ในวันปีใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง เป็นเทศกาลหยุดยาว พักผ่อน ท่องเที่ยว เยี่ยมญาติมิตร แต่สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะมีเหตุรุนแรงในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว
เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 31 ธ.ค.65 ซึ่งเป็นคืนส่งท้ายปีเก่า ช่วงใกล้ๆ จะเคาท์ดาวน์ เวลาประมาณ 23.30 น. มีรายงานว่า คนร้ายได้ก่อเหตุในลักษณะ “ก่อกวน” แนว ๆ เผายางรถยนต์ และลอบยิงฐานของกองกำลังประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 5 จุดด้วยกัน
แต่พอรุ่งเช้า วันที่ 1 ม.ค.66 วันแรกของศักราชใหม่ เมื่อเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ ก็ได้พบจุดเกิดเหตุเพิ่มอีก 2 จุด รวมเป็น 7 จุด ทั้งหมดอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี ดังนี้
1. คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามลอบยิงฐาน ชคต. หรือ ชุดคุ้มครองตำบล ที่ ต.ตะโละ ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านเปาะซูแม หมู่ 2 ต.ตะโละ อ.ยะหริ่ง
2. คนร้ายลอบวางเพลิงเผายางรถยนต์ และพ่นสีเปรย์ ข้อความ PATANI MERDEKA (ปาตานี เมอร์เดก้า หรือ เมอร์เดกอ) บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 พื้นที่บ้านทุ่งโพธิ์ หมู่ 5 ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก โดยคำว่า ปาตานี เมอร์เดก้า หรือ เมอร์เดกอ แปลว่า “เอกราชปาตานี” ซึ่งเป็นคำที่คนร้ายใช้พ่นพื้นถนน หรือราวสะพานอยู่บ่อยๆ (ส่วนใหญ่คนที่ก่อเหตุเป็นนักรบรุ่นใหม่ เพิ่งเคยก่อเหตุ ถือเป็นวิธีการทดสอบจิตใจของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน)
3. คนร้ายเผายางรถยนต์ บนถนนหมายเลข 4061 ท้องที่บ้านท่าข้าม หมู่ 1 ต.ท่าข้าม อ.ปะนาเระ
4. คนร้ายลอบวางเพลิงเผาด่านตรวจ ในพื้นที่บ้านลางา หมู่ 2 ต.ลางา อ.มายอ ทำให้ด่านตรวจได้รับความเสียหาย
5. คนร้ายลอบวางเพลิงเผายางรถยนต์ บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ซึ่งเป็นถนนสายใหญ่ระหว่างจังหวัดนราธิวาสกับปัตตานี ในพื้นที่ บ้านปาลัส หมู่ 5 ต.ลางา อ.มายอ
6. คนร้ายลอบวางเพลิงเผายางรถยนต์ บนถนนหมายเลข 4157 พื้นที่บ้านราวอ หมู่ 1 ต.ดอน อ.ปะนาเระ
7. คนร้ายลอบวางเพลิงเผายางรถยนต์ในพื้นที่บ้านนอก หมู่ 3 ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ
สรุปเหตุก่อกวนทั้งหมด 7 เหตุการณ์ กระจายอยู่ใน 4 อำเภอของจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีทั้งหมด 12 อำเภอ
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า เป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้ พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 กำชับให้ทุกหน่วยเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะบนถนนสายหลักและสายรองทุกเส้นทาง เพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำในวาระ 19 ปีไฟใต้ ซึ่งจะครบรอบในวันที่ 4 ม.ค.นี้ โดยเจ้าหน้าที่พบแผนของคนร้ายเตรียมก่อเหตุในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
จากการเก็บข้อมูลย้อนหลังทราบว่า เหตุรุนแรงในคืนส่งท้ายปีเก่าที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว
โดยเมื่อปีที่แล้ว วันที่ 31 ธ.ค.64 ก่อนจะขึ้นปีใหม่ 2565 มีการจัดกิจกรรมใหญ่ในพื้นที่ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกิจกรรมเคาท์ดาวน์ ที่ จ.ยะลา ปรากฏว่า คนร้ายได้ลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าหลายจุดในเขต อ.เมืองยะลา และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่นหลายจุด และไฟดับเป็นบริเวณกว้าง สร้างความตื่นตระหนกและเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
จริง ๆ แล้วเหตุการณ์ลอบวางระเบิดไม่ได้รุนแรงมาก และไฟฟ้าก็ดับไม่นานนัก แต่คนร้ายได้ทำ “เฟกนิวส์” หรือ “ข่าวปลอม” โดยตัดต่อภาพจอทีวีเนชั่น ว่ามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นหลายสิบจุด ในหลายพื้นที่ของ จ.ยะลา ซึ่งเป็นข่าวเก่าหลายปีมาแล้ว และไม่ได้เกิดช่วงวันส่งท้ายปีเก่า แต่นำมาส่งต่อในสื่อสังคมออนไลน์ในคืนเกิดเหตุส่งท้ายปีเก่า ปี 2564 ก่อนขึ้นปีใหม่ปี 2565 เพื่อกระพือข่าวและสร้างผลกระทบทางจิตวิทยาว่า ในพื้นที่มีเหตุร้ายแรง ซึ่งเป็นข่าวเกินจริง
@@ จุดประสงค์ป่วนใต้ส่งท้ายปี
วิธีการสร้างเหตุรุนแรง และสร้างข่าวเกินจริงของกลุ่มก่อความไม่สงบชายแดนใต้ สะท้อนชัดเจนถึงจุดประสงค์ของผู้ก่อการ ว่าต้องการทำลายบรรยากาศความสงบสุข โดยไม่ได้หวังผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และอาจเป็นไปได้ว่า ศักยภาพของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเอง ก็อาจทำไม่ได้มากกว่านี้แล้วก็ได้ ประกอบกับหน่วยงานความมั่นคงได้สกรีนพื้นที่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในของเขตเทศบาลนครยะลา ที่ใช้จัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ ทำให้คนร้ายไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปก่อเหตุได้ ต้องวางระเบิดรอบนอกเท่านั้น
หน่วยข่าวความมั่นคงได้สรุปจุดประสงค์ของการก่อเหตุรุนแรงช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเกิดมาแล้ว 2 ปีซ้อน โดยปีที่แล้วเกิดใน จ.ยะลา ส่วนปีนี้เกิดใน จ.ปัตตานี
1. ต้องการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว และความสงบสุข ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนพยายามสร้างขึ้น เพื่อฟื้นเศรษฐกิจของพื้นที่ หลังจากโดนโควิดเล่นงานมาเกือบ 3 ปี
2. ต้องการประกาศศักดา แสดงศักยภาพว่าตัวเองยังมีพลัง และก่อเหตุรุนแรงได้ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุร้ายที่ก่อขึ้น มีลักษณะ “ก่อกวน” มากกว่าที่จะสร้างความเสียหายได้จริง
3. ต้องการสร้างข่าวใหญ่ โดยโหนกระแสช่วงปีใหม่ เพื่อให้ส่งผลทางจิตวิทยาว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีปัญหา ยังไม่สงบจริง
4. ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคงที่แก้ปัญหามานานหลายปี แต่สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น (จริงๆ แล้วสถิติเหตุรุนแรงลดลง แต่คนร้ายเลือกก่อเหตุในจังหวะเวลาที่ข่าวน้อย เพราะเป็นวันหยุดปีใหม่ ทำให้กลายเป็นข่าวดัง และตอกย้ำว่าไฟใต้ยังไม่ดับมอด)
5. ต้องการประกาศว่า “ยังมีตัวตน” เพื่อหวังผลในกระบวนการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติสุข ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอยู่กับตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็น
————————————————————————————————————————-
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 1 มกราคม 2566
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/114918-medikafatoni.html