เหตุเสียชีวิตปริศนาเกิดขึ้นที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองกรามาตอสก์ ภูมิภาคดอแนตสก์ ประเทศยูเครน หลังมีผู้อาศัยเสียชีวิตถึง 4 รายโดยไม่ทราบสาเหตุ
เหตุการณ์เกิดขึ้นที่อาคารหมายเลข 7 ห้องพักที่ 85 ซึ่งเปิดให้มีผู้อาศัยครั้งแรกหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1980
ครอบครัวแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่ได้เพียงปีเดียวต้องพบกับความสูญเสีย เมื่อลูกสาววัย 18 ปี เสียชีวิตก่อนวัยอันควรในวัย 18 ปีเมื่อปี ค.ศ. 1981
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1982 น้องชายวัย 16 ปีและผู้เป็นแม่ ก็เสียชีวิตในปีเดียวกันนั้น
ทั้งสามเสียชีวิตจากสาเหตุเดียวกันคือการป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งแพทย์ลงความเห็นในขณะนั้นว่าสาเหตุน่าจะมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
หลายปีต่อมา ครอบครัวที่สองได้ย้ายเข้ามาอยู่ในห้องเดียว และต้องเผชิญกับชะตากรรมไม่แตกต่างกัน เมื่อลูกชายคนโตต้องเสียชีวิตด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวในปี 1987 ส่วนลูกชายคนเล็กต้องล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเช่นเดียวกัน
หลังพบผู้อาศัยล้มป่วยโดยไม่สามารถหาสาเหตุจำนวนมาก บิดาจากครอบครัวผู้สูญเสียและผู้อาศัยในอพาร์ตเมนต์จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความเป็นไปได้ที่ผู้อาศัยอาจล้มป่วยจากการสัมผัสรังสีเกินขนาด
เจ้าหน้าที่จากสถาบันศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ของยูเครน (NASU) ทำการตรวจสอบห้องที่เกิดเหตุในปี ค.ศ. 1989 และพบว่าในห้องนอนของเด็กมีปริมาณรังสีแกมม่าสูงกว่าปกติ ทั้งจากกำแพงและบนเพดาน จึงได้นำชิ้นส่วนของกำแพงกลับไปตรวจสอบยังศูนย์วิจัย
สิ่งที่ทีมงานค้นพบคือ แคปซูลบรรจุสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ถูกฝังอยู่ในคอนกรีตของกำแพง
จากการสอบประวัติพบว่า แคปซูลที่บรรจุสารซีเซียม-137 เคยถูกใช้ในงานขุดเจาะเหมืองในภูมิภาคดอแนตสก์ ช่วงทศวรรษที่ 1970’s
ต่อมาแคปซูลดังกล่าวได้สูญหาย แต่การค้นหาสิ้นสุดลงในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว โดยทีมงานได้นำอุปกรณ์บรรจุซีเซียม-137 ตัวใหม่มาใช้งานแทนชิ้นที่หายไป
ต่อมากรวดและหินในเหมืองดังกล่าว ถูกนำมาสร้างคอนกรีตสำหรับใช้ในโครงการก่อสร้างอพาร์ตเมนต์ในเมืองกรามาตอสก์ ซึ่งแคปซูลซีเซียม-137 ที่สูญหายก็อยู่ในกรวดและหินที่ใช้ในการก่อสร้างนั่นเอง
ตลอดเวลา 10 ปีที่ “ซีเซียม-137” ถูกฝังอยู่ในกำแพงอพาร์ตเมนต์ มีผู้อาศัยสังเวยชีวิตไป 4 ราย และมีผู้ที่เกิดอาการป่วยจากการสัมผัสรังสีจำนวน 17 ราย
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ประเทศยูเครนได้เพิ่มความเข้มงวดด้านการตรวจสอบระดับรังสีในวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างที่อยู่อาศัย รวมถึงการตรวจสอบระดับรังสีในตัวอาคารก่อนการเปิดให้มีผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
บทความโดย สำนักข่าวไทย
————————————————————————————————————————-
ที่มา : สำนักข่าวไทย / วันที่เผยแพร่ 30 มี.ค. 2566
Link :https://tna.mcot.net/sureandshare-1144349