หน่วยงานคลังสมองในเครือของรัฐบาลออสเตรเลียระบุในรายงานการวิจัยว่า จีนเป็นผู้นำหน้าใครๆ ในโลกเทคโนโลยีแขนงปัญญาประดิษฐ์ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก โดรน และแบตเตอรี่รถไฟฟ้า ขณะที่สหรัฐฯ ยังครองแชมป์ในแขนงการทำชิป และการประมวลผลของระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง
ประเทศจีนเวลานี้เป็นผู้นำหน้าใครๆ ทั่วโลกในเทคโนโลยีสำคัญๆ ถึง 37 แขนง จากทั้งสิ้น 44 แขนง รวมทั้งทางด้านขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดรน และแบตเตอรี่รถไฟฟ้า ทั้งนี้ ตามรายงานวิจัยของออสเตรเลียที่นำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้
จีนยังเป็นอันดับ 1 ของโลกในพวกเทคโนโลยีกลาโหม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ เมื่อพิจารณาจากแง่ของการทำวิจัยซึ่งมีผลกระทบอย่างสูง สถาบันนโยบายทางยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute หรือ ASPI) ระบุในรายงานฉบับดังกล่าว
ทั้งนี้ ASPI เป็นหน่วยงานคลังสมองด้านกลาโหมและนโยบายทางยุทธศาสตร์ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงแคนเบอร์รา ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลออสเตรเลีย และได้รับเงินทุนจากพวกรัฐบาลต่างประเทศ ตลอดจนพวกบริษัทด้านกลาโหมและเทคโนโลยีด้วย
รายงานฉบับนี้ของ ASPI ระบุอีกว่า จีนยังมีความยอดเยี่ยมในแขนงอื่นๆ เป็นต้นว่า พวกวัสดุระดับนาโน และการผลิตโดยใช้วัสดุเหล่านี้ (nanoscale materials and manufacturing) การเคลือบผิว (coatings) เทคโนโลยี 5จี และ 6จี พลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจนและแอมโมเนีย (hydrogen and ammonia power) ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (super-capacitors) แบตเตอรี่รถไฟฟ้า ชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) และ โฟโตนิกส์ เซ็นเซอร์ส (photonics sensors) พร้อมกับตั้งข้อระแวงว่า จีนอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ประเทศอื่นๆ โดยกลายเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยีเหล่านี้
ASPI กล่าวว่า ผลจากการศึกษาของตนคราวนี้ควรกลายเป็นนาฬิกาปลุกที่ส่งเสียงสนั่นให้ชาติประชาธิปไตยทั้งหลายตื่นขึ้นมา และดำเนินการเพื่อการยกระดับเทคโนโลยีสำคัญยิ่งยวดทางยุทธศาสตร์
“รัฐบาลทั้งหลายทั่วโลกควรทำงานทั้งในลักษณะร่วมมือกันและทั้งในลักษณะต่างคนต่างทำ เพื่อไล่ตามให้ทันจีน” คณะผู้เขียนรายงานชิ้นนี้บอก “ประเทศต่างๆ จักต้องให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลแก่ศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ของโลก ซึ่งก็คือ อินโด-แปซิฟิก”
“ขณะที่จีนกลายเป็นผู้ก้าวนำอยู่ข้างหน้า มันก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายที่จะต้องดำเนินการทบทวนประเมินผลเกี่ยวกับอำนาจแห่งการนำอันเกิดจากศักยภาพในการรวมกำลังของพวกเขา ตลอดจนความเข้มแข็งจากการรวมกำลังกันของภูมิภาคต่างๆ และการจับกลุ่มรวมตัวในรูปแบบต่างๆ” คณะผู้เขียนรายงานกล่าว พร้อมกับเสริมว่า ทั้งสหภาพยุโรป กลุ่มคว็อด (Quad ประกอบด้วยออสเตรเลีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย) และกลุ่มออคัส (AUKUS ประกอบด้วยออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) ควรร่วมมือกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และร่วมกันเพิ่มพูนการลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของพวกตน
สำหรับประเทศซึ่งเป็นผู้นำหน้าของโลกในเทคโนโลยีอีก 7 แขนงที่เหลืออยู่ จากทั้งหมด 44 แขนง ซึ่ง ASPI ทำการศึกษาในรายงานฉบับนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา
โดยที่สหรัฐฯ ยังคงรักษาฐานะนำในแขนงการออกแบบและการพัฒนาพวกเครื่องมือเซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้า การออกแบบและการผลิตแผงวงจรรวมระดับก้าวหน้า ตลอดจนทางด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลของระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (high-performance computing) รวมทั้งยังเป็นผู้นำในเทคโนโลยีด้านที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดอย่างเช่น ควอนตัม คอมพิวติ้ง (quantum computing) วัคซีน และมาตรการตอบโต้ทางการแพทย์ (medical countermeasures)
ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯ ยังสามารถรักษาความได้เปรียบในเรื่องการวิจัยดาวเทียมขนาดเล็ก และเรื่องระบบการปล่อยยานสู่อวกาศ ทว่าจะไม่สามารถบรรลุถึงฐานะการเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยีในด้านเหล่านี้ได้ รายงานฉบับนี้พยากรณ์
เวลาเดียวกันนั้น สถานะความเป็นผู้นำของจีนในแขนงเทคโนโลยีอย่างเช่น เครื่องยนต์อากาศยานรุ่นก้าวหน้า โดรน และพวกหุ่นยนต์ที่ทำงานแบบร่วมมือประสานงานกัน อาจจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อโลกจากความสามารถในการผูกขาดเทคโนโลยีเช่นนี้ในระยะปานกลาง รายงานฉบับนี้เตือน
ในอีกด้านหนึ่ง รายงานฉบับนี้ของ ASPI กล่าวว่า จากการที่จีนสามารถอวดได้ว่าสถาบันวิจัยด้านเครื่องยนต์อากาศยานระดับก้าวหน้า ซึ่งถือว่าดีเยี่ยมที่สุด 10 แห่งของโลก มีอยู่ถึง 7 แห่งตั้งอยู่ในประเทศจีน (สถาบันวิจัยเช่นนี้คือสมรรถนะสำคัญอย่างหนึ่งในการแข่งขันด้านขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่มีความหมายอย่างยิ่งยวดในทางยุทธศาสตร์) จึงทำให้จีนมีมวลวิกฤต (critical mass) ของความเชี่ยวชาญภายในประเทศจำนวนมากเพียงพอสำหรับการฝึกอบรมพวกนักวิทยาศาสตร์ระดับท็อปรุ่นต่อๆ ไป
ภายในแวดวงแขนงเทคโนโลยีเหล่านี้ จีนยังกำลังตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีผลกระทบอย่างสูงเป็นจำนวนมากเป็น 4 เท่าตัวของที่เผยแพร่โดยสหรัฐฯ ขณะที่มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนหลายกระแสอ้างว่า ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ รู้สึกเซอร์ไพรส์กันมาก เมื่อจีนดำเนินการทดสอบขีปนาวุธสามารถติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์ได้ ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงระดับไฮเปอร์โซนิก โดยให้มันโคจรรอบโลกในวงโครจรระดับต่ำ ในเดือนสิงหาคม 2021
รายงานของ ASPI บอกอีกว่า จีนกำลังดึงดูดนักวิจัยระดับผู้เขียนผลงานศึกษาซึ่งสร้างผลกระทบสูงของตน จากพวกประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายได้เป็นจำนวน 21.6% ของผู้เขียนผลงานเหล่านี้ทั้งหมดของจีน โดยมีทั้งที่ได้มาจากสหรัฐฯ (9.8%) สหราชอาณาจักร (7.8%) อียู (2%) และญี่ปุ่น (2%) พร้อมกับแจกแจงว่าผู้มีความรู้ความสามารถเหล่านี้มีทั้งบุคคลสัญชาติจีนซึ่งไปศึกษาและทำงานในต่างประเทศ และทั้งชาวต่างประเทศซึ่งโยกย้ายเข้าไปอยู่ในประเทศจีนเพื่อทำงานตามสถาบันวิจัยและบริษัทต่างๆ
รายงานฉบับนี้ยังเน้นย้ำความได้เปรียบอย่างแข็งแกร่งของจีนในด้านปัญญาประดิษฐ์ โดรน และแบตเตอรี่รถไฟฟ้า
คณะนักวิจัยผู้เขียนรายงานของ ASPI ชิ้นนี้ แสดงความกังวลเรื่องที่ความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้ในการสร้างอาวุธที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยบอกว่า “นวัตกรรมต่างๆ จากการวิจัย และการทะลุทะลวงต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์จะยังคงถูกแปรเปลี่ยนกลายมาเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ในมือของพวกผู้บังคับบัญชาทหารตลอดทั่วโลก โดยเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ประณีตซับซ้อนสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการปรับปรุงยกระดับจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์”
จีน-สหรัฐฯ
“ขณะที่ช่วงห่างด้านสมรรถนะตามที่รับรู้และเข้าใจกันกำลังหดแคบลงเรื่อยๆ ในระยะเวลาหลายๆ ปีและหลายๆ ทศวรรษต่อไปข้างหน้า ค่าใช้จ่ายซึ่งจีนคาดคำนวณว่าจะต้องใช้ในการเข้ายึดไต้หวันด้วยกำลังก็จะลดต่ำลง และความเสี่ยงที่จะเกิดการสู้รบขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจรายใหญ่ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้น” รายงานฉบับนี้กล่าวเพิ่มเติม
ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ลงแรงพยายามอย่างมากมายเพื่อสกัดขัดขวางความได้เปรียบซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นทุกทีของจีนในเทคโนโลยีแขนงปัญญาประดิษฐ์ โดรน และแบตเตอรี่รถไฟฟ้า โดยใช้วิธีการแบบไม้อ่อนผสมผสานกับไม้แข็ง ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชันเอากับพวกบริษัทจีนมากมายหลายหลาก เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว คณะบริหารไบเดนยังแถลงว่าจะเริ่มต้นเดินหน้าแผนการมูลค่า 3,100 ล้านดอลลาร์เพื่อเพื่มพูนยกระดับการผลิตแบตเตอรี่ภายในประเทศ
บริษัทคอมเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี จำกัด (Contemporary Amperex Technology Co หรือ CATL) ของจีน ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ตกลงเห็นชอบเมื่อเดือนที่แล้วที่จะเข้าร่วมกับบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ในการผลิตพวกแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน-พอสเฟต ขึ้นที่รัฐมิชิแกน ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ CATL มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึง 37% ในทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว ติดตามมาด้วยบริษัท แอลจี เอเนอจี โซลูชั่น (LG Energy Solution) ของเกาหลีใต้ที่มี 13.6% ตามข้อมูลของบริษัทวิจัย เอสเอ็นอี รีเสิร์ช (SNE Research)
ขณะที่บริษัท ดีเจไอ เทคโนโลยี (DJI Technology) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของจีน และเป็นผู้ครอบงำตลาดโดรนทั่วโลกด้วยมาร์เกตแชร์มากกว่า 70% ได้ถูกแซงก์ชันจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในปี 2020 และ 2021 ตามลำดับ
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รายงานจากสื่อหลายกระแสระบุว่า วอชิงตันได้เรียกร้องบริษัททีเอสเอ็มซี (TSMC หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) ของไต้หวัน อย่ารับจ้างผลิตพวกชิประดับไฮเอนด์ให้แก่บริษัทบีเรนเทค เทคโนโลยี (Birentech Technology) บริษัทจีนซึ่งเป็นผู้ทำชิปที่ไม่มีโรงงานผลิตของตัวเอง
2 เดือนก่อนหน้านั้น บิเรนเทค เพิ่งเปิดตัวชิป graphics processing unit (graphics processing unit หรือ GPU) อเนกประสงค์ ตัวใหม่ ใช้ชื่อว่า BR100 โดยบริษัทระบุว่า ชิปขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งบิเรนเทคถือเป็นชิปเรือธงของตนในปัจจุบันตัวนี้ สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ 77,000 ล้านตัว และจะทำงานได้รวดเร็วกว่าชิป A100 GPU ของบริษัทอินวิเดีย (Nvidia) ของสหรัฐฯ ในเรื่องการประมวลผลทางปัญญาประดิษฐ์
ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ บอกกับอินวิเดีย ให้ยุติการส่งออกชิป A100 และ H100 ไปให้จีนและรัสเซีย นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังจำกัดการขายชิป MI250 Accelerator AI ของบริษัทเอเอ็มดี (AMD) ไปให้จีน
เวลาเดียวกัน สหรัฐฯ ประกาศห้ามการจัดส่งซอฟต์แวร์ electronic design automation หรือ EDA ไปให้จีนเช่นกัน โดยที่ซอฟต์แวร์ตัวนี้ใช้กันอยู่ในการทำเซมิคอนดักเตอร์ขนาด 3 นาโนเมตร ซึ่งถือว่าล้ำยุคที่สุดในเวลานี้ โดยมีรายงานว่าพวกบริษัทออกแบบชิปของจีนเวลานี้กำลังหันมาโฟกัสที่ชิปขนาด 5 นาโนเมตร และ 7 นาโนเมตร
บทความโดย เจฟฟ์ เปา
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 12 มี.ค. 2566
Link :https://mgronline.com/around/detail/9660000023286