เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาสหรัฐมีคำตัดสินว่า ห้องสมุดออนไลน์ที่ดำเนินการโดย “อินเทอร์เน็ต อาร์ไคฟ์” (ไอเอ) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ละเมิดลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์สหรัฐรายใหญ่ 4 ราย ด้วยการให้ยืมสำเนาหนังสือแบบดิจิทัลที่มาจากการสแกน
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ว่า คำตัดสินของนายจอห์น โคเอลต์ ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางเขตแมนฮัตตัน มีต่อคดีที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการตรวจสอบความสามารถของไอเอ ในการให้ยืมผลงานของนักเขียน และสำนักพิมพ์ที่ยังคงได้รับการคุ้มครอง จากกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไอเอทำการสแกนหนังสือหลายล้านเล่ม และให้ยืมสำเนาในรูปแบบดิจิทัลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งแม้หนังสือหลายเล่มจะเป็นสมบัติสาธารณะ แต่หนังสือราว 3.6 ล้านเล่ม ได้รับการคุ้มครองโดยลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง
สำนักพิมพ์ของสหรัฐ 4 แห่ง ฟ้องร้องไอเอ เกี่ยวกับหนังสือ 127 เล่ม เมื่อปี 2563 หลังจากองค์การขยายการให้ยืมหนังสือในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยยกเลิกการจำกัดจำนวนคนที่สามารถยืมหนังสือเล่มหนึ่งได้ในแต่ละครั้ง
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไอเอกลับไปใช้การบริการที่เรียกว่า “การให้ยืมทางดิจิทัลแบบควบคุม” พร้อมกับกล่าวว่า แนวปฏิบัติขององค์กรได้รับการคุ้มครองโดยหลักเกณฑ์ของ “การใช้งานโดยชอบธรรม” ซึ่งอนุญาตให้ใช้ผลงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นได้ในบางกรณี
อย่างไรก็ตาม โคเอลต์ กล่าวว่า มันไม่มี “การเปลี่ยนแปลง” ใด ๆ เกี่ยวกับสำเนาหนังสือดิจิทัลของไอเอ ที่จะรับประกันการคุ้มครอง “การใช้งานโดยชอบธรรม” และถึงแม้ว่าไอเอจะมีสิทธิให้ยืมหนังสือฉบับพิมพ์ ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่องค์กรไม่มีสิทธิสแกนหนังสือเหล่านั้น และให้ยืมสำเนาดิจิทัลเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ไอเอกล่าวในแถลงการณ์ว่า องค์กรจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ โดยระบุว่าคำตัดสินดังกล่าว ระงับการเข้าถึงข้อมูลในยุคดิจิทัล และทำร้ายผู้อ่านทุกคน ในทุกที่
เครดิตภาพ REUTERS
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 มี.ค. 2566
Link : https://www.dailynews.co.th/news/2144573/