หลายประเทศต่างก็สอดแนมกันและกันเป็นปกติ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่เป็นพันธมิตรกัน เช่น อังกฤษเคยสอดแนมเยอรมนีจากสถานทูตในกรุงเบอร์ลิน
บอลลูนที่น่าสงสัยว่าจะเป็นบอลลูนสอดแนมจากจีนที่ลอยเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งยังสร้างความหวั่นเกรงต่อวิธีการล้วงข้อมูลประเทศคู่แข่งของจีน
คริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอพูดไว้เมื่อปี 2020 ว่า การสอดแนมของจีนเป็น “ภัยคุกคามระยะยาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศเรา และต่อความมีชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจของเรา”
กระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุในแถลงการณ์ถึงสำนักข่าว AFP ว่า จีน “ต่อต้านอย่างเด็ดเดี่ยว” ต่อปฏิบัติการสอดแนม และข้อกล่าวหาของอเมริกา “มีพื้นฐานมาจากข้อมูลเท็จและเป้าหมายทางการเมืองที่เลวร้าย”
สหรัฐฯ เองก็มีวิธีสอดแนมจีนของตัวเองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคนิคการสอดแนมและสกัดกั้น หรือเครือข่ายผู้ให้ข้อมูล
อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา เผยเมื่อปี 2015 ว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน รับปากว่าจะไม่สอดแนมเกี่ยวกับการค้า ทว่า แถลงการณ์ของสหรัฐฯ หลังจากนั้นบ่งชี้ว่า จีนยังไม่หยุดการกระทำดังกล่าว
และนี่คือวิธีการที่จีนใช้สอดแนมสหรัฐฯ
สงครามไซเบอร์
สหรัฐฯ เตือนไว้ในรายงานประจำปีว่าด้วยการประเมินข่าวกรองปี 2022 ว่า จีนคือภัยคุกคามการล้วงข้อมูลทางไซเบอร์ที่ “กว้างขวาง ตื่นตัวที่สุด และต่อเนื่อง” ต่อภาครัฐบาลและเอกชน
จากข้อมูลของนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ข่าวกรองตะวันตกพบว่า จีนมีความเชี่ยวชาญในการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของประเทศคู่แข่งเพื่อล้วงความลับทางอุตสาหกรรมและการค้า
ปี 2021 สหรัฐฯ นาโต และพันธมิตรอื่น ๆ เผยว่า จีนจ้างแฮ็กเกอร์รับจ้างเพื่อใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในระบบอีเมลของไมโครซอฟท์ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐจีนเข้าถึงอีเมล ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท และข้อมูลลับอื่น ๆ
ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ และรายงานของสื่อระบุว่า สายลับไซเบอร์ของจีนยังแฮ็กกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ บริษัทสาธารณูปโภค บริษัทด้านการโทรคมนาคมและมหาวิทยาลัย
วงการเทคกังวล
ความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามจากจีนลุกลามมาถึงภาคเทคโนโลยี ว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐจะต้องแบ่งปันข้อมูลลับให้รัฐบาลจีน
เมื่อปี 2019 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตั้งข้อหาว่าบริษัท หัวเว่ย มีส่วนร่วมในการขโมยความลับทางการค้าของสหรัฐฯ หลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และข้อหาอื่น ๆ ซึ่งหัวเว่ยปฏิเสธ สหรัฐฯ ยังแบนหัวเว่ยไม่ให้จัดหาระบบต่าง ๆ ให้รัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งไม่ใช่อุปกรณ์ของหัวเว่ยในภาคเอกชน เพราะกลัวว่าจะถูกล้วงข้อมูล
ความหวั่นเกรงคล้าย ๆ กันนี้ต่อ TikTok ทำให้บรรดานักการเมืองตะวันตกเริ่มถกเถียงกัน สมาชิกสภานิติบัญญัติบางคนเรียกร้องให้แบน TikTok ทันทีเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล
การจารกรรมทางอุตสาหกรรมและการทหาร
ผู้เชี่ยวชาญ สมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ และสื่อต่าง ๆ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ทางการจีนใช้ประโยชน์จากพลเมืองจีนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศช่วยรวบรวมข้อมูลข่าวกรองและขโมยเทคโนโลยี
หนึ่งในเคสที่โด่งดังคือ จีเชาฉิน ที่ถูกสหรัฐฯ พิพากษาจำคุก 8 ปี เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในข้อหาส่งต่อข้อมูลบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายไปยังหน่วยข่าวกรองของจีน
วิศวกรรายนี้เข้าสหรัฐฯ เมื่อปี 2013 ด้วยวีซ่านักเรียนก่อนจะเข้าเป็นทหารกองหนุน เขาถูกกล่าวหาว่าส่งข้อมูลของบุคคล 8 คนไปยังกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติประจำมณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการล้วงความลับทางการค้าของสหรัฐฯ
เมื่อปีที่แล้วศาลสหรัฐฯ ตัดสินจำคุกเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองจีน 20 ปี ในข้อหาขโมยเทคโนโลยีจากบริษัทการบินและอวกาศของสหรัฐฯ และฝรั่งเศส ชายคนนี้มีบทบาทสำคัญในแผนการระยะ 5 ปีในการขโมยความลับทางการค้าซึ่งมีรัฐบาลจีนหนุนหลังจากบริษัท GE Aviation ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ของอากาศยานชั้นนำของโลก และของบริษัท Safran Group ของฝรั่งเศส
ปี 2020 ศาลสหรัฐฯ สั่งจำคุก เว่ยซุน ชาวจีนที่แปลงสัญชาติเป็นอเมริกันและวิศวกรของ Raytheon ในข้อหานำข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับระบบขีปนาวุธของสหรัฐฯ ไปยังประเทศจีนโดยใช้แล็ปท็อปของบริษัท
สอดแนมนักการเมือง
ปฏิบัติการสอดแนมของจีนติดตามนักการเมือง กลุ่มอีลีตในวงสังคมและธุรกิจของสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของชาติ
การลงมือสืบสวนสอบสวนของเว็บไซต์ข่าว Axios ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 พบว่า นักศึกษาจีนคนหนึ่งสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย และได้สานสัมพันธ์กับนักการเมืองสหรัฐ หลายคนภายใต้การช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่สอดแนมพลเรือนของจีน
รายงานของ Axios ระบุว่า นักศึกษารายนี้ใช้โครงการระดมทุน การสร้างมิตรภาพ หรือแม้แต่การใช้ความสัมพันธ์ทางเพศ เพื่อมุ่งเป้าไปที่นักการเมืองหน้าใหม่ระหว่างปี 2011-2015
สถานีตำรวจ
นักวิจัยหลายคนเผยว่า อีกหนึ่งเทคนิคที่ถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการของจีน คือ การพูดอวดอ้างว่ามีความรู้วงในเกี่ยวกับการทำงานภายในที่คลุมเครือของพรรคคอมมิวนิสต์ และอ้างว่าสามารถเข้าถึงผู้นำระดับสูงได้ เพื่อล่อลวงเป้าหมายชาวตะวันตกที่มีชื่อเสียง
อล็กซ์ โยสกี นักเขียนชาวจีน-ออสเตรเลีย เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Spies and Lies: How China’s Greatest Covert Operations Fooled the World (สอดแนมและโกหก: ปฏิบัติการลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนหลอกโลกได้อย่างไร) ว่า เป้าหมายของการกระทำดังกล่าวคือ “ทำให้บรรดาผู้นำโลกเข้าใจจุดมุ่งหมายของจีนผิด” และทำให้คนเหล่านั้นเชื่อว่า “จีนจะผงาดขึ้นมาอย่างสงบ หรืออาจจะผงาดขึ้นมาอย่างเป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ”
นอกจากนี้ จีนยังพยายามกดดันชุมชนชาวจีนในต่างแดนและองค์กรสื่อให้สนับสนุนนโยบายของจีนเกี่ยวกับไต้หวัน และยังปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปมการปราบปรามในฮ่องกงและซินเจียง
เมื่อเดือนกันยายน 2022 Safeguard Defenders องค์กรไม่แสวงกำไรที่ตั้งอยู่ในสเปนเผยว่า จีนได้จัดตั้งสถานีตำรวจในต่างประเทศถึง 54 แห่งทั่วโลก ซึ่งถูกมองพุ่งเป้าไปที่คนที่วิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทางการจีนปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าว
ทางการเนเธอร์แลนด์มีคำสั่งให้จีนปิด ‘สถานีตำรวจ’ 2 แห่งที่นั่นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และอีก 1 เดือนต่อมา สาธารณรัฐเชกระบุว่า จีนปิดสถานีตำรวจคล้ายกันนี้ 2 แห่งในกรุงปราก
บทความโดย ทีมข่าว SPACEBAR
แปลจาก Spies, hackers, informants: how China snoops on the US/AFP
————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : SPACEBAR / วันที่เผยเเพร่ 8 ก.พ. 2566
Link : https://spacebar.th/world/Spies-hackers-informants-how-china-snoops-on-the-US