ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยแก่หน่วยงานของรัฐ กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐรับผิดชอบและจัดให้มีการดำเนินการรักษาความปลอดภัยในหน่วยงานของตนตามข้อกำหนดในระเบียบฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคล การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่มีชั้นความลับของทางราชการ และการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ การดำเนินการเมื่อเกิดเหตุละเมิดการรักษาความปลอดภัย เพื่อหยุดยั้งภัยอันตรายหรือบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินภายในหน่วยงานของรัฐได้
สำนักข่าวกรองแห่งชาติในฐานะองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนมีหน้าที่ให้คำแนะนำ แก่หน่วยงานของรัฐฝ่ายพลเรือนในเรื่องการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ การกํากับ ดูแล ตรวจสอบ แก้ไขข้อบกพร่องเพื่อให้ระบบการรักษาความปลอดภัยนั้นได้ผลสมบูรณ์อยู่เสมอ รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ แนะนำแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในแต่ละด้านตามข้อกำหนดในระเบียบฯ
การเผยแพร่ให้ความรู้ด้านการรักษาความปลอดภัยแก่หน่วยงานของรัฐฝ่ายพลเรือน ถือเป็นภารกิจที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ด้วยภัยคุกคามในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ผู้ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ดังกล่าว ควรต้องมีประสบการณ์โดยตรง สามารถแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดการละเมิดการรักษาความปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว รัดกุม มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสนับสนุนระบบการรักษาความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อหยุดยั้ง ภัยอันตราย หรือบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเจ้าหน้าที่และทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐได้ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขมาตรการรักษาความปลอดภัยให้สามารถรองรับต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ผู้ไม่หวังดีมุ่งทำลายระบบสารสนเทศและเครือข่ายซึ่งมีข้อมูลข่าวสารลับอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บอยู่หรือใช้ประมวลผลของหน่วยงาน
นิยามศัพท์
- การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ หมายความว่า มาตรการและการดําเนินการที่กําหนดขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษาและคุ้มครองป้องกันสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ให้พ้นจากการรั่วไหล การจารกรรม การก่อวินาศกรรม การบ่อนทําลาย การก่อการร้าย การกระทําที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐ และการกระทําอื่นใดที่เป็นการเปิดเผยสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ
- สิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ หมายความว่า ข้อมูลข่าวสาร บริภัณฑ์ ยุทธภัณฑ์ ที่สงวน การรหัส ประมวลลับ และสิ่งอื่นใดบรรดาที่ถือว่าเป็นความลับของทางราชการ
- ข้อมูลข่าวสาร หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ
- การจารกรรม หมายความว่า การกระทําใด ๆ โดยทางลับเพื่อให้ได้ล่วงรู้ หรือได้ไป หรือส่งสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการให้แก่ผู้ไม่มีอํานาจหน้าที่ หรือผู้ที่ไม่มีความจําเป็นต้องทราบ โดยมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าการกระทําดังกล่าวเป็นผลร้ายต่อความมั่นคงแห่งชาติหรือความสงบเรียบร้อยภายใน หรือระบอบการปกครอง หรือเสถียรภาพของรัฐบาล หรือกระทําเพื่อประโยชน์แก่รัฐต่างประเทศ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล
- การก่อวินาศกรรม หมายความว่า การกระทําใด ๆ เพื่อทําลาย ทําความเสียหายต่อทรัพย์สิน วัสดุ ข้อมูลข่าวสาร อาคาร สถานที่ ยุทธปัจจัย ที่สงวน สาธารณูปโภค และสิ่งอํานวยความสะดวก หรือรบกวน ขัดขวาง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หน่วงเหนี่ยวระบบการปฏิบัติงานใด ๆ รวมทั้งการประทุษร้ายต่อบุคคล ซึ่งทําให้เกิดความ ปั่นป่วน หรือความเสียหายทางการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา หรือทางหนึ่งทางใด
- การบ่อนทําลาย หมายความว่า การกระทําใด ๆ ที่มุ่งก่อให้เกิดความแตกแยก ความปั่นป่วน ความกระด้างกระเดื่อง ซึ่งนําไปสู่การก่อความไม่สงบ หรือความอ่อนแอภายในชาติ ในทางการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา หรือทางหนึ่งทางใดซึ่งทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบหรือล้มล้างสถาบันการปกครองของประเทศ หรือเพื่อทําลายความจงรักภักดีของประชาชนต่อสถาบันชาติ หรือเพื่อประโยชน์แก่รัฐต่างประเทศ
- การก่อการร้าย หมายความว่า การกระทําใด ๆ ที่สร้างความปั่นป่วนให้ประชาชนเกิดความ หวาดกลัว หรือเพื่อขู่เข็ญ หรือบีบบังคับรัฐบาล หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทําหรือละเว้น กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินที่สําคัญ
- ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน หมายความว่า วัตถุ อาคาร สถานที่ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณค่าต่อสภาพจิตวิทยาของสังคม ประชาชนมีความศรัทธาและหวงแหน หากสูญหายหรือถูกกระทําให้ได้รับความเสียหาย พัง ทลาย หรือทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและเกียรติยศแล้วจะกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน และอาจ ส่งผลบั่นทอนความสงบเรียบร้อยของประเทศ
- เข้าถึง หมายความว่า การที่บุคคลมีอํานาจหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้ได้ทราบ ครอบครอง ดําเนินการ หรือเก็บรักษาสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ รวมทั้งการที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในที่ซึ่ง น่าจะได้ทราบเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการนั้นด้วย
- รั่วไหล หมายความว่า สิ่งที่เป็นความลับของทางราชการได้ถูกครอบครองหรือได้ทราบ โดยบุคคลผู้ไม่มีอํานาจหน้าที่
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
- พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
- พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562
- พระราชกฤษฎีกากําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทําธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ. 2547
- พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัย ในการทําธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2553
- ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544
- ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552
- ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563
- ระเบียบสำนักข่าวกรองแห่งชาติว่าด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ.2561