โครงการระดับความสูงเหนือการบินพลเรือนที่แทบไม่เป็นที่สังเกตซึ่งนำพาบอลลูนสอดแนมจีน ตระเวนไปทั่วอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์นี้ กลายเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานี้ แต่มีรายงานว่านี่เป็นเรื่องที่สื่อของทางการจีนเคยพูดถึงมานาน ในแง่ของการเสริมสร้างศักยภาพด้านการทหารของกองทัพจีน
ในรายงานของสื่อทางการจีนหลายฉบับ ย้อนกลับไปถึงช่วงปี 2011 เน้นนำเสนอการใช้บอลลูนสอดแนมในสิ่งที่สื่อทางการจีนรู้จักกันในชื่อ ‘ความสูงใกล้อวกาศ’ หรือ near space ซึ่งเป็นช่วงของระดับชั้นบรรยากาศที่สูงเกินว่าที่เครื่องบินทั่วไปจะบินได้ แต่ก็ต่ำเกินไปที่ดาวเทียมจะโคจรในชั้นบรรยากาศดังกล่าวได้ ในบทความแรก ๆ ที่นำเสนอเมื่อกว่าทศวรรษก่อนนี้ มีการเปิดเผยรายละเอียดของความสามารถของบอลลูนที่เครื่องบินรบสหรัฐฯ ยิงตกไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย
เนื้อหาบางส่วนในบทความ Near Space – A Strategic Asset That Ought Not to be Neglected ของสื่อทางการจีน People’s Liberation Army Daily ที่เผยแพร่เมื่อ 5 กรกฎาคม 2011 ระบุว่า “ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ‘ความสูงใกล้อวกาศ’ ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้งในสื่อต่างประเทศ ที่บรรดาผู้วิจารณ์ด้านการทหารระบุว่านี่คือชั้นบรรยากาศพิเศษที่ไม่ได้รับการใส่ใจโดยกองทัพ แต่ตอนนี้กำลังยกระดับเป็นพิกัดที่น่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ ”
ทำไมถึงได้รับความสนใจขนาดนี้ ?
จาง ตงเจียง นักวิจัยอาวุโส จาก Chinese Academy of Military Sciences กล่าวถึงบทความนี้ในแง่ของโอกาสในการใช้วัตถุบินได้ที่ออกแบบมาสำหรับชั้นบรรยากาศดังกล่าว โดยบอกว่า “นี่คือพื้นที่ซึ่งอยู่ระหว่างน่านฟ้าและอวกาศ ซึ่งทฤษฎีแรงโน้มถ่วงหรือกฎของเคปเลอร์ใช้ไม่ได้อย่างอิสระในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวสร้างข้อจำกัดในการบินของเครื่องบินที่ออกแบบตามทฤษฎีแรงโน้มถ่วงและการบินของยานอวกาศที่ออกแบบตามกฎของเคปเลอร์”
จาง ชี้ว่า ระยะดังกล่าวไม่ค่อยมีสิ่งรบกวนในชั้นบรรยากาศ อย่างเช่น สภาพอากาศแปรปรวน และยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าและง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการเข้าถึงระดับความสูงที่ดาวเทียมโคจรอยู่ และว่า “ในเวลาเดียวกันนี้ (ความสูงใกล้อวกาศ) สูงกว่าท้องฟ้า ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมในการเก็บข้อมูลข่าวกรอง การลาดตระเวนและการสอดแนม การรักษาความปลอดภัยด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ไปจนถึงการสู้รบทางอากาศและภาคพื้นดิน”
ประโยชน์ของระดับชั้นบรรยากาศนี้ในแง่การทหารมีอะไรบ้าง?
นักวิจัยอาวุโสรายนี้ แนะว่า สามารถใช้ประโยชน์จากความสูงใกล้อวกาศนี้ด้วยพาหนะที่เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าเสียง อย่างเช่น อากาศยานความเร็วเหนือเสียง และจรวดแบบ Sub-orbital หรือ แบบที่บินขึ้นไปในทางตรงและไม่ได้มีการโคจร แต่คล้ายกับเป็นการกระโดดขึ้นสู่อวกาศ ที่ “สามารถเดินทางถึงเป้าหมายด้วยความเร็วสูง โจมตีด้วยความเร็วและแม่นยำ (และ) สามารถใช้งานได้หลายต่อหลายครั้ง”
นอกจากนี้ จางได้กล่าวว่า ความสูงใกล้อวกาศอาจเหมาะกับพาหนะที่เคลื่อนที่ช้า เช่น เรือเหาะระดับชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ บอลลูน หรือพาหนะบินได้ไร้คนขับที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งพาหนะในกลุ่มนี้ “มีความสามารถในการบรรทุกอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่เก็บบันทึกข้อมูลรูปแบบแสง รังสีอินฟราเรด ภาพถ่ายมัลติสเปกตรัมและไฮเปอร์สเปกตรัม เรดาร์ และข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งสามารถใช้เพิ่มขีดความสามารถและองค์ความรู้สำหรับการรบ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางการทหาร” อีกทั้งยัง “สามารถบรรทุกอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่มีเป้าหมายในการโจมตีอิเล็กทรอนิกส์ บรรลุภารกิจการทำลายระบบแม่เหล็กไฟฟ้าและโจมตีด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าในสนามรบ เข้าทำลายและสร้างความเสียหายให้กับระบบข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามได้”
ภารกิจเหนือเมฆของจีน
4 ปีหลังจากบทความดังกล่าวออกมา มีการเผยแพร่ภาพในหน้าข่าวเกี่ยวกับการทหารของสื่อที่ควบคุมโดยทางการจีน Global Times ซึ่งเป็นภาพของพาหนะที่เดินทางในชั้นสตราโตสเฟียร์ขนาดเล็ก KF13 และ KF16 พัฒนาโดย Opto-Electronics Engineering Institute of Beijing Aeronautics and Aerospace University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านการบินและอวกาศของจีนในกรุงปักกิ่ง ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ Beihang University โดยจุดเด่นของพาหนะดังกล่าว คือมีระบบไร้คนขับและเคลื่อนที่ด้วยการควบคุมทางไกลได้
ในเดือนตุลาคม ปี 2015 มีภาพของวัตถุบินได้ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในความสูงใกล้อวกาศชิ้นในรูปแบบอื่น ๆ ตามมา ที่เริ่มมีรูปแบบการใช้งานที่ซับซ้อนขึ้น อาทิ มีวัสดุพื้นผิวที่ทนทาน ที่ระบบควบคุมการเตือนภัย เทคโนโลยีการบินที่แม่นยำ ใบพัดประสิทธิภาพสูง ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถทำงานร่วมกับปฏิบัติการภาคพื้นได้
ภาพของวัตถุบินได้คล้ายเรือเหาะ ในชื่อ Yuan Meng ที่แปลว่า “เติมเต็มความฝัน” ในภาษาจีนกลางนี้ ได้รับการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ในเวลาดังกล่าว โดยระบุว่าสามารถบินที่ความสูง 20-24 กิโลเมตรจากพื้นดิน บินได้นานถึง 6 เดือน และบรรทุกอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้หนัก 100-300 กิโลกรัม
ริค ฟิชเชอร์ นักวิชาการอาวุโส จาก International Assessment and Strategy Center ในกรุงวอชิงตัน กล่าวกับวีโอเอว่า ความสนใจของทางการจีนในการใช้ประโยชน์จากความสูงใกล้อวกาศ เกิดขึ้นมาเนิ่นนานกว่าบทความที่ปรากฏเมื่อปี 2011 เสียอีก
ฟิชเชอร์กล่าวว่า “ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ได้ทุ่มเททรัพยากรเพื่อการวิจัยและพัฒนา สำหรับการเตรียมการสู้รบใน “ความสูงใกล้อวกาศ” โซนที่อยู่ต่ำกว่าวงโคจรระดับต่ำของโลก ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการขึ้นไปในระดับนั้น และเป็นระดับชั้นบรรยากาศให้สร้างข้อได้เปรียบให้กับพาหนะล่องหน โดยเฉพาะกับพาหนะความเร็วเหนือเสียง”
นอกเหนือจากบอลลูนที่สหรัฐฯ ยิงตกไปเมื่อ 4 กุมภาพันธ์แล้ว ฟิชเชอร์บอกว่า “กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนกำลังพัฒนาเรือเหาะหรือบอลลูนชั้นสตราโตสเฟียร์ ที่ใช้เครื่องยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ ขับเคลื่อนด้วยใบพัดใหญ่ขึ้น และมีความคล่องตัวมากขึ้น” และกล่าวว่าบริษัทที่รัฐบาลจีนควบคุมอย่าง China Aerospace Science and Industry Corporation (CASIC) “มีโครงการลักษณะนี้ อย่างเช่น Tengyun ที่ผลิตอากาศยานไร้คนขับที่บินในระดับสูงและพาหนะความเร็วเหนือเสียง” เพื่อเป้าหมายในการสงครามในชั้นบรรยากาศดังกล่าว ขณะที่คำว่า Tengyun ในภาษาจีนแปลว่า “บินเหนือเมฆ”
ในเดือนกันยายนปี 2016 สื่อทางการจีนรายงานว่าโครงการ Tengyun ของ CASIC คาดว่าจะเริ่มต้นทดสอบการบินในปี 2030 โดยยานดังกล่าวออกแบบมาเพื่อใช้เป็น “วัตถุบินได้รุ่นใหม่ที่บินไปกลับระหว่างน่านฟ้าและอวกาศซึ่งสามารถใช้ซ้ำได้” ตามการเปิดเผยของผู้บริหาร CASIC ที่เมืองอู่ฮั่น
มีโครงการที่พัฒนาโดย CASIC อีก 4 โครงการที่ใส่คำว่า “เมฆ” เข้าไปในชื่อ ได้แก่ Feiyun ที่แปลว่า “เมฆบินได้” ที่มุ่งเน้นระบบถ่ายทอดการสื่อสาร Xingyun ที่หมายถึง “เมฆเคลื่อนตัว” ใช้เพื่อการส่งข้อความสั้นหรือข้อความเสียง “ได้ในระยะปลายขอบฟ้า” Hongyun ที่หมายถึง “เมฆสีรุ้ง” โครงการปล่อยดาวเทียม 156 ดวงที่อยู่ในขั้นตอนแรกเริ่ม และ Kuaiyun ที่หมายถึง “เมฆเคลื่อนที่เร็ว” จะใช้เพื่อการคำนวณหาเครือข่ายใกล้ระดับอวกาศ
สหรัฐฯ รู้เรื่องโครงการนี้แค่ไหนและควรทำอย่างไรต่อไป ?
ระหว่างที่การเปิดเผยเรื่องความมุ่งมั่นในโครงการความสูงใกล้อวกาศของจีนเป็นเรื่องที่กำลังถกเถียงกันอยู่ แต่ความก้าวหน้ารวดเร็วในด้านการวิจัยและพัฒนานั้นดูจะเป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้ ในทัศนะของนาวาเอกเจมส์ แฟเนล อดีตผู้บัญชาการด้านข่าวกรอง แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก ที่เปิดเผยกับวีโอเอว่า “ตลอดวิชาชีพของผมที่จับตาความเคลื่อนไหวของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ผมไม่พบว่ากองทัพจีนมีโครงการบอลลูนมาก่อน ไม่ต้องพูดถึงประเด็นการพบบอลลูนปฏิบัติการเหนือดินแดนสหรัฐฯ”
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า พวกเขาพบการปรากฏของบอลลูนสอดแนมจีนอย่างน้อย 40 ครั้ง ที่เคลื่อนผ่านประเทศต่าง ๆ ใน 5 ทวีปทั่วโลก รวมถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่มีการบันทึกภาพเรือเหาะในระดับความสูงใกล้กับเกาะลูซอน ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ ใกล้กับทะเลจีนใต้
โจเซฟ เทรวิธิค ผู้ช่วยบรรณาธิการเว็บไซต์ด้านเทคโนโลยีการทหารและความมั่นคงระหว่างประเทศ The War Zone เปิดเผยกับวีโอเอเกี่ยวกับวัตถุที่พบในฟิลิปปินส์ว่า “วัตถุดังกล่าวดูเหมือนเรือเหาะรูปหยดน้ำที่มี 4 หาง รูปภาพที่ปรากฏยังไม่ชัดเจนว่าวัตถุนี้มีโครงสร้างภายนอกโปร่งแสงหรือเป็นเหล็ก”
เทรวิธิค เสริมว่า “โดยรวมแล้ว รูปทรงทั่วไปของเรือเหาะดังกล่าวคล้ายกับสิ่งที่บริษัทจีนกำลังพัฒนาอยู่” รวมทั้งวัตถุบินได้ไร้คนขับ Tian Hang และ Yuan Meng ซึ่งมีรายงานว่าได้ทดสอบการบินไปแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง
นักวิชาการอาวุโส จาก International Assessment and Strategy Center ระบุว่า สหรัฐฯ ได้รับคำแนะนำให้แข่งขันกับจีนในการเสริมศักยภาพด้านโครงการ near space นี้ โดยกล่าวว่า “บริษัทล็อคฮีด มาร์ติน ได้ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าวเมื่อปี 2011 (แต่) ไม่มีการพัฒนาโครงการเรือเหาะชั้นสตราโตสเฟียร์สำหรับสหรัฐฯ” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ฟิชเชอร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “กองทัพจีนทำถูกแล้วที่ลงทุนในบอลลูนและเรือเหาะชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ สหรัฐฯ ต้องทำมากกว่านี้เพื่อพัฒนาโครงการเหล่านี้ด้วยเช่นกัน”
บทความโดย ทีมข่าว VOA Thai
อ้างอิง วีโอเอ
————————————————————————————————————————-
ที่มา : VOA Thai / วันที่เผยแพร่ 20 ก.พ. 2566
Link : https://www.voathai.com/a/spy-balloon-lifts-veil-on-china-s-near-space-military-program/6969792.html