แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การที่จีนเลือกส่งสิ่งที่ดูเหมือนบอลลูนเพื่อการสอดแนมเหนือน่านฟ้าอเมริกา เป็นเรื่องที่ “ยอมรับไม่ได้และไร้ความรับผิดชอบ”
นักการทูตชั้นนำของสหรัฐฯ ผู้นี้ยกเลิกการเดินทางไปปักกิ่งอย่างกะทันหัน จากแผนเดิมที่ต้องการให้เป็นการประชุมระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ-จีนครั้งแรกในรอบหลายปี
ก่อนหน้านี้ จีนแสดงความเสียใจ โดยกล่าวว่าเป็นเรือเหาะตรวจสภาพอากาศที่ถูกพัดหลงเข้าไปในน่านฟ้าของอเมริกา
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน
นายบลิงเคนกล่าวในแถลงการณ์เมื่อ 4 ก.พ. ว่าบอลลูนของจีน “ละเมิดอำนาจอธิปไตยของเรา”
“นี่เป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้และไร้ความรับผิดชอบ” เขากล่าว
“การเข้ามาของบอลลูน 1 วัน ก่อนการออกเดินทางเยือนที่วางแผนไว้นานเป็นเรื่องที่ไร้ความรับผิดชอบยิ่ง”
เดิมนายบลิงเคนมีกำหนดเยือนปักกิ่งระหว่างวันที่ 5-6 ก.พ. เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ มากมาย รวมถึงประเด็นความมั่นคง ไต้หวัน และโควิด-19
แต่เมื่อ 2 ก.พ. เจ้าหน้าที่กลาโหมของสหรัฐฯ ประกาศว่าพวกเขากำลังติดตามบอลลูนตรวจการณ์ในระดับความสูงเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ
วัตถุปริศนาทำหลายเที่ยวบินในรัฐมอนแทนาหยุดบิน | REUTERS
หลังการเปิดเผยของสหรัฐฯ เรื่องการบินโดรนสอดแนมของจีนเหนือน่านฟ้าอเมริกา จีนก็ออกมาชี้แจงว่าเป็น “อากาศยานพลเรือน” ที่ใช้เพื่องานด้านอุตุนิยมวิทยาเป็นหลัก” แต่แล่น “เบี่ยงเบนออกจากเส้นทางปกติ”
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยมั่นใจว่า “บอลลูนสอดแนมจากที่สูง” ที่ตรวจพบครั้งนี้เป็นของจีน โดยล่าสุดพบบินอยู่เหนือรัฐมอนแทนา ทางภาคตะวันตกของประเทศ
อย่างไรก็ตาม กองทัพสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่ยิงบอลลูนลูกนี้ เพราะเกรงว่าเศษซากจะตกลงเป็นอันตรายต่อผู้คนเบื้องล่าง
ก่อนหน้านี้ จีนเตือนเรื่องการคาดคะเน และ “การแพร่ข่าวเกินจริง” จนกว่าจะมีการยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า วัตถุดังกล่าวบินอยู่เหนือหมู่เกาะอะลูเชียน ในรัฐอะแลสกา ผ่านแคนาดา ก่อนจะมาปรากฏอยู่ที่เมืองบิลลิงส์ รัฐมอนแทนา เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงกลาโหมคนหนึ่งระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดเตรียมเครื่องบินขับไล่ ซึ่งรวมถึงเครื่อง F-22 ในกรณีที่ทำเนียบประธานาธิบดีมีคำสั่งให้ยิงบอลลูนดังกล่าว
ด้านแคนาดาระบุเมื่อ 3 ก.พ.ว่า กำลังเฝ้าระวัง “เหตุการณ์ซ้ำสอง” ของบอลลูนนี้ แต่ไม่ได้บ่งชี้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นของชาติใด โดยในแถลงการณ์ระบุว่า แคนาดาจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เพื่อ “ปกป้องข้อมูลเปราะบางของประเทศจากภัยจารกรรมข้อมูลลับจากต่างชาติ”
บรรดาผู้นำทหาร เช่น พลเอก ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และพลเอก มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ ร่วมการประชุมเมื่อ 1 ก.พ.เพื่อประเมินภัยคุกคามที่เกิดขึ้น
รัฐมอนแทนา ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ไม่หนาแน่น เป็นที่ตั้งของ 1 ใน 3 ฐานยิงระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ฐานทัพอากาศมาล์มสตรอม เจ้าหน้าที่ระบุว่า ดูเหมือนว่าบอลลูนดังกล่าวจะบินเหนือพื้นที่เปราะบางเหล่านี้เพื่อเก็บข้อมูล
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของบอลลูนที่พบ แต่บรรยายว่า มีขนาด “ค่อนข้างใหญ่” มีรายงานว่านักบินหลายคนสามารถมองเห็นมันได้แม้จากระยะไกล ขณะที่สื่ออเมริกันรายงานอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่เปรียบว่ามีขนาดประมาณ 3 รถบัส
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มี “ภัยคุกคามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ต่อข้อมูลลับของชาติ เพราะเจ้าหน้าที่อเมริกัน “รู้แน่ชัดว่าบอลลูนนี้อยู่ที่ใด และผ่านไปที่ไหนบ้าง”
ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่เป็นภัยคุกคามต่อการบินของพลเรือน เนื่องจากบอลลูนบินอยู่เหนือระดับความสูงที่สายการบินพาณิชย์ใช้มาก
แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมระบุด้วยว่า บอลลูนนี้ไม่น่าจะช่วยให้จีนเก็บข้อมูลได้มากกว่าที่ทำอยู่แล้วด้วยดาวเทียม
เจ้าหน้าที่ ระบุว่า สหรัฐฯ ได้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นต่อสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ดีซี และต่อรัฐบาลจีน
นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังพยายามตรวจสอบรายงานเรื่องบอลลูนสอดแนมนี้ และชี้ว่า “จนกว่าข้อเท็จจริงจะกระจ่าง การคาดเดาและแพร่ข่าวเกินจริงเรื่องนี้จะไม่ช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม”
“จีนเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบ และยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศเสมอมา เราไม่มีเจตนาจะละเมิดเขตแดน หรือน่านฟ้าประเทศใด” เธอกล่าว
ในระหว่างการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ปฏิเสธจะเปิดเผยตำแหน่งปัจจุบันของบอลลูนลูกนี้ และไม่ยอมให้ข้อมูลว่าถูกปล่อยมาจากที่ใด
อย่างไรก็ตาม ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการตรวจพบบอลลูนสอดแนมหลายลูก แต่ลูกนี้ดูเหมือนจะปรากฏอยู่นานที่สุด
ในเวลาต่อมา กระทรวงการต่างประเทศของจีนชี้แจงว่า เสียใจต่อการที่บอลลูนดังกล่าว “เข้าสู่น่านฟ้าสหรัฐฯ โดยไม่ตั้งใจ” เนื่องจากธรรมชาติที่คุมไม่ได้ และรับปากว่าจะสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องนี้
————————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 4 ก.พ.66
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cm519pn3kyjo