เปิดเบื้องหลังและข้อมูลที่อาจเชื่อมโยงเหตุการณ์ระเบิดท่อก๊าซนอร์ดสตรีมของรัสเซียจนได้รับความเสียหาย จากมือมืดปริศนาที่ได้ปฏิบัติการใต้ทะเลและพยายามเก็บงำความลับจนถึงตอนนี้ เพียงเพื่อขุดหลุมฝังรัสเซียให้สิ้นชื่อ และสวมสิทธิขายก๊าซให้ยุโรปหรือไม่
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานอ้างแหล่งข่าวที่ล่วงรู้แผนปฏิบัติการลับสหรัฐระบุว่า เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว นักประดาน้ำของกองทัพเรือสหรัฐได้ปฏิบัติการลับระหว่างการฝึกที่มีขึ้นกลางฤดูร้อนในประเทศสมาชิกนาโต รู้จักในชื่อ BALTOPS 22 ซึ่งได้วางระเบิดที่เป็นการจุดชนวนจากระยะไกล หลังจากนั้น 3 เดือนต่อมา ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมก็เกิดระเบิดขึ้นและได้รับความเสียหาย 3 ใน 4 ของท่อก๊าซทั้งหมด
รัสเซียมีท่อก๊าซธรรมชาติ 2 แห่ง ประกอบด้วย นอร์ดสตรีม 1 ได้ให้บริการขายก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในราคาถูกแก่เยอรมนีและยุโรปตะวันตกมากว่าทศวรรษ ขณะที่มีการก่อสร้างท่อก๊าซส่งคู่กันที่เรียกว่า นอร์ดสตรีม 2 แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งานเต็มรูปแบบ
แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ กองทัพรัสเซียบุกเข้าถล่มยูเครน ส่งผลให้มีการนองเลือดและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินมหาศาล ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนมองว่า “ท่อส่งก๊าซ” นี่แหละเป็นท่อน้ำเลี้ยงทางการเงินให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินนำไปใช้ซื้ออาวุธรุกรานยูเครนและสร้างอำนาจความทะยานอยากทางการเมืองของผู้นำมอสโก ในการช่วงชิงดินแดนมาจากยูเครน
เมื่อสอบถามเรื่องนี้ไปยัง “เอเดรียน วัตสัน” โฆษกทำเนียบขาว ซึ่งตอบกลับทางอีเมลว่า “นี่เป็นเรื่องโกหกและแต่งขึ้น” ขณะที่ “แทมมี่ ธอร์ป” โฆษกข่าวกรองสหรัฐก็บอกในทำนองเดียวกันว่า “การกล่าวหานี้เป็นเรื่องไม่จริงอย่างสิ้นเชิง”
แผนการก่อวินาศกรรมท่อก๊าซเกิดขึ้นท่ามกลางการถกเถียงแบบลับๆ ระหว่างทีมผู้บริหารไบเดน กับหน่วยงานความมั่นคงในวอชิงตัน เกี่ยวกับวิธีทำให้เป้าหมายสำเร็จ โดยไม่ทิ้งหลักฐานให้ใครต้องรับผิดชอบ
ขณะที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังถกเถียงกันอย่างหนักถึงทางเลือกใช้โจมตีท่อก๊าซนอร์ดสตรีม
กองทัพเรือเสนอให้ใช้เรือดำน้ำที่เพิ่งเข้าประจำการได้ทำการโจมตีท่อก๊าซโดยตรง ส่วนกองทัพอากาศมองหาความเป็นไปได้ในการใช้วิธีทิ้งระเบิดที่สามารถตั้งค่าได้จากระยะไกล ขณะที่ซีไอเอแย้งว่าการลงมือด้วยวิธีใดๆก็ตามจะต้องปกปิดเป็นความลับ ซึ่งปฏิบัติการนี้เดิมพันด้วยชีวิตของทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะ “นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ” แหล่งข่าวกล่าว และเสริมว่า หากการโจมตีสามารถสืบย้อนไปได้ว่าเป็นฝีมือของสหรัฐจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นความขัดแย้ง และขยายวงเป็น “สงคราม”
นับตั้งแต่วันแรกที่รัฐบาลวอชิงตันและพันธมิตรนาโตแสดงการต่อต้านรัสเซีย และมองว่าเป็นภัยคุกคามชาติตะวันตก ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายก๊าซธรรมชาติผ่านท่อก๊าซนอร์ดสตรีมด้วย
บริษัทนอร์ดสตรีม เอจี (Nord Stream AG) ตั้งขึ้นที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นของก๊าซพรอม ของรัสเซียที่สร้างผลกำไรมหาศาลให้กับผู้ถือหุ้น ล้วนเป็นผู้มีอำนาจที่เป็นกลุ่มเดียวกับปูติน โดยก๊าซพรอมมีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ที่ 51% ขณะที่มีบริษัทพลังงานในยุโรป 4 แห่งได้แก่ บริษัทพลังงานในฝรั่งเศส 1 แห่ง และอีก 1 แห่งในเนเธอร์แลนด์ ส่วนในเยอรมนีมี 2 แห่ง
ทั้งนี้ มีการแบ่งปันหุ้นที่เหลืออีก 49% ซึ่งมีสิทธิ์ควบคุมการขายก๊าซธรรมชาติราคาไม่แพงให้กับท้องถิ่น สำหรับผู้จัดจำหน่ายในเยอรมนีและยุโรปตะวันตก โดยจะแบ่งผลกำไรของก๊าซพรอมให้กับรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งรายได้จากก๊าซและน้ำมันในบางปีของก๊าซพรอม “สูงถึง 45% ของงบประมาณประจำปีของรัสเซีย” เลยทีเดียว
จนถึงตอนนี้ ทีมคณะผู้บริหารของไบเดนยังมุ่งเป้าให้ความสนใจการโจมตีนอร์ดสตรีม ตราบเท่าที่ยุโรปยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากนอร์ดสตรีม เพราะวอชิงตันกลัวว่าประเทศในยุโรปอย่างเยอรมนี ชั่งใจกับความยังต้องการก๊าซจากรัสเซีย เป็นเหตุไม่เต็มใจที่จะจัดหาเงินและอาวุธที่จำเป็นให้กับยูเครนเพื่อเอาชนะรัสเซีย
ภายหลังเหตุการณ์ระเบิดท่อก๊าซนอร์ดสตรีม สื่ออเมริกันส่วนใหญ่ยังทำเหมือนว่าไม่อาจไขปริศนามือมืดวางระเบิดได้ และโยนความผิดไปที่รัสเซียซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเป็นตัวการก่อเหตุ ส่วนรัสเซียเองก็ยอมแบกรับค่าใช้จ่ายซ่อมแซมท่อก๊าซไป
นิวยอร์กไทม์อธิบายปรากฏการณ์ในเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “ทฤษฎีที่ซับซ้อนและมีบุคคลอยู่เบื้องหลัง” จนถึงตอนนี้ไม่มีเหตุผลชี้ชัดเจนว่า ทำไมรัสเซียถึงพยายามทำลาย “ท่อส่งน้ำมันที่เป็นหนทางสร้างความร่ำรวย” ของตนเอง
ส่วนข้อสงสัยที่มีต่อสหรัฐ ก็ไม่อาจมีใครอาจล่วงรู้แรงจูงใจ หากประธานาธิบดีไบเดนต้องการทำเช่นนี้จริงๆ แม้จะเริ่มมีข้อมูลหลุดออกมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะคำพูดจากปากรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ที่ระบุว่า “นี่เป็นโอกาสยิ่งใหญ่ที่จะกำจัดการพึ่งพาพลังงานของรัสเซียในทีเดียวกัน”
บทความโดย ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 ก.พ. 2566
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1053923