สภาคองเกรสของสหรัฐฯ เพิ่งเสร็จสิ้นการไต่สวนอย่างเคร่งเครียดกับนายโชว ซื่อ ชิว ซีอีโอของติ๊กต๊อก (Tik Tok) แอปพลิเคชันดูวิดีโอยอดนิยม หลังเกิดความระแวงสงสัยเรื่องความปลอดภัยของสื่อสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มนี้ ซึ่งหลายประเทศกังวลว่าติ๊กต๊อกอาจมีสายสัมพันธ์ลับกับรัฐบาลจีน
ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯขู่ว่า หากติ๊กต๊อกไม่ยอมขายกิจการในสหรัฐฯ ให้กับทางการ หรือยังคงยืนกรานจะอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทแม่ที่จีนต่อไป รัฐบาลสหรัฐฯ จะออกคำสั่งแบนติ๊กต๊อก โดยห้ามชาวอเมริกันใช้งานแอปพลิเคชันนี้อย่างเด็ดขาด
ชาติตะวันตกหลายประเทศได้ดำเนินมาตรการสกัดกั้นบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีน โดยนอกจากติ๊กต๊อกแล้วยังมีแอปพลิเคชันและสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีนถูกสั่งแบนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเกรงว่าการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ความลับสำคัญรั่วไหล จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
มีมาตรการอะไรบ้างที่จำกัดการใช้งานติ๊กต๊อก
ติ๊กต๊อกเป็นสื่อสังคมหรือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างและเผยแพร่คลิปวิดีโอสั้น ๆ โดยบริษัทแม่ของติ๊กต๊อกคือ “ไบต์แดนซ์” (ByteDance) บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน
ติ๊กต๊อกเริ่มดำเนินกิจการในปี 2016 และได้กลายมาเป็นหนึ่งในสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมสามอันดับแรกของโลก โดยมีผู้ใช้งานถึงกว่า 1,000 ล้านคนต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ชาติตะวันตกและพันธมิตรหลายประเทศได้เริ่มจำกัดการใช้งานติ๊กต๊อกเมื่อไม่นานมานี้ โดยแคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ไต้หวัน สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ออกคำสั่งให้ลบแอปพลิเคชันดังกล่าวออกจากสมาร์ทโฟนของหน่วยงานและองค์กรภาครัฐ
สำหรับสหภาพยุโรปหรืออียูนั้น นอกจากจะสั่งลบติ๊กต๊อกออกจากสมาร์ทโฟนของทางการแล้ว ยังแนะนำให้บรรดาเจ้าหน้าที่ของชาติสมาชิกอียู ลบติ๊กต๊อกออกจากโทรศัพท์ที่ใช้ส่วนตัวของตนเองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมือถือเครื่องนั้นมีการติดตั้งแอปพลิเคชันของรัฐบาลอยู่
อินเดียสั่งแบนการใช้งานติ๊กต๊อกอย่างสิ้นเชิงทุกรูปแบบ เนื่องจากมีความกังวลในประเด็นความมั่นคง ส่วนอัฟกานิสถานนั้นสั่งแบนการใช้งานติ๊กต๊อกเช่นกัน แต่เป็นเพราะเหตุผลทางวัฒนธรรม โดยรัฐบาลตาลีบันต้องการปกป้องเยาวชน “ไม่ให้ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด”
ทำไมหลายประเทศมองว่าติ๊กต๊อกเป็นภัยคุกคาม
ติ๊กต๊อกเป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งาน เช่น ชื่อ, อายุ, เบอร์โทรศัพท์, อีเมลแอดเดรส, รวมทั้งรูปภาพต่าง ๆ ซึ่งก็ไม่แตกต่างไปจากแอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ อย่างเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นายคริส เรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอชี้ว่า กฎหมายว่าด้วยงานข่าวกรองแห่งชาติปี 2017 ของจีน ได้ระบุให้บริษัทเอกชนต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาล โดยต้องยินยอมทำตามคำสั่งของรัฐทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำตัวเป็นเครื่องมือในการสืบความลับต่าง ๆ
นอกจากนี้ ติ๊กต๊อกยังมีโปรแกรมช่วยแนะนำวิดีโอที่น่าสนใจให้กับผู้ชม โดยโปรแกรมจะคัดเลือกวิดีโอบางส่วนให้อยู่ในหมวดหมู่ที่เรียกว่า For You หรือ “สำหรับคุณ”
“ดูเหมือนว่ามันเป็นอัลกอริทึมที่มีประสิทธิภาพมาก” ศาสตราจารย์ รอสส์ แอนเดอร์สัน จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยเอดินบะระของสหราชอาณาจักรกล่าว “มันมีศักยภาพสูงในการช่วยแผ่ขยายอิทธิพลจีน รวมทั้งเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อจากจีนไปสู่เยาวชนในโลกตะวันตก”
บริษัทเทคโนโลยีของจีนแห่งไหนอีกบ้างตกเป็นเป้าโจมตี
กิจการของจีนที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยี 5G โดยเฉพาะ อย่างเช่นหัวเว่ย (Huawei) ZTE และ Hytera ถูกสั่งห้ามติดตั้งอุปกรณ์ของตนในเครือข่ายสื่อสารของประเทศออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, อินเดีย, แคนาดา, และสหรัฐฯ ส่วนสหราชอาณาจักรนั้นสั่งให้หัวเว่ยรื้อถอนอุปกรณ์ที่ติดตั้งในเครือข่าย 5G ออกไป ก่อนถึงเส้นตายในปี 2027
รัฐบาลสหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ ยังออกมาตรการจำกัดการส่งออกตัวนำกึ่งยิ่งยวด (semiconductor) ไปยังตลาดจีน เนื่องจากเกรงกลัวต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของจีน ที่รุดหน้าแบบก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของโลกตะวันตกได้
นอกจากนี้รัฐบาลออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ยังสั่งให้ถอดกล้องวงจรปิดที่ใช้รักษาความปลอดภัยตามอาคารที่ทำการของรัฐ หรือตามสถานที่ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อภัยคุกคามสูงออกไปเสีย หากกล้องนั้นผลิตในประเทศจีน
มีอะไรอยู่เบื้องหลังคำสั่งแบนเหล่านี้
รัฐบาลของชาติตะวันตกและชาติที่มีความขัดแย้งกับจีนเกรงว่า อุปกรณ์ของบริษัทจีนที่ติดตั้งบนเครือข่ายสื่อสารในต่างประเทศจะมี “ประตูหลัง” หรือช่องทางลับที่แอบส่งข้อมูลกลับไปให้รัฐบาลจีนได้
ส่วนกรณีของกล้องวงจรปิดนั้น จีนมีบริษัท Hikvision ซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้องสำหรับงานรักษาความปลอดภัยรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้หลายประเทศหวั่นเกรงว่ากล้องชนิดนี้จะถูกจีนใช้เป็นเครื่องมือจารกรรมด้วยเช่นกัน
ศ. แอนเดอร์สัน แสดงความเห็นว่า “ทำไมจีนจะไม่ใช้โอกาสนี้ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อสืบความลับล่ะ ในเมื่อชาติตะวันตกก็เคยทำแบบเดียวกันตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่พวกเขามีโอกาสเข้าติดตั้งเครือข่ายโทรศัพท์ทั่วโลก”
เจค มัวร์ ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยระดับโลกของบริษัท ESET ซึ่งเป็นกิจการดูแลความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต บอกกับบีบีซีว่า “แม้เราไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นชัดเจนพอจะพิสูจน์เรื่องการทำจารกรรมของบริษัทจีนได้ แต่ก็หวั่นเกรงกันว่าบริษัทอย่างหัวเว่ยหรือติ๊กตอกจะเติบโตขึ้น จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่สามารถเจาะและรวบรวมข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของชาติ”
“รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทำถูกแล้ว ที่ออกมาตรการมาป้องกันไว้ก่อนเสียแต่ตอนนี้ ดีกว่าจะไปล้อมคอกในภายหลัง” นายมัวร์กล่าว
จีนมองมาตรการสกัดกั้นบริษัทของตนอย่างไร
กระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกการแบนติ๊กต๊อกและกิจการเทคโนโลยีอื่น ๆ ของตนว่า “ละครทางการเมือง” โดยชี้ว่าสหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อประเด็นความมั่นคงอย่างฟูมฟายจนเกินจริง เพื่อยับยั้งและขัดขวางการเติบโตของของบริษัทต่างชาติ
ด้านติ๊กต๊อกยืนยันว่า ไม่ได้รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานมากเกินไปกว่าที่สื่อสังคมออนไลน์เจ้าอื่นทำกัน รวมทั้งเน้นย้ำด้วยว่า ติ๊กต๊อกมีการบริหารงานที่เป็นอิสระจากบริษัทแม่ในจีนและรัฐบาลจีน
เมื่อปีที่แล้วติ๊กต๊อกยอมรับว่า พนักงานของตนที่อยู่ในจีนบางราย สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานในภูมิภาคยุโรปได้ แต่ยืนยันว่ากำลังดำเนินงานเพื่อเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้ใช้เฉพาะในภูมิภาคยุโรปเท่านั้น
ติ๊กต๊อกยังชี้แจงว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานชาวอเมริกันในปัจจุบัน จะถูกนำไปประมวลผลด้วยเซิร์ฟเวอร์ (server) ภายในประเทศของสหรัฐฯ เท่านั้น ทำให้ไม่มีข้อมูลใดหลุดลอดไปยังจีนได้
ติ๊กต๊อกยังเปิดตัวแผนกลยุทธ์ที่ชื่อว่า ProjectClover ซึ่งจะกำหนดวิธีการรวบรวม เก็บรักษา และใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลใหม่ทั้งหมด
บทความโดย BBC News
เครดิตภาพ GETTY IMAGES, PA MEDIA
————————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC News / วันที่เผยแพร่ 25 มี.ค. 2566
Link :https://www.bbc.com/thai/international-65069969