“ตันศรี ซุลกิฟลี” ร่วมเวที “10 ปีกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้” เผยภูมิหลังแม้เป็นทหาร แต่จิตใจฝักใฝ่งานวิชาการ เคยสอนหนังสือ “สงครามกับความขัดแย้ง” ดีใจได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกโต๊ะพูดคุยสันติสุข ชี้ “เป็นโอกาสทอง” เพื่อนำทฤษฎีต่างๆ ที่ได้ศึกษามาปรับใช้ ย้ำจุดยืนปัญหาไฟใต้เป็นกิจการภายในของไทย ส่วนมาเลย์ช่วยในฐานะครอบครัวและเพื่อนบ้านที่ดี ยกสุภาษิตมลายู “ชนะก็เป็นถ่าน ชนะก็เป็นเถ้า” ไม่มีใครได้ประโยชน์จากความรุนแรง มั่นใจมีความหวังสันติภาพปลายด้ามขวาน
วันที่ 28 ก.พ.66 ในงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 4 “Pa(t)tani Peace Assembly 2023 : Peace Market Place : ตลาดนัดสันติภาพ” ณ คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโดย 10 องค์กรภาคประชาสังคมจากสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมี ศาสตราจารย์ พล.อ.ตันศรี ดาโต๊ะ ศรี ปังลีมา ทีเอส. ฮัจญี ซุลกิฟลี บิน ฮัจญี ไซนัล อาบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกรัฐบาลมาเลเซีย ได้ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “10 ปี กระบวนการพูดคุยสันติภาพ ประชาชนชายแดนใต้ปาตานี บทเรียนและการเรียนรู้ สู่ทิศทางและความหวังในอนาคต”
ผู้อำนวยความสะดวกรัฐบาลมาเลเซีย กล่าวตอนหนึ่งแนะนำถึงภูมิหลังและประสบการณ์ของตนเองว่า ผมได้รับมอบความไว้วางใจอย่างเป็นทางการจาก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะ ศรี อันวาร์ อิบราฮีม เพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยความสะดวกรัฐบาลมาเลเชีย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 ซึ่งเป็นการแต่งตั้งเพื่อสืบทอดตำแหน่งจาก ตันศรี อับดุล ราฮีม โนร์
ก่อนที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าว ผมเป็นข้าราชการเกษียณอายุจากกองกำลังแห่งประเทศมาเลเซีย หลังจากรับราชการมาเป็นเวลา 42 ปี ตำแหน่งราชการสุดท้ายของผมคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังมาเลเซียคนที่ 20 ตั้งแต่ 2561 จนถึงเกษียณอายุในปี 2563 ก่อนหน้านั้น ผมได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งมาเลเซีย (Universiti Pertahanan Nasional Malaysia) และครองตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาประมาณ 7 ปี
ถึงแม้ว่าผมเป็นทหาร แต่จิตใจและความสนใจของผมใกล้ชิดกับโลกวิชาการ ผมเคยได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์วุฒิคุณจากมหาวิทยาลัยมาเลเซียเปอร์ลิส (Universiti Malaysia Peris) และนักวิชาการกิตติมศักดิ์ (Ho Fellow) จากสถาบันดับเบิลยูเอ็มจี (WMG) มหาวิทยาลัยวอร์วิก (University of Wownk) ประเทศอังกฤษ และได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งมาเลเซียจนถึงทุกวันนี้
ผมยังปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิชาการและสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย สาขาวิชาที่ผมมีความเชี่ยวชาญคือ “War and Confict (สงครามกับความชัดแย้ง)” ด้วยเหตุนี้ การแต่งตั้งผมให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกรัฐบาลมาเลเซียครั้งนี้เป็นเกียรติสำหรับผม และยังเป็นโอกาสทองเพื่อนำทฤษฎีต่างๆ ในสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญนี้มาใช้ในสถานการณ์จริงของโลกแห่งความเป็นจริง
ผู้อำนวยความสะดวกรัฐบาลมาเลเซีย ได้กล่าวถึงผลการแลกเปลี่ยนจากการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกับนายกรัฐมนตรีไทย เมื่อ 9-10 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้บอกว่า ในฐานะเป็นประเทศมิตรและครอบครัว มาเลเซียยอมรับว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทยคือกิจการภายในของรัฐบาลไทย ในขณะเดียวกันในฐานะเป็น “เพื่อนบ้านและครอบครัวที่ดี” มาเลเซียพร้อมที่จะทำทุกอย่างและพร้อมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุข้อตกลงสันติภาพสำหรับภาคใต้
การมีส่วนร่วมของฝ่ายที่สาม คือ องค์กรนอกภาครัฐ/องค์กรภาคประชาสังคม (NGO/CSO) ตามควรเหมาะสมและการประเมินของผู้อำนวยความสะดวกจะได้รับการขับเคลื่อนเพื่อให้มีความคืบหน้าเชิงบวกในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในภาคใต้อย่างมีนัยยะสำคัญเป้าหมายของการเจรจาอย่างเป็นทางการก็คือ การให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพอย่างสงบและปลอดภัย ซึ่งสามารถนำความรุ่งโรจน์ได้ให้แก่ประชาชนในภาคใต้ ยิ่งไปกว่านั้น การเจรจาเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันและความจริงใจของทั้งสองฝายที่กำลังเจรจากันเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขสำหรับความขัดแย้งอันรุนแรงในภาคใต้
ผู้อำนวยความสะดวกรัฐบาลมาเลเซีย กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดในการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งที่ 6 ของกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทย (PEDP-RTG) กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) เมื่อวันที่ 21-22 ก.พ.66 ณ กัวลาลัมเปอร์ ว่า มีความคืบหน้าเชิงบวกที่ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงความเข้าใจร่วมกัน เพื่อสร้างแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace, JCPP) ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางสำหรับปี 2566-2567 โดย JCPP เป็นแผนปฏิบัติที่กำหนดทิศทางหรือแผนที่นำทาง (road map) ที่แสดงให้เห็นว่า มีแสงสว่างแห่งความหวังเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังมีโอกาสที่จะสามารถทำให้ความขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดลงได้ด้วย ซึ่งแผนปฏิบัติ JCPP ประกอบด้วยระยะเวลาการปฏิบัติ 2 ระยะ ระยะแรกสำหรับการพูดคุยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นสารัตถะ 2 ประเด็น ได้แก่ การลดการใช้ความรุนแรงและการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ ส่วนระยะที่ 2 เป็นระยะปฏิบัติการในสนามหลังจากทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในรายละเอียดต่าง ๆ ของระยะแรก
คณะพูดคุยรัฐบาลไทยกับคณะพูดคุยบีอาร์เอ็นได้พยายามเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความมั่นใจว่า วัตถุประสงค์ในการสร้างสันติภาพและการแก้ไขความขัดแย้งจะสามารถเป็นความจริงได้หากความจริงจัง การมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและความจริงใจของแต่ละฝ่ายได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความพยายามของตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นควรได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากทุกชนชั้นของสังคม เพราะตัวแทนของทั้งสองฝ่ายได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือในการสร้างสันติภาพในชายแดนภาคใต้ เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายจะมีความพยายามต่อไปผ่านการเจรจาอย่างปิด เพื่อพูดคุยถึงรายละเอียดในการปฏิบัติตามแผน JCPP โดยมีการประชุมทีมเทคนิคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ โดยมาเลเซียพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้ทั้งสองฝ่าย เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและคาดหวังว่า การเจรจาจะได้บรรลุแนวทางแก้ไขอันยุติธรรม ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ผมมีความหวังและมั่นใจว่า วิธีการตามความเห็นชอบรวมของทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาควรจะเป็นวิธีปฏิบัติของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องและส่วนได้เสีย ประเด็นสำคัญที่ผมต้องการจะเน้นคือ การสร้างสันติภาพมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับมนุษยธรรม ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพยายาม เพื่อขยายการมีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมของแต่ละฝ่าย โดยยึดมั่นใน “big heart and big mind (จิตใจอันยิ่งใหญ่)” เพื่อบรรลุสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายจะสามารถเป็นผู้ชนะได้ (win-win) คำสำคัญคือ “สันติภาพ” และต้องเป็นประเด็นหลักของแต่ละฝ่าย
ถึงแม้ว่า ภายหลังอาจจะมีหลักการ “agree to disagree (เห็นด้วยที่จะไม่เห็นด้วย)” แต่คำสำคัญนี้ต้องมีการปฏิบัติการและได้รับความเคารพ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเห็นด้วยและยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งประเภทไหนก็ตาม ไม่อาจจะสำเร็จด้วยการใช้ความรุนแรง ดังสุภาษิตภาษามลายูบอกว่า “Menang jadi arang, kalah jadi abu (ชนะก็เป็นถ่าน ชนะก็เป็นเถ้า)” ไม่มีฝ่ายใดที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ความรุนแรง ในทางกลับกันการใช้ความรุนแรงจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง และมีความเสี่ยงที่จะถล่มระบบสังคมทั้งหมดในพื้นที่ความขัดแย้งด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ผมขอชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันในการแลกเปลี่ยนกันบนโต๊ะเจรจาเพื่อยุติการปะทะกัน แสวงหาจุดร่วม สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และให้เข้าถึงระดับรากหญ้า และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การสิ้นสุดของความขัดแย้ง ผมขอแนะนำสุภาษิตภาษามลายูดังต่อไปนี้ “Tak lalu dandang di air, di gurun ditanjakkan” ซึ่งหมายความว่า เราต้องทำพยายามทุกอย่าง ตราบใดที่สามารถบรรลุเป้าหมายของเราได้ สอดคล้องกับความหมายของสุภาษิตดังกล่าวดัง
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 28 ก.พ. 2566
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/116520-malayfacilitator.html