แบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) เผยว่า ปัจจุบันภัยทุจริตทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและหลากหลายรูปแบบ เช่น SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม และแอปพลิเคชันดูดเงิน จึงต้องบังคับใช้มาตรการป้องกันกับทุกธนาคาร
แบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่พบภัยจากไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็น SMS ปลอม , แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแอปพลิเคชั่นดูดเงินต่างๆ
แบงก์ชาติ จึงต้องออกนโยบายเป็นชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ที่ดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน สรุปได้ดังนี้
มาตรการป้องกัน เพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น
– ให้สถาบันการเงินงดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน
– จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking (username) ของแต่ละสถาบันการเงินให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น โดยต้องจัดให้มีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ mobile banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง
– พัฒนาระบบความปลอดภัยบน mobile banking ให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา
– สแกนใบหน้า ในกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน (non-face-to-face) หรือทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป
– กำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวัน ให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด
มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย
– รายงาน ปปง. เมื่อตรวจจับพบธุรกรรมที่ผิดปกติหรือพบการกระทำความผิด
– มีระบบตรวจจับ/ติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติตลอด 24 ชม. เพื่อระงับธุรกรรมได้ทันทีที่ตรวจพบ
– เร่งตอบสนองข้อมูลที่ได้จากการแจ้งความออนไลน์
มาตรการตอบสนองและรับมือ
– มีช่องทางเร่งด่วนติดต่อได้ตลอด 24 ชม.
– สนับสนุนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับผู้กระทำผิดและหาสาเหตุเพื่อแก้ไขต่อไป
– ธปท. ได้เร่งให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องดำเนินมาตรการทั้งหมดโดยเร็ว โดยได้มีการเริ่มดำเนินการในบางมาตรการแล้ว ขณะที่มาตรการที่เหลือส่วนใหญ่ จะกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566
————————————————————————————————————————-
ที่มา : สปริงนิวส์ / วันที่เผยแพร่ 9 มี.ค.66
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/836173