จากสถานการณ์แผ่นดินไหวในตุรกีและซีเรียที่ยังคงมีการค้นหาผู้รอดชีวิตกันอยู่เรื่อย ๆ วันนี้เลยจะพาไปชมการพัฒนาเทคโนโลยีค้นหาผู้ประสบภัยที่น่าสนใจจากนาซา เป็นเครื่องตรวจสัญญาณชีพผู้รอดชีวิตใต้ซากปรักหักพัง ที่ช่วยให้เราหาผู้รอดชีวิตได้ง่ายขึ้น
ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ใต้ซากตึก อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย ‘ความไว’ คือปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะยิ่งใช้เวลาค้นหานาน จำนวนผู้รอดชีวิตก็อาจจะลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยี ที่ช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตในสถานการณ์ลักษณะนี้หลายชิ้นด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเครื่องมือชื่อว่า ไฟน์เดอร์ (FINDER)
ไฟน์เดอร์ (FINDER) เป็นอุปกรณ์เรดาร์คลื่นไมโครเวฟ ที่ใช้ตรวจจับการเต้นของหัวใจมนุษย์ โดยมันจะส่งสัญญาณคลื่นไมโครเวฟพลังงานต่ำ ทะลุผ่านเศษซากกองปรักหักพังได้ถึงประมาณ 9 เมตร หรือถ้าเป็นคอนกรีตแข็งจะอยู่ประมาณ 6 เมตร เมื่อเรดาร์ตรวจเจอสัญญาณชีพของผู้รอดชีวิต จากจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือแม้แต่จังหวะการหายใจ การขยับตัว ซึ่งจะท้อนกลับมายังเรดาร์ตรวจจับ ตัวเครื่องก็จะคำนวณหาระยะห่างของตำแหน่งของผู้รอดชีวิตได้
ซึ่งทีมพัฒนาระบุว่า ตัวอุปกรณ์สามารถแยกความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหว ที่เกิดจากคนและเครื่องจักร และแม้กระทั่งความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวของคนกับสัตว์ ลดความสับสนที่จะขัดขวางภารกิจกู้ภัย นอกจากนี้ ข้อดีคือ ตัวอุปกรณ์มีขนาดกะทัดรัด สามารถบรรจุลงกระเป๋าเดินทางได้ อีกทั้งยังกันน้ำ สามารถพกพาไปกับทีมนักกู้ภัย ช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตในตึกต่าง ๆ ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น และยังสามารถตรวจจับสัญญาณชีพได้ แม้ว่าเหยื่อจะหมดสติ หรือไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ก็ตาม
ผลงานนี้เป็นความร่วมมือพัฒนาขององค์การนาซา (NASA) ในศูนย์วิจัยห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น หรือ เจพีแอล (JPL : Jet Propulsion Laboratory) โดยทางทีมพัฒนาหวังว่ามันจะช่วยทีมกู้ภัยค้นหาผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ภัยพิบัติใด ๆ ร่วมกับวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้สุนัขค้นหา หรือการใช้โดรน เพื่อช่วยให้ทีมกู้ภัยค้นหาผู้รอดชีวิตได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย จัดว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ และมียอดผู้เสียชีวิตทะลุ 28,000 ราย อ้างอิงจากตัวเลขรายงานของสำนักข่าวบีบีซี เมื่อช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
บทความโดย ทีมข่าว TNN Online
เครดิตภาพ NASA
อ้างอิง skynews, reuters, spinoff.nasa.gov, bbc
————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : TNN Online / วันที่เผยเเพร่ 13 ก.พ. 2566
Link : https://www.tnnthailand.com/news/tech/138573/