เมื่อเจ้าหน้าที่คัดเลือกข้อมูลข่าวสารตามเนื้อหาที่ได้กำหนดและตรงตามประเด็นข่าวสารที่มุ่งเน้น มีความเหมาะสมที่จะนำมาลงบนเว็บไซต์องค์การรักษาความปลอดภัยแล้ว ลำดับต่อมา เจ้าหน้าที่จะพิจารณาและคัดเลือกข้อมูลข่าวสารให้เป็นไปตามคุณลักษณะของข่าวและบทความที่ดี สามารถพิจารณาได้จากคุณสมบัติ ดังนี้
ข่าว หมายถึง เหตุการณ์ที่คนในสังคมกำลังให้ความสนใจ และเผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ เหตุการณ์ที่นำมาเขียนเป็นข่าว จะต้องเป็นเรื่องทันเหตุการณ์ และส่งผลกระทบต่อบุคคลในสังคม
บทความ หมายถึง ข้อเขียนร้อยแก้วที่มุ่งให้สาระความรู้หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้อ่าน เนื้อหาของบทความส่วนใหญ่จะต้องเป็นประเด็นที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ และอยู่ในความสนใจของคนในสังคม
1. การพิจารณาข่าว
หลักการอ่านและพิจารณาข่าว ควรพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
1.1 ความถูกต้อง (accuracy) การรายงานข่าวนั้นต้องมีทั้งความถูกต้องและครบถ้วน ทั้งข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่นำมารายงาน และข้อมูลที่ปรากฏในข่าว ไม่ว่าจะเป็นชื่อ นามสกุล อายุ ที่อยู่ ยศ ตำแหน่ง เป็นต้น รวมไปถึงความครบถ้วนของข้อเท็จจริง การนำเสนอเหตุการณ์ไม่ควรจะนำเสนอเพียง บางประเด็นและละเลยในบางประเด็น จนทำให้ภาพเหตุการณ์ที่ถูกนำเสนอนั้น ไม่สามารถให้ความถูกต้องครบถ้วนของเหตุการณ์จริงทั้งหมดได้
1.2 ความสมดุลและเที่ยงธรรม (balance and fairness) การรายงานข่าวนั้น เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้นำเสนอความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะข่าวที่มีลักษณะของความขัดแย้ง ควรรายงานข่าวเกี่ยวกับคู่ขัดแย้งให้ครบทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้รับสารตัดสินใจได้ว่าสมควรจะให้ความเชื่อถือหรือยอมรับความคิดเห็นของฝ่ายใด และเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นนั้นอย่างรอบด้านและเป็นธรรม โดยไม่เอาความคิดของผู้เขียน เข้าไปชี้นำ จนกระทั่งพื้นที่การนำเสนอข่าวเหลือเพียงเฉพาะเนื้อหาหรือแหล่งข่าวที่มีความเห็นสอดคล้องกับผู้เขียนเองเท่านั้น
1.3 ความเป็นภววิสัยหรือความเป็นกลาง (objectivity) หมายถึง การรายงานข่าวในเฉพาะส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ผู้เขียนต้องไม่เขียนโดยเอาอารมณ์หรืออคติส่วนตัวไปปะปนกับข้อเท็จจริงนั้น แม้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์นั้นก็ตาม
1.4 ความง่าย กะทัดรัด และชัดเจน (simplicity, conciseness and clearness) เนื่องจากข่าวเป็นการรายงานเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน จึงจำเป็นต้องพูดให้เข้าใจง่ายภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนั้น ข่าวเป็นการรายงานข้อเท็จจริงให้กับคนทุกกลุ่มในสังคมได้รับรู้ ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะมีการศึกษาน้อยหรือการศึกษาสูงก็ตาม ดังนั้นจึงต้องนำเสนอให้ง่ายและชัดเจนที่สุด เพื่อจะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจของคนทุกกลุ่ม
1.5 ความทันต่อเหตุการณ์ (recentness) ความรวดเร็วในการนำเสนอเหตุการณ์หลังจากที่เกิดเหตุการณ์นั้นแล้ว เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของข่าว แต่อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูลด้วย
2. การพิจารณาบทความ
2.1 หลักการอ่านและพิจารณาบทความ ควรพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
2.1.1 ข้อเท็จจริง ควรพิจารณารายละเอียดดังนี้
1) ข้อเท็จจริงในบทความ เป็นข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัยและน่าเชื่อถือหรือไม่
2) ผู้เขียนนำข้อมูลมาจากแหล่งใด
3) มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลให้ผู้อ่านสืบค้นต่อไปหรือไม่ และแหล่งข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่
2.1.2 ข้อคิดเห็น ควรพิจารณารายละเอียดดังนี้
1) ข้อคิดเห็นของผู้เขียนสอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่
2) ผู้เขียนเสนอข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์หรือไม่
3) ข้อคิดเห็นของผู้เขียนมีความเป็นไปได้หรือไม่
4) ข้อคิดเห็นของผู้เขียนสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่
2.1.3 กลวิธีนำเสนอ ควรพิจารณารายละเอียดดังนี้
1) ผู้เขียนนำเสนอบทความได้น่าสนใจหรือไม่ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ ของบทความ
2) องค์ประกอบต่าง ๆ ของบทความมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงต่อเนื่องกันหรือไม่
3) การนำเสนอของผู้เขียน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย หรือเกิดความสับสน
4) ผู้เขียนนำเสนอเรื่องด้วยถ้อยคำสำนวนที่เข้าใจง่าย และชัดเจนหรือไม่
2.1.4 ประโยชน์ที่ได้รับ ควรพิจารณารายละเอียดต่อไปนี้
1) ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากการอ่านบทความนี้มากน้อยเพียงใด
2) ข้อคิดหรือทรรศนะของผู้เขียนสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่
3) บทความนี้มีประโยชน์กับบุคคลเฉพาะกลุ่มหรือบุคคล ส่วนใหญ่ในสังคม
2.2 ลักษณะของบทความ บทความ คือ ความเรียงประเภทหนึ่งที่เขียนเพื่อความรู้ ความคิด มีรูปแบบการเขียนคล้ายกับเรียงความ แต่การเขียนบทความจะต้องมีเรื่องราวมาจากข้อเท็จจริงหรือข่าวประจำวัน มีความทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ อยู่ในความสนใจของผู้อ่านและผู้เขียน และจะต้องสอดแทรกข้อเสนอเชิงวิชาการ หรือความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ไว้ด้วย บทความมีลักษณะดังต่อไปนี้
2.2.1 เรื่องที่เขียนต้องเป็นเรื่องที่มีสาระ เป็นเรื่องจริง มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ เมื่ออ่านแล้วจะได้ความรู้หรือความคิดเพิ่มขึ้น
2.2.2 ต้องเสนอเรื่องที่ผู้อ่านส่วนมากกำลังสนใจอยู่ในขณะนั้น ทันต่อเหตุการณ์ หรือเรื่องที่เป็นปัญหา และมีความสำคัญเป็นพิเศษ
2.2.3 ต้องมีส่วนเป็นทัศนะหรือความคิดเห็นของผู้เขียน โดยนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจชวนให้ผู้อ่านคิดตามหรือคิดต่อ
2.2.4 ควรใช้ภาษาให้น่าอ่าน และสร้างความสนใจ
2.2.5 ความยาวของบทความควรสั้น กะทัดรัด เพื่อให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้ในเวลาจำกัด