ผู้นำรัสเซียประกาศ “พักความร่วมมือ” กับสหรัฐ ตามเงื่อนไขของ “นิว สตาร์ต” สนธิสัญญาที่ถือกันว่า “เป็นข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับสุดท้าย” ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ว่า ในช่วงหนึ่งของการแถลงประจำปี ต่อที่ประชุมสภาแห่งสหพันธรัฐ เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศระงับความร่วมมือกับสหรัฐ ตามกรอบสนธิสัญญาสันติภาพระดับทวิภาคี ว่าด้วยการลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีชื่อเรียกกันในทางการทูตว่า “นิว สตาร์ต”
ทั้งนี้ ผู้นำรัสเซีย เน้นย้ำว่า ท่าทีของรัฐบาลมอสโกเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ “การระงับ” หรือ “พักชั่วคราว” ไม่ใช่ “การถอนตัว” หรือ “การยุติข้อตกลง” ขณะเดียวกัน ปูติน กล่าวถึงการดำเนินงานของ โรซาตอม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซีย ต้องมีความพร้อมทุกเมื่อ “ในยามถึงคราวจำเป็น” ที่รัสเซียต้องทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปูติน ยืนยันว่า รัสเซียจะไม่เป็นฝ่ายดำเนินการก่อน แต่เมื่อใดก็ตามที่สหรัฐทดสอบ รัสเซียจะทำเช่นกัน
อนึ่ง การลงนามในข้อตกลงนิว สตาร์ต เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก โดยผู้นำสหรัฐและรัสเซียในเวลานั้น คือประธานาธิบดีบารัค โอบามา และประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ ข้อตกลงมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอีกหนึ่งปีต่อมา และทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงเมื่อปี 2564 ขยายระยะเวลาของ นิว สตาร์ต ออกไปอีกอย่างน้อย 5 ปี มีสาระสำคัญ คือ การจำกัดการครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศให้ไม่เกิน 1,550 ลูก
ปัจจุบัน รัสเซียและสหรัฐครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ โดยปริมาณหัวรบนิวเคลียร์ที่ทั้งสองประเทศมีอยู่นั้น รวมกันเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของหัวรบนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมดบนโลก และเคยมีการวิเคราะห์ด้วยว่า หากไม่มีสัญญานิว สตาร์ต ที่ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับนิวเคลียร์ “ฉบับสุดท้าย” หรือจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ทดแทนได้ การแข่งขันด้านอาวุธระหว่างสองชาติมหาอำนาจอาจทวีความรุนแรง และจะส่งผลให้สถานการณ์โลกตึงเครียดมากยิ่งขึ้นไปด้วย
เครดิตภาพ REUTERS
————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 21 ก.พ. 2566
Link : https://www.dailynews.co.th/news/2022884/