาธารณะ เมื่อลงจากตำแหน่ง จึงต้องมอบเอกสารเหล่านั้นให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไบเดนและทรัมป์กลับต่างกันสิ้นเชิงในกรณีของประธานาธิบดีไบเดน ทนายความของเขาเป็นค้นพบเอกสารเหล่านี้ ในจำนวนที่น้อย ทั้งยังรีบแจ้งให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติของสหรัฐฯ ทราบและส่งคืนเอกสารเหล่านั้นทันทีและยังให้ความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ
ในกรณีของทรัมป์ เกิดจากหอจดหมายเหตุแจ้งว่ามีเอกสารหายไป ทำให้เจ้าหน้าที่ FBI บุกเข้าค้นบ้านพักส่วนตัวของอดีตประธานาธิบดี ขณะเดียวกันปฏิกิริยาตอบโต้ของทรัมป์เป็นการขัดขวางกระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ และไม่ได้ส่งคืนเอกสารทันทีหรือไม่เต็มใจที่จะส่งเอกสารคืน แม้จะมีการเรียกเรียกร้องจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติหลายครั้งก็ตาม ทำให้ทรัมป์อาจถูกตั้งข้อหาขัดขวางการสืบสวนสอบสวนของรัฐและจงใจปกปิดหรือลบบันทึกลับของรัฐบาล
โดยอดีตอัยการของสหรัฐฯ กล่าวว่า คดีนี้จะสร้างความแตกต่างอย่างมากในกระบวนการยุติธรรม ระหว่างคนที่เปิดเผยเรื่องนี้ให้ทางการทราบด้วยตนเองโดยสมัครใจ กับคนที่ทางการต้องบุกเข้ามาค้นหาเอง
อย่างไรก็ตามในแง่ของจำนวน แม้ว่าจำนวนเอกสารลับที่เจอในบ้านพักของทรัมป์จะมีจำนวนกว่าร้อยฉบับมากกว่าเอกสารที่พบในสำนักงานเก่าของไบเดนที่มีเพียงแค่ 10 ชุด แต่อดีตอัยการสหรัฐฯ กล่าวว่า อัยการอาจไม่ได้มองแค่เรื่องของจำนวนเป็นหลัก แต่จะพิจารณาในแง่เนื้อหาว่าสิ่งที่ระบุในเอกสารสำคัญระดับประเทศขนาดไหน
ทั้งนี้กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับทั้งไบเดนและทรัมป์ หมายความว่า ผู้ที่มีโอกาสลงชิงชัยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้าทั้งสองคน กำลังตกอยู่ภายใต้การสอบสวนของคณะทำงานพิเศษในกรณีที่คล้ายกัน และอาจส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อการเลือกตั้งในปี 2024 ได้
————————————————————————————————————————-
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 13 ม.ค.65
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/188366