เมื่อ กต.เจรจาสหรัฐ ถอนสถานีสอดแนม ‘รามสูร’ 2519
พอไซ่ง่อนแตกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 คนไทยก็กลัว “ทฤษฎีโดมิโน” ซึ่งเป็นหลักคิดของคนบางกลุ่มว่าเมื่ออินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์หมดแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือประเทศไทย แต่หนังสือ 3 เล่มที่บันทึก “การทูตไทย” ที่ต้องเผชิญวิกฤตในช่วงนั้นได้เปิดเผยเบื้องหลังที่ทำให้ไทยรอดจากปากเหยี่ยวปากกาได้อย่างน่าสนใจยิ่ง บันทึกความทรงจำของคุณอาสา สารสิน, ม.ร.ว.เทพกมล เทวกุล และคุณวิทยา เวชชาชีวะ ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้เนื่องในวาระสิริอายุครบ 7 รอบตรงกันของทั้งสามท่านทำให้คนไทยได้รับทราบรายละเอียดของการดำเนินนโยบายการทูตในจังหวะนั้น อย่างที่หลายคนอาจจะไม่ได้รับรู้มาก่อน หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ทรงคุณค่าสำหรับการได้เรียนรู้ว่าในยามที่บ้านเมืองเผชิญกับการต้องแก้วิกฤตที่มีผลต่อความอยู่รอดของประเทศนั้น การทูตที่ชาญฉลาด, กล้าหาญและสอดคล้องกับความเป็นจริงในช่วงนั้น ๆ ได้ช่วยทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นภยันตรายได้อย่างไร หนังสือเล่มนั้นชื่อ “นักสู้…อานันท์ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง” เขียนโดยคุณวิทยา เวชชาชีวะ เป็นการบันทึกที่ผมถือว่ามีคุณประโยชน์สำหรับคนรุ่นหลังที่จะเรียนรู้, ศึกษาและนำมาประกอบการพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศสองรอบ ก่อนหน้านั้นท่านเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะลาออกไปทำงานในภาคเอกชน แต่ในขณะที่ท่านทำหน้าที่เป็น “นักการทูตอาชีพ” นั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ท้าทายประเทศชาติเป็นอย่างยิ่งครั้งแล้วครั้งเล่า ในช่วงเวลาที่ไซ่ง่อนแตก สหรัฐถอนตัวกลับบ้าน ประเทศไทยซึ่งอนุญาตให้อเมริกามาตั้งฐานทัพในหลาย ๆ…