ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกได้สูญเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับแก๊ง “หลอกเชือดหมู” ซึ่งเป็นขบวนการโรมานซ์สแกมที่ต้มตุ๋นให้เหยื่อหลงรัก โดยเริ่มจากการปลอมตัวเป็นคนแปลกหน้าทรงเสน่ห์ที่ส่งข้อความเป็นมิตร สานสัมพันธ์ให้เหยื่อตกหลุมรักก่อนหลอกชวนลงทุนแล้วเชิดเงินหนีไป
เบื้องหลังภาพโปรไฟล์อันหรูหราที่ใช้หลอกล่อเหยื่อคือความจริงอันดำมืดที่ตัว “สแกมเมอร์” หรือนักต้มตุ๋นหลายคนที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ถูกบังคับให้ทำงานหลอกเงินผู้คนจากสถานที่ที่ไม่ต่างจากคุกในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา และไทย
การตรวจสอบของทีมข่าวบีบีซี เวิลด์เซอร์วิส ได้เปิดโปงสภาพชีวิตในสถานที่ทำงานของอาญชากรเหล่านี้ และได้พูดคุยกับอดีตหัวหน้าแก๊งเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการอันแยบยลในการหลอกเอาเงินจากเหยื่อ
*คำเตือน* บทความนี้มีการบรรยายเหตุการณ์ที่รุนแรงซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านบางคนรู้สึกไม่สบายใจ
ตอนที่ “เสี่ยว จุ้ย” (นามสมมุติ) ทำงานเป็นสแกมเมอร์ เขามองว่าเสียงอันแหบลึกของเขาเป็นคุณสมบัติอันโดดเด่นที่สุดในตัว เพราะมันช่วยให้เขาพูดกล่อมเหยื่อให้ทำในสิ่งที่เขาต้องการได้
เขาเรียกเหยื่อเหล่านี้ว่า “หมู” ลับหลังพวกเธอ และเป้าหมายของเขาคือการ “ขุน” แล้ว “เชือด” เหยื่อในท้ายที่สุด ซึ่งหมายถึงการใช้กลวิธีต่าง ๆ เสริมสร้างความสัมพันธ์ให้เหยื่อหลงรัก ก่อนจะหลอกให้ร่วมในการลงทุนสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่มีอยู่จริงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
“กุญแจสำคัญของการหลอกเชือดหมูคืออารมณ์ความรู้สึก” เสี่ยว จุ้ย ชาวจีนวัย 20 ตอนปลายให้สัมภาษณ์กับบีบีซีจากเซฟเฮาส์แห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ
เสี่ยว จุ้ย ดูผ่อนคลายในชุดกุชชีปลอมและรองเท้าแตะ เขาสูบบุหรี่ไปด้วยในระหว่างการให้สัมภาษณ์
ชายหนุ่มผู้นี้เล่าว่า ขบวนการที่เขาเคยทำหลอกลวงเงินจากเหยื่อได้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาถึงขั้นเขียนหนังสือคู่มือสอนเพื่อนร่วมแก๊งถึงวิธีการลวงเหยื่อให้ได้ผล
เขาบอกว่า “ในคู่มือของผม สแกมเมอร์ต้องสร้างเรื่องอกหัก เพื่อปลุก ‘ความรักของแม่’ ในตัวเหยื่อ”
หนึ่งในโปรไฟล์ที่เสี่ยว จุ้ย ชอบใช้คือการสวมบทเป็นผู้บริหารธุรกิจที่ถูกภรรยาเก่านอกใจ ซึ่งเขาบอกว่าช่วยเรียกคะแนนสงสารและความเห็นอกเห็นใจจากเหยื่อผู้หญิงได้อย่างมาก
หลังจากส่งข้อความพูดคุยกัน เสี่ยว จุ้ยจะเริ่มโทรหาเหยื่อเพื่อใช้น้ำเสียงอันทรงเสน่ห์ของเขาสร้างความประทับใจให้เป้าหมาย
“ในวงการของพวกเราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การบำบัดด้วยคำพูด’” เขาอธิบาย
แวดวงนักต้มตุ๋นมีคำเรียกสแกมเมอร์อย่างเสี่ยว จุ้ย ว่า “หมา” พวกเขามักออกล่าเหยื่อทางเว็บไซต์หาคู่ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชันสนทนา
เสี่ยว จุ้ย บรรยายว่า “โปรไฟล์ของพวกเรามักเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ ฐานะดี และช่างห่วงใย” โดยรูปภาพที่ใช้ทั้งหมดเป็นภาพที่ซื้อทางออนไลน์ หรือไม่ก็ขโมยมาจากอินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดีย
เขาเล่าว่า บางครั้งสแกมเมอร์ถึงกับลงทุนใช้ซอฟต์แวร์ดีปเฟก (deep fake) ปลอมแปลงหน้าตาให้เหมือนคนในโปรไฟล์เพื่อพูดคุยทางวิดีโอกับเหยื่อ ทำให้การหลอกลวงยิ่งแนบเนียนขึ้นไปอีก
ในที่สุด การพูดคุยจะขยับไปสู่หัวข้อเรื่องการลงทุนซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล
“คุณสร้างความฝัน” เสี่ยว จุ้ยบอก “ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบุคคลเป้าหมายของผมอยู่ในกรุงปักกิ่ง ผมจะบอกเธอว่าผมอยากย้ายไปอยู่กับเธอในปักกิ่ง แต่อะพาร์ตเมนต์ที่นั่นราคาหลายล้านดอลลาร์ ดังนั้นเราทั้งคู่ต้องทำงานหนักเพื่อหาเงิน”
นี่ฟังเหมือนเรื่องราวที่สแกมเมอร์ใช้หลอก “จอยซ์” (นามสมมุติ) เมื่อเดือน ม.ค. 2022
พนักงานออฟฟิศสาวชาวจีนวัย 36 ปีคิดว่าเธอได้พบคู่รักแสนโรแมนติกทางออนไลน์ ซึ่งบอกเธอว่าเขาอยากย้ายจากเซี่ยงไฮ้ไปใช้ชีวิตคู่กับเธอในปักกิ่ง
จอยซ์เล่าให้บีบีซีฟังว่า “เขาดูเหมือนคนเหงาที่ทำงานหนักในเมืองใหญ่ แบบเดียวกับฉัน”
“ฉันไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะเป็นสแกมเมอร์”
จอยซ์ถูกชักชวนให้โอนเงินเข้าบัญชีลงทุนหนึ่ง จากนั้นก็ถูกหลอกว่าเธอกำลังทำผลกำไรงาม หลังจากเธอใช้เงินเก็บทั้งหมดแล้ว สแกมเมอร์ก็บอกให้เธอกู้เงินเพื่อลงทุนต่อไป แต่เมื่อเธอเริ่มสงสัยและพยายามถอนเงินออกจาก “โครงการลงทุน” ดังกล่าว ก็พบว่าไม่สามารถทำได้
จอยซ์สูญเงินไปกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.4 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินที่เธอกู้ยืมมา
“นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นพ่อร้องไห้ ครอบครัวโทษว่าฉันโง่ ฉันร้องไห้ออกมาเลย” จอยซ์เล่า
ถ้าจอยซ์ไม่สามารถชำระคืนเงินที่กู้มาได้ เธอก็จะติดบัญชีดำใน “ระบบเครดิตทางสังคม” (social credit system) ของจีนที่จะส่งผลกระทบต่อทุกด้านในชีวิต ด้วยเหตุนี้เธอจึงต้องดิ้นรนหารายได้พิเศษ ซึ่งรวมถึงการแสดงฟ้อนรำแบบจีนทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ
การหลอกเชือดหมูมีขึ้นครั้งแรกในปี 2017 โดยมุ่งเป้าไปที่เหยื่อในประเทศจีน ก่อนที่จะขยายวงไปทั่วโลก โดยหาเหยื่อในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ
ทางการจีนได้ปราบปรามขบวนการต้มตุ๋นเหล่านี้ในประเทศตน แต่กลุ่มอาชญากรได้ขยายฐานปฏิบัติการไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และไทย อีกทั้งข้ามไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศจอร์เจีย
ขบวนการของเสี่ยว จุ้ย มีฐานอยู่ในเมืองพระสีหนุ ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลชื่อดังของกัมพูชา และเป็นแหล่งที่มีบ่อนกาสิโนแห่งใหม่ผุดขึ้นมากมาย ซึ่งขบวนการสแกมเมอร์หลายแก๊งใช้เป็นธุรกิจบังหน้าการต้มตุ๋นทางออนไลน์
ที่เมืองพระสีหนุ เสี่ยว จุ้ยเคยดูแลทีมสแกมเมอร์ 40 คน ซึ่งรวมถึงคนที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และถูกบังคับให้ทำงานในขบวนการ
“ผมซื้อและขายผู้คน” เสี่ยว จุ้ย บอก พร้อมเสริมว่าการค้ามนุษย์เป็นเรื่องธรรมดาในธุรกิจมืดนี้
“ตีตี” (นามสมมุติ) คือหนึ่งในผู้ที่ถูกขายให้ทำงานกับขบวนการต้มตุ๋นอีกกลุ่มในเมืองพระสีหนุ
“แก๊งค้ามนุษย์ถึงกับต่อรองค่าตัวผมต่อหน้าผม” เขาเล่า
ตีตีได้ทราบว่าค่าตัวเขาอยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ
อดีตพนักงานอินเทอร์เน็ตคาเฟ วัย 30 ปีผู้นี้เดินทางออกจากจีนเมื่อเดือน ม.ค. 2022 เพราะเชื่อว่าจะได้ทำงานเกี่ยวกับเกมออนไลน์ที่มีรายได้ดี
แต่เขากลับถูกขายไปอยู่ในกลุ่มอาคารกาสิโนแห่งหนึ่งที่ชื่อ “หวง เล่อ” แล้วถูกบังคับให้ทำงานเป็นสแกมเมอร์
ทีมข่าวบีบีซีได้ติดต่อกับตีตีช่วงที่เขาติดอยู่ในกาสิโนดังกล่าว และเขาได้ส่งคลิปวิดีโอบอกเล่าความทุกข์ยากที่ต้องเผชิญ
“พวกเขาบอกว่า ถ้าผมพยายามหลบหนี พวกเขาจะฆ่าผม” ตีตีพูดกระซิบขณะแอบถ่ายวิดีโอในห้องน้ำของอาคารที่เขาพักอยู่
ตีตีเล่าว่าถูกบังคับให้ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง โดยแต่ละวันต้องหาเหยื่อในยุโรปและสหรัฐฯ ให้ได้อย่างน้อย 100 คน ถ้าทำไม่ได้ตามเป้า ก็จะถูกลงโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การช็อตไฟฟ้า และการทุบตี
มีหนุ่มสาวหลายพันคนที่ถูกหลอกให้ทำงานในแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์แบบตีตี อดีตสแกมเมอร์คนหนึ่งเล่าให้บีบีซีฟังว่า เขาถูกลักพาตัวจากท้องถนนแล้วขายให้ขบวนการสแกมเมอร์
แม้แต่เสี่ยว จุ้ยเอง ซึ่งเคยเป็นรองหัวหน้าบริษัทก็ไม่รอดพ้นจากความโหดเหี้ยม เขาถูกซ้อมอย่างหนัก หลังจากเอ่ยขอขึ้นเงินเดือน ก่อนที่จะถูกขายให้กับอีกแก๊ง
เสี่ยวจุ้ยหลบหนีออกมาได้ในที่สุด แต่เขาเสี่ยงถูกฆ่าถ้าเจ้านายเก่าเจอตัวเขา เสี่ยวจุ้ยบอกว่าเขารู้สึกเสียใจกับการกระทำของตัวเอง
“ที่จริงผมเกลียดวงการนี้ ผมได้ยินเสียงร้องอย่างทุกข์ทรมานของผู้ตกเป็นเหยื่อ ตอนนี้ผมแค่อยากใช้ชีวิตปกติ”
หลังจากอยู่ภายใต้การคุมขังของแก๊งสแกมเมอร์ 4 เดือน ตีตีก็ส่งข้อความบอกลาทีมข่าวบีบีซี “ผมทนต่อไปไม่ไหวแล้ว…ผมไม่อยากทำร้ายผู้คนอีก…ลาก่อน”
ตีตีหายไปครึ่งวัน ก่อนที่จะกลับมาพร้อมข้อความที่เปี่ยมด้วยความหวังว่า “ผมหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย”
เขาเล่าว่าฉวยโอกาสในตอนกลางคืน หลบหนีผ่านทางช่องว่างเล็ก ๆ บริเวณที่มีเครื่องปรับอากาศติดตั้งอยู่ แล้วกระโดดออกทางหน้าต่างชั้น 3 ของตึก ก่อนจะวิ่งออกไปขึ้นรถแท็กซีที่ถนนใหญ่หลบหนี
บีบีซีตรวจสอบข้อมูลและสามารถเปิดเผยได้ว่าเจ้าของอาคารหวง เล่อ คือนักธุรกิจชาวกัมพูชาที่ชื่อ กวง ลี
อาณาจักรธุรกิจของนายลี มีทั้งอสังหาริมทรัพย์ กาสิโน โรงแรม และบริษัทก่อสร้าง เขาได้รับพระราชทานคํานําหน้านามว่า “อกญา” (เทียบเท่ากับบรรดาศักดิ์ “พระยา” ของไทย) อีกทั้งมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชาหลายคน
แม้จะมีหลักฐานท่วมท้นเรื่องการทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การทารุณกรรม และขบวนการต้มตุ๋นเกิดขึ้นภายในอาคารหวง เล่อ แต่ก็ยังไม่มีใครถูกจับกุม บีบีซีได้สอบถามไปยังนายลีเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเหล่านี้แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
นอกจากนี้ บีบีซียังติดต่อไปยังตำรวจเมืองพระสีหนุว่าเหตุใดจึงไม่มีการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายที่หวง เล่อ แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับเช่นกัน
ในที่สุด เสี่ยว จุ้ย และตีตี ก็เดินทางกลับจีนได้สำเร็จ แต่ยังมีนักต้มตุ๋นอีกหลายหมื่นคนที่ยังคง “หลอกเชือดหมู” และออกล่า “หมู” รายต่อไป
บทความโดย BBC NEWS ไทย
————————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC NEWS ไทย / วันที่เผยแพร่ 9 มี.ค. 2566
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/crgvgd9eqe7o