อิหร่านเปิดตัวภาพฐานทัพอากาศใต้ดินแห่งแรกของประเทศ ลักษณะที่ตั้งของฐานทัพถูกสร้างให้อยู่ลึกลงไปใต้ดินและเป็นฐานทัพที่มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับจัดเก็บเครื่องบินขับไล่ โดรน และขีปนาวุธพิสัยไกล
ภาพบางส่วนของฐานทัพอากาศใต้ดินที่มีชื่อว่า “Eagle 44” หรือ “ฐานอินทรี 44” ที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ.โดยสำนักข่าว IRNA ของอิหร่าน
จากภาพ ฐานทัพใต้ดินแห่งนี้มีพื้นที่กว้างขวางพอที่จะเก็บเครื่องบินรบได้หลายลำ โดยในภาพดังกล่าวมีการนำเครื่องบินขับไล่บางส่วนมาโชว์ด้วย
นอกเหนือจากใช้เก็บเครื่องบินขับไล่แล้ว มีรายงานว่าฐานทัพใต้ดินนี้จะใช้เป็นที่เก็บโดรนและขีปนาวุธรุ่นต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง โดรนรุ่นชาเฮด 136 และขีปนาวุธฟาเตห์-110 (Fateh-110) และซ็อลฟาการ์ (Zolfaghar) ซึ่งเป็นอาวุธยุทธโธปกรณ์ที่อิหร่านเคยส่งให้รัสเซียนำไปใช้สงครามยูเครนมาแล้ว
แม้จะไม่มีการระบุว่าฐานทัพใต้ดินนี้อยู่ที่ส่วนใดของประเทศ แต่ผู้บัญชาการกองทัพอิหร่านออกมาประกาศว่า อยู่ในจุดที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการปกป้องอธิปไตยของอิหร่านและสามารถเปิดปฏิบัติการตอบโต้การรุกรานหรือการโจมตีจากศัตรูได้อย่างรวดเร็ว
ศัตรูที่อิหร่านพูดถึงและมีการประกาศชัดเจนในการแถลงข่าวครั้งนี้ คือ อิสราเอล
อิสราเอลเคยเป็นมิตรที่ดีกับอิหร่านเช่นกัน แต่ทั้งคู่กลายมาเป็นศัตรูหลังอิหร่านเกิดการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 เมื่ออิหร่านภายใต้การนำของ อยาตุลเลาะห์ อาลี โคมัยนี ประกาศสนับสนุนขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์อย่างเปิดเผย และมีการเดินหน้าโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่สร้างความกังวลให้อิสราเอล
หลายปีที่ผ่านมา อิสราเอลพยายามทำทุกทางเพื่อขัดขวางการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่ดูเหมือนไม่ได้ผลเพราะเมื่อปลายปีที่แล้วมีรายงานว่าอิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เกือบสำเร็จแล้ว
นี่เป็นเหตุผลว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติจึงมากขึ้นเรื่อย ๆ และทั้งสองฝ่ายเริ่มบ่อนทำลายความมั่นคงกันเป็นระยะ ๆ
เช่นเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา โรงงานผลิตอาวุธของอิหร่านที่ตั้งอยู่ในเมืองอิสฟาฮาน ถูกโจมตีจากโดรนที่คาดว่าถูกส่งมาจากอิสราเอล
เสียงระเบิดและเปลวไฟที่เกิดจากการโจมตีในครั้งนี้ สามารถได้ยินและมองเห็นได้จากระยะทางห่างออกไปหลายกิโลเมตร
แม้ทางการอิสราเอลจะไม่ได้ออกมาประกาศตัวว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีในครั้งนี้ แต่ทางการอิหร่านเชื่อว่านี่เป็นฝีมือของอิสราเอลอย่างแน่นอน
ในวันนั้น รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านประณามเหตุโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำอันขี้ขลาดของศัตรู แต่การโจมตีแบบนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อน หากทรัพย์สินทางการทหารของอิหร่านตั้งอยู่ในจุดที่เป็นเป้าหมายการทำลายได้ ที่ผ่านมาอิหร่านจึงซุ่มสร้างฐานทัพใต้ดินหลายแห่งรวมถึงฐานทัพอากาศใต้ดิน Eagle 44 เพื่อให้ปลอดภัยจากการโจมตีของอิสราเอล
โดยแหล่งข่าวทางการทูตในภูมิภาคตะวันออกกลางเปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่ฐานทัพใต้ดินในลักษณะนี้จะถูกก่อสร้างขึ้นในอิหร่านมากกว่า 10 แห่ง
การมีฐานทัพใต้ดินสะท้อนถึงศักยภาพด้านความมั่นคงของอิหร่านซึ่งรวมไปถึงความสามารถในการผลิตอาวุธด้วย และสิ่งนี้นอกจากเป็นการส่งสัญญานโดยตรงไปที่สหรัฐฯ และอิสราเอล ศัตรูหมายเลข 1 ของอิหร่านแล้ว ยังอาจมีผลต่อสงครามในยูเครนด้วย
อิหร่านกับรัสเซียมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังเกิดสงครามในยูเครน ประธานาธิบดีปูตินเดินทางไปเยือนอิหร่านด้วยตัวเองเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
หลังจากนั้นไม่นานก็ปรากฏมีอาวุธสัญชาติอิหร่านถูกใช้ในสงครามยูเครน หนึ่งในนั้นคือ HESA Shahed 136 (เฮซา ชาเฮ็ด 136) หรือ โดรนกามิกาเซ่ โดยรัสเซียใช้โดรนนี้โจมตียูเครนอย่างหนักในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน และขณะนี้มีรายงานว่า อิหร่านกำลังจะตั้งโรงงานผลิตโดรนนี้ในรัสเซีย
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเคียฟอินดิเพนเดนท์รายงานโดยอ้างสำนักข่าวเดอะวอลสตรีทเจอร์นอล (The Wall Street Journal) ว่า รัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลอิหร่านมีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตโดรนสัญชาติอิหร่านในรัสเซีย ซึ่งคาดว่าจะผลิตโดรนได้มากกว่า 6,000 ลำ
ตามรายงานระบุว่า คณะผู้แทนของอิหร่านได้เดินทางไปยังรัสเซียเพื่อเยี่ยมชมไซต์ก่อสร้างของโรงงานและตกลงรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
นี่อาจเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะหากรัสเซียผลิตโดรนได้เอง โดรนเหล่านั้นจะกลายเป็นความท้าทายใหม่ในสนามรบของยูเครน เนื่องจากยูเครนยังไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีประสิทธิมากพอที่จะสกัดโดรนได้ทุกพื้นที่
——————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยเเพร่ 8 ก.พ. 2566
Link : https://www.pptvhd36.com/news/190113