FILE PHOTO: TikTok head office in United States
รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้บริษัทเจ้าของติ๊กตอก (TikTok) แอปพลิเคชั่นวิดีโอยอดนิยมจากจีน ให้ขายหุ้นของติ๊กตอกทิ้ง หากไม่ต้องการถูกสั่งห้ามใช้ในสหรัฐฯ ตามข้อมูลที่ทางบริษัทกล่าวกับรอยเตอร์ในสัปดาห์นี้
ท่าทีของสหรัฐฯ มีขึ้นหลังมีการออกกฎหมายที่อนุญาตให้ทำเนียบขาวสามารถสั่งห้ามใช้ติ๊กตอกหรือเทคโนโลยีต่างชาติอื่น ๆ ได้ หากมีความเสี่ยงว่าอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศ ขณะที่ประเทศและหน่วยงานอื่น ๆ กำลังเล็งแบนติ๊กตอกเช่นกัน
ทั้งนี้ ติ๊กตอกเป็นของบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก โดยหลายประเทศกังวลว่า บริษัทดังกล่าวใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนและเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้ติ๊กตอกไว้ทั่วโลก
รอยเตอร์รวบรวมประเทศและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกคำสั่งห้ามใช้ติ๊กตอกบางส่วนหรือห้ามใช้โดยเด็ดขาด
นิวซีแลนด์
ประเทศล่าสุดที่เพ่งเล็งติ๊กตอก โดยสั่งห้ามใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวในอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายของรัฐสภานิวซีแลนด์ได้ ท่ามกลางความกังวลด้านความมั่นคงทางไซเบอร์
อังกฤษ
เตรียมสั่งแบนติ๊กตอกในโทรศัพท์ราชการทันที และได้ขอให้ศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติให้พิจารณาถึงจุดอ่อนของข้อมูลรัฐบาลต่อแอปดังกล่าว และความเสี่ยงที่ข้อมูลอ่อนไหวอาจถูกเข้าถึงและนำไปใช้ได้
อินเดีย
สั่งแบนติ๊กตอกและแอฟพลิเคชั่นจีนอื่น ๆ ในอุปกรณ์ทุกอย่างเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 โดยอ้างว่า แอปเหล่านี้อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงและบูรณภาพของประเทศ
อัฟกานิสถาน
กำลังหารือเพื่อเตรียมแบนติ๊กตอกและวิดีโอเกมพับจี (PUBG) โดยรัฐบาลตาลิบันอ้างว่า ติ๊กตอกและพับจีทำให้เยาวชนชาวอัฟกัน “หลงผิด”
ปากีสถาน
สั่งแบนติ๊กตอกไปแล้วอย่างน้อยสี่ครั้ง การแบนครั้งล่าสุดนี้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลปากีสถานกล่าวว่า ติ๊กตอกมีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมและไม่เหมาะสม
เบลเยียม
นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ เดอ ครู ของเบลเยียม กล่าวเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ว่า พนักงานราชการของเบลเยียมไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ติ๊กตอกในโทรศัพท์ของที่ทำงานได้
แคนาดา
แคนาดาสั่งแบนติ๊กตอกในอุปกรณ์ของราชการด้วยเหตุผลความเสี่ยงต่อความมั่นคง
ไต้หวัน
สั่งแบนติ๊กตอกและแอปพลิเคชั่นจีนอีกบางส่วนในอุปกรณ์ของรัฐ และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไต้หวันเริ่มสอบสวนติ๊กตอกว่าอาจกระทำการผิดกฎหมายในไต้หวัน
สหรัฐฯ
เมื่อปี 2020 คณะกรรมการด้านการลงทุนต่างชาติในสหรัฐฯ หรือ CIFUS ซึ่งมีอำนาจด้านความมั่นคงแห่งชาติ แนะนำให้บริษัทไบต์แดนซ์ให้ถอนการลงทุนในติ๊กตอก เนื่องจากกังวลว่าข้อมูลผู้ใช้อาจถูกส่งต่อไปยังรัฐบาลจีน
เมื่อต้นเดือนมีนาคม สมาชิกสภาจากทั้งสองพรรคใหญ่ของสหรัฐฯ นำเสนอร่างกฎหมายเพื่อสั่งห้ามใช้ติ๊กตอกในสหรัฐฯ หลังจากเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สภาคองเกรสผ่านกฎหมายแบนติ๊กตอกในอุปกรณ์ของหน่วยงานรัฐบาลมาแล้ว
สถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ
สถาบันการศึกษาบางส่วน เช่น มหาวิทยาลัยบอยซ์ สเตท, มหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา, มหาวิทยาลัยเทกซัส ออสติน และมหาวิทยาลัยเวสท์ เท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ได้สั่งแบนติ๊กตอกในอุปกรณ์ของสถาบันและเครือข่าย Wi-Fi ในมหาวิทยาลัย
รัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ
รัฐต่าง ๆ กว่า 25 รัฐ เช่น รัฐเท็กซัส แมริแลนด์ แอละบามา และยูทาห์ ออกคำสั่งห้ามพนักงานของรัฐใช้ติ๊กตอกในอุปกรณ์ของทางการ
คณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐสภายุโรป
ทั้งสององค์กรออกคำสั่งห้ามใช้ติ๊กตอกในโทรศัพท์ของพนักงานในองค์กร เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางไซเบอร์
ที่มา: รอยเตอร์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : VOA Thai / วันที่เผยแพร่ 18 มี.ค.66
Link : https://www.voathai.com/a/nations-crack-down-on-tiktok/7010307.html