เอเจนซีส์ – กระทรวงต่างประเทศให้การต่อรัฐสภาสหรัฐฯ วันอังคาร (28 ก.พ.) ยืนยันบริษัทเทคโนโลยีจีน Spacety ส่งภาพถ่ายดาวเทียมช่วยกลุ่มทหารรับจ้างรัสเซีย “วากเนอร์” (Wagner) ในยูเครน ขณะเดียวกัน ปักกิ่งวางแผนต้องการล้มเครือข่ายดาวเทียมสตาร์ลิงค์ของ อีลอน มัสก์ เตรียมการส่งดาวเทียม 13,000 ดวงขึ้นฟ้า
เดลีเอ็กซเพรส สื่ออังกฤษ รายงานวันอังคาร (28 ก.พ.) ว่า แดเนียล คริเตนบริงค์ (Daniel Kritenbrink) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (US Assistant Secretary of State) ด้านเอเชียตะวันออกและกิจการแปซิฟิกให้การต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ ในวันอังคาร (28 ก.พ.) ชี้ว่า เชื่อว่าในเวลานี้กลุ่มทหารรับจ้างรัสเซีย วากเนอร์ (Wagner) ที่กำลังรบอยู่ในยูเครนได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีดาวเทียมจากปักกิ่ง
สื่ออังกฤษรายงานว่า บริษัท Spacety เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรจากการที่บริษัทดาวเทียมจีนแห่งนี้ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในเบลเยียมช่วยเหลือกองกำลังวากเนอร์ ด้วยการป้อนภาพดาวเทียมของยูเครน ให้กลุ่มทหารรับจ้างรัสเซียชื่อดัง
Spacety มีความเชี่ยวชาญในดาวเทียมขนาดเล็กและบริการด้านโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม
แต่อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยสิ้นเชิง และยืนยันว่าทำตามข้อปฏิบัติการคว่ำบาตรนานาชาติต่อรัสเซีย และอีกทั้ง Spacety ไม่มีความสัมพันธ์กับรัสเซียหลังถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร
สื่ออังกฤษชี้ว่า ถือเป็นสิ่งอันตรายมากหากว่ากลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ได้ข่าวกรองภาพดาวเทียม เกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกที่ปักกิ่งจะหันไปช่วยรัสเซียในสงครามยูเครน
ซึ่งในรายงานของบีบีซีก่อนหน้าเมื่อวันที่ 27 ม.ค. พบว่า บริษัท Spacety ของจีนได้ให้ภาพดาวเทียมที่ตั้งต่าง ๆ ภายในยูเครนแก่บริษัทเทคโนโลยีรัสเซีย Terra Tech
“ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกรวบรวมเพื่อช่วยเหลือปฏิบัติการทหารกลุ่มวากเนอร์ในยูเครน” กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ด้านการควบคุมทรัพย์ต่างชาติกล่าวผ่านแถลงการณ์ในเวลานั้น
ทั้งนี้ สองประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจและทางการทหารยังคงแข่งขันอย่างดุเดือด ก่อนหน้ามีรายงานว่าปักกิ่งต้องการโค่นอินเทอร์เน็ตดาวเทียม “สตาร์ลิงค์” ชื่อดังของอีลอน มัสก์ ที่เปิดให้บริการช่วยเหลือทั้งยูเครนและกลุ่มผู้ประท้วงอิหร่านด้วยการวางแผนส่งดาวเทียม 13,000 ดวงขึ้นฟ้า
RT สื่อรัสเซียรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (24) ว่า แหล่งข่าวนักวิทยาศาสตร์จากกองทัพจีน PLA เปิดเผยว่า โครงการภายใต้รหัสลับ GW มีขึ้นเพื่อโค่นล้มระบบสตาร์ลิงค์ของมัสก์ให้หมดประสิทธิภาพ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายใต้โครงการที่จะมีการส่งดาวเทียมร่วม 12,992 ดวง ขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อป้องกัน SpaceX จากการควบคุมทรัพยากรระดับวงโคจรต่ำไว้แต่ผู้เดียว
โปรเจกต์ GW นั้นมีเป้าหมายนอกจากเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังถูกออกแบบเพื่อสอดแนม “เครือข่ายอริ” รวมไปถึงสามารถออกปฏิบัติการต่อต้านสตาร์ลิงค์ของเศรษฐีพันล้านอเมริกัน
ผู้นำทีมนักวิจัยโครงการ GW คือ ศาสตราจารย์ Xu Can จากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศของกองทัพจีน PLA ซึ่งตามการรายงานพบว่า ดาวเทียม 12,992 ดวงจะถูกควบคุมโดย China Satellite Network Group Co
กำหนดการปล่อยดาวเทียมยังไม่เป็นที่ชัดเจนในเวลานี้ แต่ Xu เปิดเผยว่า มีแผนที่จะปล่อยดาวเทียมโครงการรหัส GW นี้ก่อนที่บริษัทสตาร์ลิงค์จะส่งดาวเทียมขึ้นฟ้าครบตามเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้อีลอน มัสก์ ปัจจุบันส่งดาวเทียมราว 3,500 ดวงขึ้นฟ้าและต้องการให้เครือข่ายสตาร์ลิงค์มีดาวเทียมจำนวน 12,000 ดวงให้ได้ภายใน 2027 และตามตัวเลขอาจเพิ่มถึง 42,000 ดวง
ปักกิ่งต้องการที่จะยิงดาวเทียมไปวงโคจรที่ยังว่างที่บริษัทสตาร์ลิงค์ยังไม่ได้ส่งดาวเทียมขึ้นไป XU กล่าวว่า เครือข่ายดาวเทียมจีนจะมีเทคโนโลยีเพื่อสอดแนมดาวเทียมสตาร์ลิงค์ของมัสก์
นอกจากนี้ เขายังเสนอแนะรัฐบาลปักกิ่งให้ริเริ่มจัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อต่อต้านสตาร์ลิงค์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รวมตัวกับหน่วยงานรัฐบาลชาติอื่นๆ และสามารถเรียกร้องให้บริษัท SpaceX เปิดเผยพิกัดที่ตั้งดาวเทียมสตาร์ลิงค์ของตัวเองออกมา
สื้อรัสเซียรายงานว่า บรรดาผู้นำกองทัพจีนวิตกต่อความสามารถเทคโนโลยีสตาร์ลิงค์และเรียกร้องให้ปักกิ่งเร่งพัฒนาเทคโนโลยี “hard kill technology” เพื่อทำลายระบบปฏิบัติการเครือข่ายดาวเทียม
นอกเหนือจากจีนแล้วพบว่า สหภาพยุโรปยังมีแผนที่จะส่งเครือข่ายดาวเทียมของตัวเองสู่ท้องฟ้าเพื่อแข่งกับสตาร์ลิงค์ของสหรัฐฯ
เอ็กซเพรสของอังกฤษ รายงานวันนี้ (1) ว่า รัฐสภายุโรปได้ลงมติเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ด้วยเสียงเกือบเป็นเอกฉันท์ราว 603 เสียง ไฟเขียวแผน IRISS หรือโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคล่องตัวเชื่อมโยงและความมั่นคงด้วยดาวเทียม (Resilience, Interconnection and Security by Satellites)
ตามแผนแล้วพบว่า เครือข่ายดาวเทียมสหภาพยุโรปจะประกอบด้วยดาวเทียมระดับวงโคจรต่ำราว 170 ดวงซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2025-2027 มีเป้าหมายเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วยุโรป และรวมไปถึงทวีปแอฟริกา
โครงการนี้ได้รับเงินอุดหนุนจำนวน 2.4 พันล้านยูโร จากงบประมาณสหภาพยุโรป และอีก 685 ล้านยูโร จากองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) ส่วนที่เหลือจะมาจากภาคเอกชน
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 2 มี.ค. 2566
Link : https://mgronline.com/around/detail/9660000020105