เหตุการณ์ปาระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้าง โจมตีฐานปฏิบัติการหมวดเฉพาะกิจหน่วยปฏิบัติการพิเศษยะลา 1 (มว.นปพ.ยะลา 1) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมทางหลวงหมายเลข 4082 ในพื้นที่บ้านเปาะยานิ หมู่ 3 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 66 ระเบิดทำงาน 1 ลูก และไม่ทำงาน 1 ลูก แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บนั้น
ระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายใช้ขว้างใส่ฐานในครั้งนี้ มีรูปร่างที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นทรงกระบอก กลายมาเป็นโลหะรูปทรงกลมสีดำ มองเผิน ๆ คล้ายลูกระเบิดขว้างแบบมาตรฐานทางทหาร หรือ “ระเบิดลูกเกลี้ยง”
แต่เมื่อทางเจ้าหน้าที่เข้าทำการเก็บกู้และตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว จึงพบว่าระเบิดดังกล่าว เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่มีส่วนประกอบต่าง ๆ เหมือนระเบิดแสวงเครื่อง “ไปป์บอมบ์” ที่คนร้ายเคยใช้ก่อเหตุในหลาย ๆ ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ได้เปลี่ยนรูปทรงของระเบิดจากเดิมที่ใช้ท่อเหล็กทรงกระบอก มาใช้ “บอลกลมร้อยท่อโลหะ” ที่ใช้ในงานตกแต่งประตูรั้ว ราวบันไดเหล็ก แล้วใส่ดินระเบิดกับ “บอล แบริ่ง” หรือ “ลูกเหล็ก” ที่ใช้เป็นสะเก็ดระเบิดสังหารเข้าไป แล้วส่วนบนของระเบิดใช้เรือนชนวนขึ้นรูป เป็นตัวเก็บระบบจุดระเบิด ประกอบด้วยวงจรหน่วงเวลา สายไฟฟ้า แบตเตอรี่ และเชื้อปะทุไฟฟ้า ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่ใช้ในระเบิดแสวงเครื่องไปป์บอมบ์แบบเดิมก่อนหน้านี้
“จาก “ไปป์บอมบ์” สู่ “บอลบอมบ์”
ระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้างที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ในการลอบโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในยุคแรก ๆ เรียกกันว่า “ไปป์บอมบ์” นั้น ทำมาจากท่อเหล็กเชื่อมปิดท้ายแล้วนำมาบรรจุดินระเบิดและสะเก็ดระเบิดเข้าไป
ด้านหัวเชื่อมปิดให้เหลือรูขนาดเล็กลงกว่าขนาดของท่อ ปิดด้านหัวด้วยส่วนที่เป็นเรือนชนวนในการจุดระเบิด ทำมาจากท่อพีวีซีขนาดเล็กกว่าท่อเหล็ก ซึ่งจะเป็นจุดที่ใส่ส่วนประกอบของวงจรหน่วงเวลา (วงจร IC TIMER) แบตเตอรี่ และเชื้อปะทุไฟฟ้า แล้วก็มีตัวก้านที่เราเรียกว่า “กระเดื่อง” เหมือนที่มีในระเบิดมาตรฐาน ที่เมื่อดึงสลักแล้วปาออกไป จะทำให้กระเดื่องหลุดจากเรือนชนวน ระเบิดจะถูกหน่วงเวลาตามที่กำหนดไว้ยังไม่ทำงานทันที แต่เมื่อครบตามเวลาที่ตั้งไว้ วงจรจะจ่ายไฟไปยังเชื้อปะทุไฟฟ้าเพื่อทำหน้าที่จุดดินระเบิดให้ระเบิดทำงานทันที
“ไปป์บอมบ์” รูปแบบนี้ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดได้มากถึง 40 ลูก จากการตั้งจุดตรวจจุดสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง บนนถนนสายสุไหงโกลก – ตากใบ ท้องที่บ้านสะหริ่ง ต.โฆษิต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยสามารถสกัดรถกระบะที่ขนระเบิดไปป์บอมบ์และอุปกรณ์วงจรต่าง ๆ ได้เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.61
ต่อมาก็มีการพัฒนาของระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้างขึ้นอีก จากที่เจ้าหน้าที่พบและเก็บกู้ได้หลายครั้งในช่วงปี 64 โดยพบว่าในส่วนของเรือนชนวนเดิมที่เป็นท่อพีวีซี ถูกพัฒนารูปทรงใหม่ เป็นเรือนชนวนพลาสติกขึ้นรูป ดูสวยงามขึ้น ไม่ยาวเกะกะเหมือนแบบที่เป็นท่อพีวีซีเดิม คาดว่าการทำเรือนชนวนขึ้นรูปแบบนี้ ทำมาจากเครื่องปรินท์ 3D ที่สามารถออกแบบชึ้นงานแล้วพิมพ์เป็นชิ้นส่วนออกมาตามแบบได้ แต่ส่วนประกอบสำคัญอย่างวงจรหน่วงเวลาและแบตเตอรี่ ก็ยังถูกบรรจุไว้ภายในเรือนชนวนเหมือนเดิม
โดยระเบิดแบบที่มีการพัฒนาเป็นเรือนชนวนขึ้นรูปแล้ว เคยพบถูกนำมาใช้ก่อเหตุหลายครั้ง มีหลายเหตุการณ์ที่พบระเบิดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ยังไม่ระเบิด เช่น เหตุคนร้ายปาระเบิดใส่ฐาน ชคต. (ชุดคุ้มครองตำบล) บ้านน้ำบ่อ พื้นที่หมู่ 2 ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อ 22 ก.ย.65 หรือเหตุปาระเบิดใส่ฐาน ชคต.สาคอบน หมู่ 2 ต.สาคอบน อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 ต.ค.65
ส่วนระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้างในรูปทรงกลม หรือ “บอลบอมบ์” (หากเราจะเรียกตามรูปทรงเหมือนไปป์บอมบ์) ในลักษณะคล้าย ๆ กับที่คนร้ายใช้ก่อเหตุที่ฐาน มว.นปพ.ยะลา 1 ล่าสุดนั้น จริง ๆ แล้วเคยพบถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก ในเหตุปาระเบิดใส่ฐานหมวดเฉพาะกิจตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ในพื้นที่บ้านลางา หมู่ 5 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.65 โดยระเบิดทำงานไม่สมบูรณ์ และไม่เกิดระเบิดขึ้น ซึ่งระเบิดที่พบนั้น มีลักษณะคล้ายลูกระเบิดขว้างสังหาร ซึ่งเป็นระเบิดมาตรฐาน แบบ M67
เจ้าหน้าที่อีโอดีเชื่อว่า การพัฒนารูปร่างของระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้าง จากทรงกระบอกมาเป็นทรงกลม ส่วนหนึ่งต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการขว้างให้ดีขึ้น เนื่องจากระเบิดทรงกระบอกจะไม่ลู่ลมเท่ากับทรงกลม รวมไปถึงรูปร่างที่เป็นทรงกระบอก โดยเฉพาะในช่วงที่ยังเป็นไปป์บอมบ์แบบเรือนชนวนใช้ท่อพีวีซี มีความยาวเกะกะและพกพาหลบซ่อนสายตาเจ้าหน้าที่ยาก ต่างกับระเบิดที่เป็นทรงกลมแบบใหม่ที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับระเบิดขว้างมาตรฐานที่จับถนัดมือมากขึ้น
แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า ระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้างที่ผู้ก่อความไม่สงบประกอบขึ้นมาและถูกนำมาใช้นั้น ยังพบว่าในหลายครั้ง ระเบิดทำงานไม่สมบูรณ์ และบางครั้งขว้างไปตกยังเป้าหมายก็ไม่ระเบิด หรือระเบิดไม่ทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้ และทำให้ทราบถึงพัฒนาการในการประกอบระเบิดแสวงเครื่องของผู้ก่อความไม่สงบ
“จรวดแสวงเครื่อง” ระวัง “โดรนดัดแปลงทิ้งระเบิด”
แม้ในปัจจุบันการก่อเหตุแบบใช้ระเบิดแสวงเครื่องปาใส่ฐานปฏิบัติการของฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องพยายามติดตามเฝ้าระวังการก่อเหตุด้วยระเบิดด้วยวิธีการและรูปแบบใหม่ ๆ ที่คาดว่าคนร้ายอาจจะนำมาใช้ในพื้นที่ได้เช่นกัน
ที่ผ่านมาเคยพบการพยายามทำ “จรวดแสวงเครื่อง” เพื่อใช้โจมตีฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่จากระยะไกล พบครั้งแรกบริเวณคูน้ำริมถนนในพื้นที่ ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (ไม่ห่างจากท่าอากาศยานปัตตานี หรือ สนามบินบ่อทองมากนัก) เมื่อวันที่ 28 ม.ค.59
และที่พบล่าสุดเมื่อ 14 ก.ค.65 จากการจับกุมตัว นายมือลี ฮะมะ สมาชิกขบวนการพูโล (กลุ่มใหม่เรียกตัวเองว่า พูโล G5) ที่ให้การรับสารภาพ และนำไปชี้จุดซุกซ่อนระเบิดในพื้นที่ ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส โดยพบ “จรวดแสวงเครื่อง” ที่ประกอบเรียบร้อยแล้วและคาดว่า เป้าหมายจะใช้ยิงให้ไปตกในพื้นที่ของสนามบินบ้านทอน หรือ ท่าอากาศยานนราธิวาส ซึ่งอยู่ในพื้นที่รอยต่อกับ อ.ยี่งอ ลักษณะการยิงคล้าย ๆ บั้งไฟแต่เป็นวิถีโค้ง
แต่ที่น่าจับตาและมีความเป็นไปได้มากที่สุดในปัจจุบัน คือ การใช้ “โดรนดัดแปลงทิ้งระเบิด” เนื่องจาก “โดรน” ที่ปกติมีขายโดยทั่วไป มีไว้ใช้ถ่ายภาพทางอากาศ หรือภาพมุมสูง รวมถึง “โดรน” ที่ใช้ในทางเกษตรกรรม ขนปุ๋ยไปโปรยในแปลงพืชผัก “โดรน” เหล่านี้ถูกดัดแปลงให้สามารถนำระเบิดไปติดตั้งได้ แล้วมีการทำระบบให้โดรนปล่อยระเบิดทิ้งตรงจุดหมายที่ต้องการได้ เพราะโดรนถ่ายภาพปกตินั้น สามารถดูภาพแบบเรียลไทม์ผ่านอุปกรณ์บังคับ ทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งในการทิ้งระเบิดได้ค่อนข้างแม่นยำในระดับหนึ่ง
วิธีการนี้พบเห็นได้จากข่าวการต่อสู้ของกองกำลังกะเหรี่ยงที่สู้รบกับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยใช้โดรนนำระเบิดบินไปหย่อนทิ้งใส่ที่ตั้งกองกำลังทหารเมียนมา หลาย ๆ ครั้งสร้างความเสียหายและสูญเสียให้กับฝ่ายตรงข้ามได้ไม่น้อย หรือแม้แต่ในสงครามรัสเซีย – ยูเครน ก็มีข่าวทหารยูเครนนำโดรนมาดัดแปลงเป็นโดรนทิ้งระเบิดในแบบเดียวกันนี้ เพื่อโจมตีทหารรัสเซีย
นักวิชาการถอดบทเรียน KNU สู้กองทัพเมียนมา
ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ และนวัตกรรมการก่อการร้าย กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า กรณี “โดรนขนระเบิด” แบบทำเองบ้าน ๆ ในเมียนมา กลุ่ม KNU หรือ “กะเหรี่ยงคริสต์” เป็นกลุ่มแรกที่ใช้ แล้วได้ผลดีมาก
สาเหตุที่ใช้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนอาวุธ เป็นการปรับใช้เครื่องมือด้านการเกษตรหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อใช้ในการสงคราม
“เมื่อก่อนมันเป็นโดรนใช้สำหรับโปรยพวกสารเคมี แล้วก็ปุ๋ย รับน้ำหนักได้มาก ยกของได้มาก เคยมีข้อสันนิษฐานว่าขบวนการค้ายาเสพติดก็อาจจะเคยใช้บริเวณลำน้ำโขงระหว่างไทย-ลาวด้วย” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ กล่าว
และว่า จุดเด่นของ “โดรน” คือ ถ้ายิ่งเครื่องเล็ก ก็ยิ่งตรวจจับได้ยาก แม้จะมีตัวสแกนและปืนยิงโดรนที่ดักยิงได้ แต่ก็หลุดรอดได้บ่อยครั้ง ส่วนขนาดและชนิดของวัตถุระเบิดที่ใช้ “โดรน” ยกขึ้นไป ก็มีการดัดแปลง ทั้งไปป์บอมบ์ และลูกระเบิดจริง ๆ
จากข้อมูลของ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ ที่ถอดบทเรียนจากเมียนมา หากมองในแง่ความมั่นคงในยุคสื่อสังคมออนไลน์ที่ทั้งโลกเชื่อมถึงกันด้วยอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ย่อมเป็นเรื่องน่ากังวลไม่น้อย เพราะอาจมีการเลียนแบบขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นได้
เพราะราคา “โดรน” ในปัจจุบันถูกลงมากกว่าในอดีต ราคาหลักพันนิด ๆ ก็สามารถซื้อมาใช้ได้แล้ว รวมถึงการใช้งานและดัดแปลงต่าง ๆ ก็ศึกษาหาวิธีการได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต ที่สำคัญการใช้โดรนทิ้งระเบิด เป็นการโจมตีเป้าหมาย โดยที่ผู้บังคับโดรนสามารถอยู่ในตำแหน่งที่ไกลออกไป ลดความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมได้ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการผู้ก่อความไม่สงบจากเมื่อครั้งที่พยายามทำ “จรวดแสวงเครื่อง” ออกมาใช้
บทความโดย สำนักข่าวอิศรา
————————————————————————————————————————-
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 27 ก.พ. 2566
Link :https://www.isranews.org/article/south-news/scoop/116460-homemadegrenades.html