ฟิลิปปินส์ตกลงอนุญาตให้อเมริกาเข้าไปใช้ฐานทัพของตนเพิ่มอีก 4 แห่ง รวมกับของเดิมเป็น 9 แห่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของชาติพันธมิตรเก่าแก่ 2 รายนี้ ที่ระบุว่าต้องการต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารของปักกิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ ตลอดจนความตึงเครียดเกี่ยวกับไต้หวัน
ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างการเยือนกรุงมะนิลา กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับ คาร์ลิโต กัลเวซ รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ เมื่อวันพฤหัสบดี (2 ก.พ.) ว่า ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ อนุมัติแล้วให้วอชิงตันสามารถเข้าถึงฐานทัพของฟิลิปปินส์เพิ่มอีก 4 แห่ง จากเดิม 5 แห่งภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมเพิ่มเติม (อีดีซีเอ) ซึ่งจัดทำกันไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2014
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสของฟิลิปปินส์คนหนึ่งเผยว่า ทั้งสองประเทศกำลังเจรจาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเพิ่มฐานทัพอีกแห่งหนึ่ง เป็นแห่งที่ 10
ในการประกาศร่วมกันของ 2 ประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันพฤหัสฯ บอกว่าความเป็นพันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์กับอเมริกายืนหยัดมั่นคงท้าทายกาลเวลา และทั้งสองประเทศหวังว่า ฐานทัพเหล่านี้จะนำไปสู่การขยายความร่วมมือต่อไป
เวลาเดียวกันสหรัฐฯ ตกลงจัดสรรงบประมาณ 82 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในฐานทัพ 5 แห่งเดิมภายใต้อีดีซีเอ
ทั้งนี้ ข้อตกลงอีดีซีเอ เปิดโอกาสให้อเมริกาเข้าไปใช้ฐานทัพต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์ เพื่อการร่วมฝึกซ้อม นำอาวุธเข้าไปเก็บไว้ล่วงหน้า และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รันเวย์ คลังจัดเก็บเชื้อเพลิง และค่ายพักทหาร แต่การเข้ามาของทหารอเมริกันจะอยู่ในลักษณะหมุนเวียน ไม่ใช่การประจำการอย่างถาวร
ปัจจุบัน อเมริกามีทหารประจำการแบบหมุนเวียนในฟิลิปปินส์ราว 500 คน
การขยายความร่วมมือครั้งนี้มีขึ้นขณะที่วอชิงตันพยายามเพิ่มตัวเลือกด้านความมั่นคงในฟิลิปปินส์ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการขัดขวางการเคลื่อนไหวใด ๆ ก็ตามของจีนที่อเมริกามองว่าเป็นอันตรายต่อไต้หวัน โดยถึงแม้สหรัฐฯ ยอมรับเรื่องที่ว่ามีจีนอยู่จีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่นักการเมืองอเมริกันจำนวนมากยังคงพยายามอย่างหนักในการมุ่งหาทางให้ไต้หวันเป็นอิสระจากปักกิ่ง
ในอีกด้านหนึ่ง เวลานี้สหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์มีความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ที่เอนเอียงฝักใฝ่จีนมากกว่าอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างอเมริกา
เนื่องจากที่ตั้งของฟิลิปปินส์นั้นอยู่ใกล้เกาะไต้หวัน อเมริกาจึงมองว่าความร่วมมือกับมะนิลาเป็นกุญแจสำคัญกรณีที่เกิดการสู้รบขัดแย้งกับจีนในเรื่องไต้หวันขึ้นมา โดยที่นายพลคนสำคัญของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เพิ่งกล่าวเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ความขัดแย้งนี้อาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปี 2025
การประกาศร่วมของสองประเทศไม่ได้ระบุว่า ฐานทัพฟิลิปปินส์ที่จะเปิดให้สหรัฐฯ เข้าถึงนั้นอยู่ที่ใดบ้าง ทว่า อดีตผู้บัญชาการทหารของฟิลิปปินส์เคยเปิดเผยว่า อเมริกาขอเข้าถึงฐานทัพบนเกาะลูซอนซึ่งเป็นส่วนที่ใกล้ไต้หวันมากที่สุด และบนเกาะปาลาวัน ที่หันหน้าเข้าหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้
สำหรับปฏิกิริยาจากปักกิ่ง เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวระหว่างการแถลงข่าวตามปกติในวันพฤหัสฯ ว่า การที่สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงฐานทัพฟิลิปปินส์ได้เพิ่มขึ้นเช่นนี้ เป็นพฤติการณ์ขยายความตึงเครียดของภูมิภาคแถบนี้ให้ยิ่งบานปลาย ร่วมทั้งเป็นอันตรายต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค
“บรรดาประเทศในภูมิภาคยังควรที่จะระมัดระวังตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ และหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกใช้โดยสหรัฐฯ”
นอกเหนือจากหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์แล้ว ในวันพฤหัสฯ ออสตินยังได้เข้าพบประธานาธิบดีมาร์กอส และให้ความมั่นใจกับผู้นำแดนตากาล็อกว่า อเมริกาจะยังคงให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างและปรับปรุงแสนยานุภาพของกองทัพฟิลิปปินส์ให้ทันสมัย และเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกองทัพของสองประเทศ
ด้านมาร์คอส ที่พบประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาแล้วสองครั้งนับจากชนะการเลือกตั้งถล่มทลายในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ย้ำว่า อนาคตของฟิลิปปินส์และเอเชีย-แปซิฟิกจะต้องมีอเมริกาที่เป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญามายาวนานเกี่ยวข้องเสมอ
ทั้งนี้ การเยือนของออสตินเกิดขึ้นหลังจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เดินทางเยือนฟิลิปปินส์นาน 3 วัน และย้ำขณะเดินทางไปยังปาลาวันว่า วอชิงตันจะเคียงข้างฟิลิปปินส์หากมีการข่มขู่คุกคามในทะเลจีนใต้
——————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยเเพร่ 2 ก.พ. 2566
Link : https://mgronline.com/around/detail/9660000010653