เลขาธิการ กมช. แจง กรณีส่งต่อข้อความเตือนแฮกเกอร์ ฝังมัลแวร์ในรูปภาพ ยืนยันปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ แต่ ไฟล์ และลิงก์วิดีโอมีความเสี่ยง หากไม่แน่ใจอย่าคลิกลิงก์ใด ๆ ที่ถุกส่งต่อมา เพื่อลดความเสี่ยงถูกมิจฉาชีพหลอก
จากกรณีที่มีการส่งข้อความแชร์กันในโลกโซเซียลมีเดีย ระบุว่า ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ห้ามโพสต์รูปภาพ ภาพและวิดีโอ เช่น อรุณสวัสดิ์และราตรีสวัสดิ์ ที่ผู้สูงอายุคนไทย นิยมส่งทางโซเซียลมีเดีย ซึ่งแฮกเกอร์ได้ซ่อนรหัสฟิชชิ่ง เมื่อทุกคนส่งข้อความ หรือเป็นผู้รับข้อความ แฮกเกอร์จะใช้อุปกรณ์ของเราเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลบัตรธนาคาร และเจาะเข้าไปในโทรศัพท์ของคุณ มีรายงานว่ามีผู้เสียหายมากกว่า 500,000 รายในต่างประเทศที่ถูกหลอก หากต้องการทักทายใครสักคน ให้เขียนคำทักทายของคุณเองและส่งรูปภาพ และวิดีโอของตัวเอง เพื่อป้องกันตัวเอง ครอบครัว และเพื่อน ๆ นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ( เลขาธิการ กมช.) ให้สัมภาษณ์กับ “เดลินิวส์” ว่า ข้อมูลดังกล่าวที่ถูกส่งต่อกันเป็นเฟคนิวส์ ที่มีการแปลมาจากภาษาต่างประเทศ และไม่มีแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่น่าเชื่อถือพอ มีการส่งต่อข้อความลักษณะคล้าย ๆ แบบนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว มีการนำชื่อเจ้าหญิงของรัสเซียในอดีต คือ Olga nikolaevna มาตั้งเป็นชื่อของทนายความ ในข้อความของเฟคนิวส์ที่ส่งต่อๆกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึง โอกาสที่แฮกเกอร์จะฝังมัลแวร์ในรูปภาพ หรือลิงก์วิดีโอที่ส่งมานั้น ทาง เลขาธิการ กมช. ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันถ้าเป็นไฟล์รูป ยังไม่สามารถฝังมัลแวร์มากับรูปภาพได้ แต่ถ้าเป็นไฟล์อื่น เช่น ไฟล์เอกสาร ต่างๆ เช่น ไมโครซอฟท์เวิร์ด เอกเซล ฯลฯ หรือส่งลิงก์ต่าง ๆ มาให้คลิก ต้องระวัง สามารถทำได้ ซึ่งในกรณีลิงก์วิดีโอนั้น ถ้าเป็นลิงก์จาก ยูทูบจริง ไม่มีปัญหา และจะขึ้น Preview ให้ แต่ถ้าเป็นลิงก์หลอก กดแล้วไม่ไปที่เว็บไซต์ยูทูบ ก็มีสิทธิที่จะเป็นมิจฉาชีพ ดังนั้น ถ้ามีลิงก์ส่งมาให้คลิก แล้วเราดูไม่เป็นให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพไว้ก่อน อย่าคลิกลิงก์เหล่านั้น ก็จะลดความเสี่ยงจากการถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกได้
สุดท้าย พลอากาศตรี อมร กล่าวว่า การที่คนไทยตื่นตัวกับกลโกง การหลอกลวงต่าง ๆ ทางออนไลน์ ถือเป็นเรื่องดี แต่ไม่ควรตื่นกลัวด้วยข่าวปลอมที่ถูกส่งต่อๆกัน ควรจะต้องตรวจสอบความจริงและแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ก่อนที่จะเชื่อ หรือแชร์ข้อความต่าง ๆ ออกไป เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกของสังคม
——————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยเเพร่ 25 ม.ค. 2566
Link : https://www.dailynews.co.th/news/1929610/