รัฐบาลของสหราชอาณาจักรประกาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า พวกเขาจะส่งกระสุนปืนเจาะเกราะที่มีส่วนผสมของ แร่ยูเรเนียมเสื่อมสภาพ ไปให้ยูเครนเพื่อใช้รับการรุกรานจากรัสเซีย ทำให้ฝ่ายรัสเซียออกมาแสดงความต่อต้านทันที โดยวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศจะตอบโต้หากเรื่องนี้เกิดขึ้น
ยูเรเนียมเสื่อมสภาพเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และอาวุธนิวเคลียร์ มันยังปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมา แม้จะอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดข้อถกเถียงมาตลอดว่า อาวุธชนิดนี้มีอันตรายมากเกินไปหรือไม่
ประเทศอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ชื่อว่า กระสุนยูเรเนียมเสื่อมสภาพเป็นเครื่องมือที่ดีในการทำลายรถถังในปัจจุบัน โดยที่อังกฤษระบุในคู่มือการใช้ของพวกเขาว่า การสูดดมฝุ่นยูเรเนียมเข้าไปในปริมาณมากเกิดการบาดเจ็บเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก สวนทางกับรัสเซียที่บอกว่า กระสุนนี้เป็นอันตรายต่อทั้งคนและสิ่งแวดล้อม
ด้านนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกระบุว่า ในกรณีทั่วไป แร่ชนิดนี้มีความเสี่ยงต่ำมาก เว้นแต่เกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่มียูเรเนียมเสื่อมสภาพมาอยู่รวมกันมากๆ ก็อาจส่งผลร้ายแรงต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้
ยูเรเนียมเสื่อมสภาพคืออะไร?
ยูเรเนียมเสื่อมสภาพ (depleted uranium) คือผลพลอยได้ที่เหลือจากกระบวนการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมสำหรับใช้ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรืออาวุธนิวเคลียร์ แม้จะเสื่อมสภาพแล้ว ยูเรเนียมประเภทนี้ยังคงเป็นสารกัมมันตรังสี แต่มีไอโซโทป U-235 กับ U-234 ต่ำกว่าในแร่ยูเรเนียมที่พบตามธรรมชาติมาก ลดการปล่อยกัมมันตภาพรังสีของมัน และไม่สามารถทำปฏิกิริยานิวเคลียร์ใดๆ ได้
ยูเรเนียมเสื่อมสภาพถูกนำไปใช้ในอาวุธเพราะคุณสมบัติความหนาแน่นสูงของมัน ทำให้มีน้ำหนักมากกว่าตะกั่วที่มีขนาดเท่ากัน เมื่อนำมาทำหัวกระสุนจึงมีความต้านทานของอากาศน้อยกว่าเวลายิงออกไป และสามารถทะลวงเข้าไปในวัสดุได้ดีเนื่องจากจุดที่ตกกระทบมีแรงกดดันสูงกว่า
กระสุนที่ยิงออกไปจะทะลวงเกราะของรถถังในพริบตา ก่อนจะระเบิดเนื่องจากมีคุณสมบัติในการลุกไหม้ด้วยตัวเอง (pyrophoric) กลายเป็นควันความร้อนสูงที่มีส่วนประกอบของฝุ่น, โลหะ และกัมมันภาพรังสีเล็กน้อย โดยความร้อนเพิ่มโอกาสที่เชื้อเพลิงหรือกระสุนในรถถังจะระเบิดตามมาได้
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 กองทัพสหรัฐฯ เริ่มสร้างกระสุนเจาะเกราะรถถังด้วยยูเรเนียมเสื่อมสภาพ และเสริมแร่ชนิดนี้เข้าไปในเกราะคอมโพสิตของรถถังเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังยูเรเนียมเสื่อมสภาพเข้าไปในกระสุนของเครื่องบินรบ A-10 ซึ่งได้ฉายาว่า ‘นักฆ่ารถถัง’ ด้วย
มีความเสี่ยงมากแค่ไหน?
กระสุนยูเรเนียมเสื่อมสภาพไม่ถูกจัดเป็นอาวุธนิวเคลียร์ แต่การที่มันยังปล่อยกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำออกมาได้ ทำให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เตือนให้ใช้งานมันอย่างระมัดระวัง ควรใส่ถุงมือป้องกันก่อนจับ และควรมีการประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนไปยุ่งกับกระสุน
IAEA เน้นย้ำว่า ยูเรเนียมเสื่อมสภาพคือสารเคมีพิษ ไม่ใช้วัตถุกัมมันตรังสีอันตราย อนุภาคที่อยู่ในภาวะของเหลวสามารถถูกสูดดมหรือกลืนเข้าไปได้ แม้ส่วนใหญ่จะถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกาย แต่มีบางส่วนที่อาจหลุดเข้าไปในกระแสเลือด และสร้างความเสียหายต่อไต โดยอาจถึงขั้นไตล้มเหลวหากได้รับในปริมาณมาก
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานชั้นนำหลายแห่งยังเชื่อว่า กระสุนประเภทนี้มีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อทหารในสมรภูมิ และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งต่ำมากถ้าไม่ใช่สถานการณ์และเงื่อนไขที่เลวร้ายที่สุดจริงๆ
ราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) ระบุว่า ในกรณีสมมติที่เลวร้ายที่สุด ทหารที่รับยูเรเนียมเสื่อมสภาพเข้าไปในปริมาณมาก อาจเกิดความเสียหายต่อไตและปอด ส่วนการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมต้องดูตัวแปรหลายอย่าง ซึ่งในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดการมียูเรเนียมระดับสูงในท้องถิ่นอาจปนเปื้อนอาหารและน้ำ เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำอันตรายต่อไต แต่ในกรณีส่วนใหญ่ความเสี่ยงต่อสุขภาพมีน้อยมาก
ด้าน IAEA ระบุว่า ทหารผ่านศึกสงครามอ่าวเปอร์เซียจำนวนหนึ่ง มีเศษกระสุนยูเรเนียมที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาออกได้ฝังอยู่ในตัว ทำให้การขับถ่ายยูเรเนียมเสื่อมสภาพในปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่พบผลกระทบต่อสุขภาพที่สังเกตเห็นได้ นอกจากนั้น ผลการศึกษายังชี้ด้วยว่า การมีเศษกระสุนอยู่ในตัวทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยมาก จนไม่มีนัยสำคัญในเชิงสถิติ
ส่วนสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติก็มีรายงานเรื่อง ผลกระทบจากยูเรเนียมเสื่อมสภาพในเซอร์เบียและมอนเตเนโกร แต่ไม่พบการปนเปื้อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่นักการเมืองเซอร์เบียบางคนโต้แย้งรายนี้นี้ และว่า การปนเปื้อนในเซอร์เบียทำให้มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเพิ่มมากขึ้น
รัสเซียขู่ตอบโต้
ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่า หากสหราชอาณาจักรสั่งกระสุนหัวยูเรเนียมเสื่อมสภาพให้ยูเครน รัสเซียจะมีการตอบสนองที่สอดคล้องกัน แต่เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด และกล่าวหาชาติตะวันตกว่า กำลังใช้อาวุธที่มีองค์ประกอบนิวเคลียร์
ด้านนายเจมส์ เคลเวอลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ตอบโต้ทันทีว่า พวกเขาไม่ได้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ “มันคุ้มค่าที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจว่า แค่เพราะมันมีคำว่า ยูเรเนียม อยู่ในชื่อกระสุนยูเรเนียมเสื่อมสภาพ ไม่ได้หมายความว่ามันคือกระสุนนิวเคลียร์ มันคืออาวุธตามยุทธวิธีอย่างแท้จริง”
ขณะที่นางมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย พยายามออกมาเน้นย้ำอันตรายของอาวุธประเภทนี้ โดยระบุว่า กระสุนยูเรเนียมเสื่อมสภาพไม่เพียงสังหารเป้าหมาย แต่ยังทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อผู้ที่ใช้อาวุธ และพลเรือนที่อาศัยอยู่ในเขตสงครามด้วย
ซาคาโรวาอ้างด้วยว่า การใช้กระสุนยูโรเนียมของนาโตตอบโจมตียูโกสลาเวียเมื่อปี 2542 ทำให้จำนวนผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมาก
บทความโดย ทิตชนม์ สว่างศรี
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 24 มี.ค. 2566
Link :https://www.thairath.co.th/news/foreign/2662415?optimize=b