พอไซ่ง่อนแตกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 คนไทยก็กลัว “ทฤษฎีโดมิโน”
ซึ่งเป็นหลักคิดของคนบางกลุ่มว่าเมื่ออินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์หมดแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือประเทศไทย
แต่หนังสือ 3 เล่มที่บันทึก “การทูตไทย” ที่ต้องเผชิญวิกฤตในช่วงนั้นได้เปิดเผยเบื้องหลังที่ทำให้ไทยรอดจากปากเหยี่ยวปากกาได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
บันทึกความทรงจำของคุณอาสา สารสิน, ม.ร.ว.เทพกมล เทวกุล และคุณวิทยา เวชชาชีวะ ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้เนื่องในวาระสิริอายุครบ 7 รอบตรงกันของทั้งสามท่านทำให้คนไทยได้รับทราบรายละเอียดของการดำเนินนโยบายการทูตในจังหวะนั้น
อย่างที่หลายคนอาจจะไม่ได้รับรู้มาก่อน
หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ทรงคุณค่าสำหรับการได้เรียนรู้ว่าในยามที่บ้านเมืองเผชิญกับการต้องแก้วิกฤตที่มีผลต่อความอยู่รอดของประเทศนั้น การทูตที่ชาญฉลาด, กล้าหาญและสอดคล้องกับความเป็นจริงในช่วงนั้น ๆ ได้ช่วยทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นภยันตรายได้อย่างไร
หนังสือเล่มนั้นชื่อ “นักสู้…อานันท์ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง” เขียนโดยคุณวิทยา เวชชาชีวะ
เป็นการบันทึกที่ผมถือว่ามีคุณประโยชน์สำหรับคนรุ่นหลังที่จะเรียนรู้, ศึกษาและนำมาประกอบการพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศสองรอบ
ก่อนหน้านั้นท่านเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะลาออกไปทำงานในภาคเอกชน
แต่ในขณะที่ท่านทำหน้าที่เป็น “นักการทูตอาชีพ” นั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ท้าทายประเทศชาติเป็นอย่างยิ่งครั้งแล้วครั้งเล่า
ในช่วงเวลาที่ไซ่ง่อนแตก สหรัฐถอนตัวกลับบ้าน ประเทศไทยซึ่งอนุญาตให้อเมริกามาตั้งฐานทัพในหลาย ๆ จังหวัดเพื่อส่งเครื่องบินไปถล่มโจมตีเวียดนามเหนือก็ต้องเผชิญกับการปรับนโยบายครั้งที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ
คุณอานันท์กลับจากวอชิงตันมากระทรวงการต่างประเทศเมื่อต้นปี 2519 และภารกิจแรกก็หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับสหรัฐ “มหามิตร” ของไทยมาแต่ก่อน
นั่นคือการให้สหรัฐถอนทหารออกจากไทยซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับสองประเทศที่เคยมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นมาก่อนโดยเฉพาะระหว่างกองทัพไทยกับรัฐบาลสหรัฐ
โดยที่บางครั้ง กระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ได้รับทราบรายละเอียดของข้อตกลงระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพสหรัฐ
คุณวิทยาเล่าในหนังสือเล่มนี้ว่าทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมว่าจะถอนทหารอเมริกันออกจากไทย
โดยมีการกำหนดวันที่แน่นอนสำหรับวาระสุดท้ายภายในเดือนมีนาคม 2519
แต่ในระหว่างการเจรจารายละเอียดนั้น ปรากฏมีสารพันปัญหาเกิดขึ้นมากมาย
“เพราะฝ่ายสหรัฐหยิบยกขึ้นมาทีละราย และบางรายเป็นโครงการลับสุดยอดซึ่งไม่เคยเป็นที่ล่วงรู้แก่ฝ่ายไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ…”
ในเมื่อกระทรวงการต่างประเทศไม่รู้รายละเอียดในข้อตกลงระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพสหรัฐ การเจรจาว่าด้วยการถอนทหารสหรัฐออกจากไทยจึงมีประเด็นอ่อนไหวมากมายหลายด้านเป็นธรรมดา
คุณวิทยาเขียนว่า “กําลังทหารของสหรัฐในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกองกำลังทางอากาศและได้มีการถอนกำลังเหล่านี้ออกไปเป็นลำดับจนกระทั่งในต้นปี 2519 มีเหลืออยู่เพียง 3 ฐานทัพในภาคอีสาน…”
แต่ฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่อู่ตะเภาของราชนาวีไทย
เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นฐานทัพสำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดยักษ์ใหญ่ B-52 ของสหรัฐ
แต่ถึงเวลานั้น ได้ถูกถอนกลับออกไปแล้ว คงเหลือแต่เครื่องบินตรวจการณ์
ณ เวลานั้น ประมาณได้ว่ามีบุคลากรทางทหารของสหรัฐ 27,000 คน และเครื่องบิน 300 ลำที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย
การถอนทหารและเครื่องบินเหล่านั้นไม่มีปัญหา
แต่ปัญหาที่เกิดนั้นเกี่ยวกับบุคลากรด้านเทคนิคซึ่งฝ่ายสหรัฐต้องการคงไว้จำนวนนับพัน ๆ เช่นที่อู่ตะเภา เป็นต้น
สหรัฐต้องการให้บุคลากรเหล่านั้นมีเอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูต
ที่สำคัญและสร้างความประหลาดใจทั่วไปโดยเฉพาะกับกระทรวงการต่างประเทศคือการค้นพบว่ามีโครงการ “รามสูร” ซึ่งมีสถานีตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี
มีไว้สำหรับดักฟังข่าวกรอง…โดยมีเครื่องอุปกรณ์ทันสมัยที่สุด ดำเนินการมาได้ 10 กว่าปีแล้วโดยเจ้าหน้าที่เทคนิคของสหรัฐล้วน ๆ
ในเขตหวงห้ามแม้แต่สำหรับคนไทย
โครงการลับสุดยอดนี้มาจากข้อตกลงโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมไทยและเอกอัครราชทูตสหรัฐขณะนั้น
โดยมิได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
และสำคัญกว่านั้นคือข้อตกลงนั้นไม่ได้ระบุวันหมดอายุของสัญญา
คุณอานันท์ ในฐานะปลัดกระทรวงการต่างประเทศแสดงท่าทีชัดเจนว่า
“เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลไทยยกทรัพย์สินชิ้นนี้ให้เป็นของฝ่ายอเมริกันตลอดไป
“ฉะนั้น จะต้องมีการแก้ไขความตกลงนี้ อย่างน้อยที่สุด คนไทยไม่ควรจะได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นคนต่างด้าวในดินแดนของตน
“เราไม่สามารถอนุญาตให้สถานีดักฟังสอดแนมเพื่อนบ้านของเราได้อีกต่อไป
“สถานีนี้ต้องเลิก…”
ผลคือฝ่ายอเมริกันไม่พอใจ
ผมจำได้ว่านายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ขณะนั้นเคยเล่าให้นักข่าวฟังว่าทางอเมริกาได้รายงานท่านว่าสถานีดักฟัง “รามสูร” แห่งนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก
“ทางสหรัฐบอกเราว่าแม้แต่เข็มเล็กๆ หล่นลงกลางสนามบินที่พนมเปญ สถานีดักฟังรามสูรยังสามารถบันทึกให้ได้ยินถึงเมืองไทยได้…”
นักข่าวถามว่าท่านตอบทางสหรัฐว่าอย่างไร
“ผมก็ถามกลับไปว่าผมจะไปรู้ว่าเข็มตกกลางสนามบินพนมเปญแล้วได้ประโยชน์อันใด”
แม้จะเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างจริงจังและตึงเครียดในขณะนั้น แต่ไหวพริบการตอบด้วยอารมณ์ขันปนเสียดสีของคุณชายคึกฤทธิ์ก็เรียกเสียงฮาจากผู้คนทั้งหลายกันทั่วหน้า
คุณวิทยาเขียนต่อว่าประเด็นเครื่องโครงการ “รามสูร” ยังสร้างผลสะท้อนไปไกล
เมื่อถึงเวลาที่กระทรวงการต่างประเทศจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนสถานะของเรื่อง ก็มีการจัดทำเอกสารรวมทั้งตัวบทของความตกลงแจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมประชุม
ปรากฏว่าเอกสารเหล่านั้นรั่วไหลออกมาและไปถึงมือสื่อมวลชนต่างประเทศ
คงเป็นเรื่องยากที่จะ “จับมือใครดม” ได้เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่ได้รับเอกสารชุดนั้น
แต่กระนั้น คุณอานันท์ก็ถูกสงสัยโดยทั้งฝ่ายรักษาความมั่นคงและฝ่ายทหารว่าเป็นผู้กระทำ
“และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความคลางแคลงระหว่างกัน ซึ่งจักนำไปสู่ความยุ่งยากยิ่ง ๆ ขึ้นไปสำหรับท่านปลัดในการดำเนินความสัมพันธ์กับฝ่ายทหาร…” คุณวิทยาเล่า
ในท้ายที่สุด โครงการ “รามสูร” ก็ถูกถอดถอนออกไปภายในกำหนดเวลาการถอนกำลังของฝ่ายสหรัฐที่ได้มีการเลื่อนออกไปเป็นเดือนกรกฎาคม 2519
อีกเหตุหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจแก่ฝ่ายทหารไทยและสหรัฐเมื่อคุณอานันท์ปรับเปลี่ยนกติกาในการที่สถานทูตต่างประเทศติดต่อขอเข้าพบฝ่ายไทยโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี
ขอให้แก้ไขเป็นว่าต้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศก่อน ห้ามเข้าหานายกฯ โดยตรงเหมือนที่บางสถานทูตเคยทำมาก่อน
คุณอานันท์ชี้แจงยืนยันว่า
“ผมไม่ได้เปลี่ยนนะ ผมไปปรับให้เข้ากับมาตรฐานสากล
“เราไปให้คุณค่าสถานทูตในเมืองไทยมากเกินไป เราให้ความเคารพได้ตามหลักโปรโตคอลนะ
“ต่อไปนี้ การจะขอพบนายกฯ ผมไม่ได้ขัดข้อง แต่การขอนี่ ขอให้ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ
“ผมเรียนท่านนายกฯ คึกฤทธิ์ไปแล้ว…ไม่ใช่มีอะไรติดต่อตรงเลยใช่ไหม เหมือนอย่างทั่วไปจะเป็นลอนดอน ปารีส วอชิงตัน โตเกียว เดลี คุณไม่ได้ติดต่อกับท่านนายกฯ ต้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศทั้งนั้นแหละ
“เหตุผลก็คือเรา (กระทรวงการต่างประเทศ) ต้องการเช็กก่อนว่าพบเรื่องอะไร สมควรให้พบหรือไม่ ส่วนใหญ่ เราก็ไม่ว่าอะไร แต่ก็ทำให้ถูกต้องเพราะเราจะได้รู้ จะได้ส่งคนไปจดบันทึกอะไรต่าง ๆ ไม่ใช่ปุบปับเดินเข้าหานายกฯเลย ถ้าไม่มีบันทึกนี่ยุ่งนะ…ทำให้มันโปร่งใสมากขึ้น”
ผมเคยถามคุณอานันท์ว่านี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนหลายหน่วยงานไม่พอใจคุณอานันท์ใช่ไหม
ท่านตอบว่า “ใช่ ไปเหยียบเท้าเขา”
เป็นการทำตามหน้าที่…แต่เกิดไป “เหยียบเท้า” ใครต่อใครจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวที่รบกวนชีวิตงานการและส่วนตัวของคุณอานันท์อีกมากมายหลายเรื่อง
อย่างที่คนไทยทั่วไปทราบกันดี
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2566
คอลัมน์ กาแฟดำ
ผู้เขียน สุทธิชัย หยุ่น
————————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : มติชน / วันที่เผยแพร่ 31 ม.ค.66
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_644038